การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน เติบโตเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก และความต้องการของตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง
การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีปริมาณ 1.81 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.05 และ 5.73 ตามลำดับ สำหรับการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มีปริมาณ 3.80 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.06 ซึ่งการผลิตลดลงจากผลกระทบปัญหาทางการเมือง ทำให้ภาคการลงทุน และเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีปริมาณ 1.01 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 2) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.72 และ 5.61 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มี ปริมาณ 2.07 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.05 ทั้งนี้ การจำหน่ายลดลงจากผลกระทบปัญหาทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง ประกอบกับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 830.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ดังตารางที่ 3) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.74 และ 2.47 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มีมูลค่ารวม 1,607.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.69 ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันตลาดใหม่แถบเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย ก็มีความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้น การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 30 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องเรือนไม้
การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 251.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.87 และ 0.74 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มีมูลค่ารวม 495.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.02
2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วย เครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 6 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากในกลุ่มนี้ ได้แก่ เครื่องใช้ทำด้วยไม้ และรูปแกะสลักไม้
การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 51.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.37 และ 2.07 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มีมูลค่ารวม 103.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.05
3) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วย ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และซาอุดิอาระเบีย การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 64 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไม้แปรรูป และไฟเบอร์บอร์ด
การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 527.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.38 และ 3.36 ตามลำดับสำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มีมูลค่ารวม 1,008.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.02
การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ ได้แก่ ไม้แปรรูป ไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ ไม้อัดและไม้วีเนียร์ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน และมาเลเซีย และไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ และมาเลเซีย
การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 148.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 10.16 และ 10.37 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มีมูลค่ารวม 313.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 8.59 ซึ่งการนำเข้าลดลงในทิศทางเดียวกับการผลิตเครื่องเรือนไม้ในประเทศ
สรุปและแนวโน้ม
การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2557 ลดลงเนื่องจาก ผลกระทบปัญหาทางการเมือง ทำให้ภาคการลงทุน และเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง ประกอบกับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง
การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และตลาดใหม่แถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2557 ลดลงตามการผลิตเครื่องเรือนในประเทศ
การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังปัญหาการเมืองในประเทศยุติลง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มให้ความต้องการเครื่องเรือนเพื่อใช้ในการตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้น
การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต้องการของตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2557 มีแนวโน้มการนำเข้าวัตถุดิบไม้ที่ใช้ในการผลิตเครื่องเรือนเพิ่มขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--