สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2557 (เมษายน - มิถุนายน 2557)(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 2, 2014 16:51 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีประมาณ 1,690,529 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 13.69 เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างที่หดตัวทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่ายอดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่และยอดที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่หดตัวลง ร้อยละ 10.1 และ 16.6 ตามลำดับ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของนักลงทุนและผู้บริโภคลดลง สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.17 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.50 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น 23.92 เนื่องจากมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมจากภาครัฐ ได้แก่มาตรการปกป้องชั่วคราวสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน ส่งผลให้การนำเข้าเหล็กชนิดดังกล่าวลดลง และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า การผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.00 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.79 เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.33 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.80

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มีประมาณ 3,347,852 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 10.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 13.37 สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.18 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 5.48 รายละเอียดตามตารางที่ 1

ความต้องการใช้ในประเทศ

ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีจำนวนประมาณ 4,208,309 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 10.80 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการใช้ลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 10.67 เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลง และผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มทรงยาว ลดลง ร้อยละ 11.06 เนื่องจากธุรกิจก่อสร้างที่หดตัวลง จากการที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ความต้องการในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงด้วย

ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มีจำนวนประมาณ 8,308,287 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 14.63 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการใช้ลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 17.12 และผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มทรงยาว ลดลง ร้อยละ 9.56

การนำเข้า- การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีจำนวนประมาณ 63,795 ล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 22.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 34.53 สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 23.52 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อน(HR sheet) ลดลง ร้อยละ 52.36 เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม (Tin free) ลดลง ร้อยละ 41.98 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.87 โดยเหล็กลวด (Wire rod (LC/HC)) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.70 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (HR Section (H/L)) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.76 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการ นำเข้าลดลง ร้อยละ 4.15 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป (Semi-finished products) ลดลง ร้อยละ 19.28 โดยเหล็กแท่งแบน (Slab) ลดลง ร้อยละ 30.68 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.88 โดย เหล็กลวด (Wire rod (LC/HC)) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.32 สำหรับเหล็กทรงแบน มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.09 โดยเหล็กแผ่นหนารีดร้อน (HR plate) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.95 เหล็กแผ่นรีดร้อนกัดกรดและเคลือบน้ำมัน (HR sheet P&O) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.01

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มีจำนวนประมาณ 130,354 ล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 19.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 26.61 สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 21.89 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม (Tin free) ลดลง ร้อยละ 48.95 เหล็กแผ่นรีดร้อน(HR sheet) ลดลง ร้อยละ 46.09 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 4.08 โดยเหล็กเส้น (Bar) ลดลง ร้อยละ 10.38 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (HR Section (H/L)) ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.61 รายละเอียดตามตารางที่ 2

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีจำนวนประมาณ 7,995 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 8.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 5.41 โดยเหล็กเส้น (Bar) ลดลง ร้อยละ 13.34 เหล็กลวด (Wire rod (LC/HC)) ลดลง ร้อยละ 7.69 สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.32 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นหนา(HR plate) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 700.00 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (Galv.Sheet (HDG)) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 105.49 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.01 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.66 โดย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (HR section (H/L)) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.91 สำหรับเหล็กทรงแบน มูลค่าการส่งออกลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.50 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น (CR carbon steel) ลดลงร้อยละ 56.87 เหล็กแผ่นรีดร้อน (HR sheet) ลดลง ร้อยละ 29.32

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มีจำนวนประมาณ 15,989 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 35.84 สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.90 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (Galv.Sheet (HDG)) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 133.33 เหล็กแผ่นหนารีดร้อน (HR plate) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 126.19 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.39 โดยเหล็กเส้น (Bar) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.97 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (HR Section (H/L)) ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.07 รายละเอียดตามตารางที่ 3

2. สรุป

การผลิตเหล็กของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีปริมาณ 1,690,529 เมตริกตัน ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 4,208,309 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 10.80 เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ลดลง ประกอบกับสถานการณ์ทางทางการเมืองส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนน้อยลง สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กในไตรมาสที่ 2ปี 2557 มีมูลค่า 63,795 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 22.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมาก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปและเหล็กแผ่นรีดร้อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกมีประมาณ 7,995 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 8.03 โดยส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป. ลาว อินโดนีเซีย เมียนมาร์

การผลิตเหล็กของไทยในครึ่งแรกของปี 2557 มีปริมาณ 3,347,852 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 10.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 8,308,287 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 14.63 สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กในครึ่งแรกของปี 2557 มีจำนวนประมาณ 130,354 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 19.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 26.61 มูลค่าการส่งออกมีจำนวนประมาณ 15,989 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.83 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุด คือผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 35.84

3.แนวโน้ม

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2557 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้เหล็กจะขยายตัวขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การเมืองเริ่มคลี่คลายและเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ประกอบกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้แก่ โครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาท และโครงการรถไฟรางคู่ ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ