สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2557 (เมษายน - มิถุนายน 2557)(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 9, 2014 14:18 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 2 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทออยู่ในภาวะชะลอตัว ในขณะที่การผลิตเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมเพิ่มขึ้น จากคำสั่งซื้อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตลาดสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัวและตลาดสหภาพยุโรปมีทิศทางฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากในผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชายประเภทเสื้อกีฬาเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน

การผลิตและการจำหน่าย

กลุ่มสิ่งทอ ไตรมาส 2 ปี 2557 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ มีการผลิตลดลง ร้อยละ 3.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับการจำหน่าย ที่ลดลง ร้อยละ 2.85 ตามวัฏจักรของอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่จะปรับตัวลดลงในไตรมาสนี้ เพื่อนำไปผลิตเป็น ผ้าผืนและเครื่องนุ่งห่ม และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ 5.42 ในขณะที่การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 5.47 จากการบริโภคและความต้องการของตลาดภายในที่ลดลง ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมือง และคำสั่งซื้อที่ลดลงจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าหลักเส้นใยสิ่งทอจากไทย

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 2 ปี 2557 การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าถัก) และการจำหน่าย ดัชนีปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ร้อยละ 3.99 และ 1.13 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อที่ลดลงในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลัก ประกอบกับความต้องการบริโภคที่ลดลงภายในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคเสื้อผ้าถักลดลง แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่าย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.00 และ 4.51 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการบริโภคของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่าปีก่อน ส่งผลให้การจำหน่ายขยายตัว สำหรับการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้น เครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าทอ) การผลิต และการจำหน่าย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 4.81 และ 3.90 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ 2.40 แต่การจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.92 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากการส่งออก ในขณะที่การบริโภคในประเทศเริ่มกระเตื้องขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่มากขึ้น ภายหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ไตรมาส 2 ปี 2557 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 1,900.67 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.52 และ 0.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ (ตารางที่ 4) เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอาเซียน ขยายตัว โดยเฉพาะตลาดจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และบังคลาเทศ มีความต้องการผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพื่อนำไปผลิตและส่งออกไปตลาดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่งออกที่สำคัญ ได้แก่

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 1,165.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.78 โดยมูลค่าการส่งออก ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 61.31 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1) ผ้าผืนและด้าย ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 623.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 1.23 ประกอบด้วย ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 392.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ62.98 และด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 230.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 37.02 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยมีประเทศเวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และบังคลาเทศ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

2) เคหะสิ่งทอ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 77.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.46 และ 8.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยมีประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

3) เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 196.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.20 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากฐานการส่งออกที่ต่ำในไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 4.93 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อลดลงค่อนข้างมากจากประเทศอินโดนีเซีย และจีน จากราคาเส้นใยฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียซึ่งเป็นคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า โดยมีประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และอินเดีย เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

4)สิ่งทออื่นๆ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 167.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.90 และ 2.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยมีประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน และอินเดีย เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 735.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.07 และ 3.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.69 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ

1) เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 638.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.73 และ 4.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกขยายตัวในตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอาเซียน ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเสื้อผ้าชุดกีฬาเข้ามาสู่ประเทศไทยจำนวนมาก

การนำเข้า

ไตรมาส 2 ปี 2557 มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นมูลค่า 1,189.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 1.86 โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าที่สำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 1,041.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.81 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 3.41 เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลงทั้งผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึง ร้อยละ 87.53 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1) เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 252.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.32 และ 1.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯ ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย และจีน

2) ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 203.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.83 และ 1.21 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าสำคัญใน ไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ อินโดนีเซีย

3)ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 443.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 1.51 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าผ้าผืนจาก จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

4)ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 95.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 0.36 และ 9.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

2. กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 148.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.91 และ 10.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย กระตุ้นให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและเกิดการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย พิจารณาได้จากมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน เวียดนาม อิตาลี ขยายตัวเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 12.47 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กรณีสหรัฐอเมริกาปรับลดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยลงไปอยู่ใน tier 3 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่ามีสินค้าไทย 5 รายการ ที่ใช้ แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็น 1 ใน 5 สินค้า แม้จะยังไม่มีผลกระทบด้านการค้าของไทยกับสหรัฐอเมริกา แต่อาจมีผลกระทบด้านจิตวิทยาของผู้บริโภคในเรื่องภาพลักษณ์และสินค้าส่งออกจากไทย โดยประเทศที่พัฒนาแล้ว จะให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน ซึ่งคาดว่า อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากคำสั่งซื้อของสหรัฐอเมริกายังไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการแก้ไขและชี้แจงเหตุผลต่อกรณีข้างต้น เพื่อให้ปลดไทยออกจากบัญชีดังกล่าว

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

กลุ่มสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไตรมาส 2 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 3.06 และ 5.42 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศลดลง ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมือง ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในภาคการผลิต ส่วนการส่งออกมีคำสั่งซื้อในกลุ่มสิ่งทอต้นน้ำจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในสินค้าผ้าผืนและด้าย เคหะสิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผักและผ้าลูกไม้ และสิ่งทออื่น ๆ ส่งผลให้ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอยังขยายตัวได้ แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสิ่งทอในภาพรวมลดลงเล็กน้อย

สำหรับการผลิตในครึ่งปีแรกปี 2557 เมื่อเทียบกับครึ่งปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.58 สอดคล้องกับการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.47 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ 3.94 การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 5.13 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศลดลง

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อสำเร็จรูปจากผ้าถัก และเสื้อสำเร็จรูปจากผ้าทอลดลง ร้อยละ 3.99 และ 4.81 ตามลำดับ ตามวัฏจักรของอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่จะปรับตัวลดลงในไตรมาสนี้ ขณะที่มูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส ก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อในตลาดจีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี เพิ่มขึ้นซึ่งส่วนใหญ่ เป็นการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ในตลาดหลักทุกตลาด ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก

สำหรับการผลิตและการจำหน่ายเสื้อผ้าถักในครึ่งปีแรกปี 2557 เมื่อเทียบกับครึ่งปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.08 และ 0.57 และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.16 และ 5.13 ตามลำดับ เช่นเดียวกับการผลิตและการจำหน่ายเสื้อผ้าทอในครึ่งปีแรกปี 2557 เมื่อเทียบกับครึ่งปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.53 และ 2.03 และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.68 และ 6.80 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก

แนวโน้ม

แนวโน้มไตรมาสที่ 3 ปี 2557 คาดว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในไทย คลี่คลายในทางที่ดี ส่งผลดีต่อการขยายตัวของการส่งออกสินค้าของไทย โดยผู้นำเข้าหลายรายเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้นำเข้าบางรายเริ่มมีคำสั่งซื้อกับประเทศคู่แข่ง ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากกลุ่มสินค้าสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม มีการผลิตในหลายประเทศในอาเซียนและคุณภาพผลผลิตใกล้เคียงกับไทย ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีหลัง ยังไม่มีปัจจัยบวก ซึ่งปริมาณการผลิตสินค้าเครื่องนุ่งห่มมีสัดส่วนสำหรับการส่งออกร้อยละ 50 และใช้ในประเทศ ร้อยละ 50 เนื่องจากการบริโภคในประเทศมีสัญญาณของการฟื้นตัวไม่มากนัก ขณะที่ปัจจัยบวกด้านตลาดส่งออกยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร หลังจากส่งมอบเสื้อกีฬาสำหรับใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกเสร็จสิ้นไปแล้ว

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ