สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2557 (เมษายน - มิถุนายน 2557)(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 9, 2014 17:29 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีปริมาณ การผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 46.75 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเข้าสู่ช่วงปลายฤดูกาลหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และหากไม่รวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 8.51 แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตไม่รวมการผลิต น้ำตาล มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.95 เป็นผลจากการผลิตของอุตสาหกรรมน้ำมันพืช ผักผลไม้ และปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่หากรวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.93 ซึ่งมาจากการผลิตเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ที่รองรับการใช้ในประเทศ และคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ผู้นำเข้าซบเซา โดยตลาดสหภาพยุโรปที่มีปัญหาหนี้สาธารณะในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลกับการส่งออกสินค้าอาหารที่มีปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารลดลงร้อยละ 46.75 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตน้ำตาลในช่วงปลายของฤดูหีบอ้อย ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับตัวดีขึ้น (ตารางที่ 1) แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.93 เป็นผลจากการผลิตเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ผักผลไม้ ธัญพืชและแป้ง และน้ำมันพืช ขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2557 การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนร้อยละ 3.29 จากการผลิตเพิ่มขึ้นในหลายกลุ่ม แม้ว่าวัตถุดิบบางอย่างได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าเริ่มดีขึ้น และตลาดในประเทศที่ยังขยายตัวจากการปรับขึ้นค่าแรงงานและเงินเดือน สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 25.52 เมื่อเทียบ กับไตรมาสก่อน เนื่องจากระดับราคาไม่จูงใจให้เกษตรกรผลิต แต่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.04 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณผลผลิตกลับดีขึ้นหลังจากผลกระทบภัยแล้งในปีก่อน ขณะที่ครึ่งปี 2557 การผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.61

กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.88 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.97 เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ต้องมีการพักบ่อเพื่อตัดวงจรโรค ทำให้ผลผลิตมีปริมาณลดลง ขณะที่ครึ่งปี 2557 การผลิตลดลงร้อยละ 12.57 เนื่องจากการผลิตกุ้งจะมีปริมาณลดลง ขณะที่การผลิตปลาทูน่ากระป๋องปรับลดลงเช่นกัน จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง มีการนำเข้าปลาทูน่ามาสต็อกและผลิตลดลง

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.98 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการผลิต แต่เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.30 เนื่องจากการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยจากปัญหาไข้หวัดนกในหลายประเทศ และจากการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น ทดแทนจากจีนที่ประสบปัญหาไข้หวัดนกรอบใหม่ และไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ทำให้การส่งออกครึ่งปี 2557 การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.00

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.52 และ 18.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนราคาส่งออกที่ถูกลงจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และครึ่งปี 2557 การผลิตลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.02 เป็นผลสืบเนื่องจากผลผลิตผักผลไม้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

กลุ่มน้ำตาลทราย ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 76.15 และ 2.67 จากการที่อ้อยได้รับผลกระทบภัยแล้ง ทำให้เกิดความเสียหายไปบ้าง แต่การผลิตช่วงครึ่งปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.89 ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสก่อน

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อนร้อยละ 52.62 เนื่องจากโรงงานบางแห่งปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรในไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.77 และการผลิตช่วงครึ่งปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.66 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์นม การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.22 และ 33.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการผลิตครึ่งปี 2557 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.40 จากการบริโภคที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของการเลี้ยงไก่ ตามความต้องการบริโภคไก่ที่เพิ่มขึ้น หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.30 และการผลิตช่วงครึ่งปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.81 เนื่องจากความต้องการอาหารสัตว์เพื่อเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้นทดแทนกุ้งและสุกรที่ราคาสูงขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ที่แม้ว่าราคาในตลาดโลกจะสูงขึ้นไม่มากนัก

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.01 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้น เมื่อปัจจัยการเมืองที่การชุมนุมทางการเมืองคลี่คลายลง แต่จากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีการปรับขึ้นของราคาสินค้าจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและค่าจ้าง และปัจจัยการผลิต จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงชะลอการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ดีช่วงไตรมาสที่ 2 ภาพรวมปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.65 เนื่องจากมีเทศกาลที่ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น ประกอบกับการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงและเงินเดือน แม้ระดับราคาสินค้าจะได้ปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะในสินค้าปศุสัตว์ ผักผลไม้และผลิตภัณฑ์นมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่การจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศปรับตัวลดลงร้อยละ 18.28 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการลดทำการส่งเสริมการตลาด ทำให้การจำหน่ายเครื่องดื่มอัดลมและชาพร้อมดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมลดลง ส่วนอาหารสัตว์ได้รับผลดีจากการเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยภาพรวมการจำหน่ายในประเทศช่วงครึ่งปี 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.01 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2557 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 225,548.45 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.26 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไก่ และผักผลไม้ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.37 เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักบางแห่งมีสัญญาณที่ฟื้นตัว ขณะที่ครึ่งปีแรก 2557 การส่งออกภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.01 โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มประมง มีมูลค่าการส่งออก 48,250.25 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.95 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการลดลงของปริมาณในเกือบทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลแปรรูปและแช่เย็นแช่แข็ง และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกลดลงร้อยละ 0.23 เนื่องจากคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวลง เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ประกอบกับทูน่ากระป๋องมีความต้องการชะลอตัวส่งผลต่อการส่งออกที่ลดลง นอกจากนี้ปริมาณผลผลิตกุ้งในช่วงครึ่งปีมีปริมาณลดลงจากเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง และส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวมครึ่งปี 2557 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.36

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 33,870.80 ล้านบาท ปรับตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.87 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.65 จากการส่งออกผักสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สด และผลไม้แปรรูปที่ส่งออกลดลงเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 5 โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.95 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรป อย่างไร ก็ดีการส่งออกครึ่งปี 2557 ในภาพรวมของกลุ่มผักผลไม้ สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 26.50 จากการอ่อนค่าของเงินบาท

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 22,589.30 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.34 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 27.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปที่ปรับลดลงเล็กน้อย โดยไก่แช่เย็นแช่แข็งส่งออกเพิ่มขึ้นแต่มูลค่าเพิ่มต่ำกว่า โดยครึ่งปี 2557 การส่งออกภาพรวมของกลุ่มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 14.53

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 75,046.27 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.22 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการการตรวจสอบสต็อกข้าวในโครงการรับจำนำ จึงชะลอการการระบายส่งออกข้าว ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปรับตัวลดลงจาก ไตรมาสก่อนร้อยละ 38.60 เป็นผลจากระดับราคาในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าได้รับผลกระทบจากการซบเซาของเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป และจีน หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.14 เป็นผลจากการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และการส่งออกภาพรวมของกลุ่มในรอบครึ่งปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 23.04 จากการได้อานิสงค์จากประเทศอินเดียประสบภัยแล้งมีข้าวออกสู่ตลาดลดลง

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 26,285.62 ล้านบาท ปรับตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.97 จากไตรมาสก่อน ที่มาจากการส่งออกน้ำตาลในช่วงฤดูกาลเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากราคาในตลาดโลกชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับการที่ประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดีย และบราซิล กลับมาส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าส่งออกของไทยลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.25 ซึ่งทำให้การส่งออกน้ำตาลในรอบครึ่งปี 2557 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 22.69

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 19,506.21 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.43 และ 16.75 ตามลำดับ โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทสิ่งปรุงรสอาหาร หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม และนมและผลิตภัณฑ์นม และภาพรวมการส่งออกของกลุ่มในรอบครึ่งปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.18

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2557 การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่ารวม 90,646.69 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.92 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 4) โดยเป็นการนำเข้าปลา ทูน่าแช่เย็นแช่แข็งลดลง และกากพืชน้ำมัน ลดลงร้อยละ 20.26 และ 17.34 เป็นผลจากระดับ ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมลดลงร้อยละ 3.92 โดยเป็นการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น กากพืชน้ำมัน และปลาทูน่าแช่แข็งลดลง เป็นการนำเข้าที่ลดลงจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงต้นไตรมาส และการนำเข้าในภาพรวมครึ่งปี 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.91

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ปี 2557 อยู่ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลรักษาการไม่สามารถอนุมัติโครงการหรือมาตรการที่ใช้งบประมาณเพิ่มเติมจากงบประมาณ ปกติได้ มาตรการและนโยบายในช่วงไตรมาสนี้จึงเป็นลักษณะรับทราบรายงานการติดตามการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในสินค้าที่ต้องนำเข้าและมีนโยบายและมาตรการควบคุมการนำเข้า เช่น นม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และวัตถุดิบ ที่ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมสินค้านั้นๆ ซึ่งหากการขออนุมัติในแต่ละปี ไม่เปลี่ยนไปจากมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านๆ มา ให้อนุโลมใช้นโยบายและมาตรการนำเข้าตามข้อผูกพันของกรอบการเจรจาการค้าที่ได้ตกลงไว้ไปพลางก่อน หากมีความจำเป็น ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ส่วนในช่วงหลังของไตรมาสที่ 2 ภายหลังรัฐบาลได้ถูกรัฐประหารจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีเพียงนโยบายการชดเชยรายได้จากการรับจำนำข้าวให้กับเกษตรกร และตรวจสอบความเสียหายจากโครงการรับจำนำที่ผ่านมา

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวม อยู่ในช่วงปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน หากไม่นับรวมการผลิตน้ำตาลที่เป็นช่วงปลายฤดูการหีบอ้อยที่ส่งผลให้การผลิตชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่รวมการผลิตน้ำตาลแล้ว พบว่า การผลิตในภาพรวมหดตัวลง ตามปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับชะลอตัวตามฤดูกาลหลังเทศกาล ส่วนการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงตามค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งเกิดจากการยกเลิกการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและบางส่วนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักยังซบเซา นอกจากนี้สินค้าน้ำตาลทราย แม้ว่าสต็อกที่คาดการณ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผลจากที่ประเทศอินเดีย และบราซิล มีผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้น และคาดว่าจะส่งออกน้ำตาลได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ชะลอตัวลง ส่วนการผลิตของไทยคาดว่าจะได้รับกระทบจากภัยแล้งทำให้คุณภาพอ้อยเข้าหีบแย่ลง สำหรับสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ สินค้าไก่แปรรูป ปริมาณความต้องการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากกรณีไข้หวัดนกของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ส่งผลต่อการส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งของไทยเพิ่มขึ้น แต่อาจไม่เป็นผลดีนักจากการส่งออกไก่สดที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าไก่แปรรูป ซึ่งจะทำให้ราคาและรายได้ของผู้ประกอบการลดลง สำหรับสินค้ามันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลจากการนำเข้าจากจีนปรับตัวดีขึ้น

แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 คาดว่า จะชะลอตัวลงตามฤดูกาลการผลิตที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโรคระบาด โดยเฉพาะกุ้งที่ปริมาณวัตถุดิบเสียหายจากโรคตายด่วนในลูกกุ้ง และผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ แม้ว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่ และสหรัฐอเมริกาลดการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 ประกอบกับข่าวความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียได้ลามไปยังสหภาพยุโรป และสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา ทำให้สภาพเศรษฐกิจของโลกยังคงตึงตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้การจำหน่ายในประเทศที่ได้รับผลดีจากการปรับค่าแรงและเงินเดือนส่งผลให้การบริโภคในประเทศยังคงมีการขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง และเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จีนและญี่ปุ่นยังขยายตัว ประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังคงผันผวน ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกที่คาดว่าจะปรับชะลอตัวลง และจากค่าเงินบาทที่มักจะแข็งค่ารุนแรงกว่าเงินสกุลอื่น ซึ่งเป็นผลจากการเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้การผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับชะลอตัวลงได้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ