ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ระดับ 169.02 ลดลงร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ Hard Disk Drive เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับเพชรพลอย เครื่องปรับอากาศ สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.5 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวร้อยละ 3.5 เช่นกัน
การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1 หรือ MPI เดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ระดับ 169.02 ลดลงร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ Hard Disk Drive เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับเพชรพลอย เครื่องปรับอากาศ
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต2 เดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 60.61 จากร้อยละ 61.56 ในเดือนพฤษภาคม 2557 และร้อยละ 64.93 ในเดือนมิถุนายน 2556
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมิถุนายน 2557 ปรับลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.5 กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 19.2 และ 3.2 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในกุ้งเป็นสำคัญ ส่วนปลาทูน่าแม้ว่าราคาจะปรับลดลง แต่ความต้องการของต่างประเทศยังปรับลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า ส่วนกลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าขนหนูและเครื่องนอน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 14.0 และ 1.9 ตามลำดับ เนื่องจากประเทศในกลุ่มอาเซียนมีคำสั่งซื้อลดลง สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ ได้แก่ ผ้าผืน และสิ่งทออื่น ๆ (ยางยืด) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.0 และ 7.2 ซึ่งเป็นผลจากคำสั่งซื้อของตลาดภายในประเทศ โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ผ้าผืน
ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถัก เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ความต้องการเพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป สำหรับการผลิตเสื้อผ้าทอลดลง ร้อยละ 8.7 เนื่องจากมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่นจากประเทศจีน
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2557 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.32 โดยเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.37 เหล็กทรงยาวลดลง ร้อยละ 4.67 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนมิถุนายน 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก Billet เหล็กเส้น เหล็กแท่งแบน และผลิตภัณฑ์ที่มีดัชนีราคาเหล็กทรงตัว คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน
อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 160,452 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งมีการผลิต 217,123 คัน ร้อยละ 26.10 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2557 ร้อยละ 8.41 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ สำหรับการส่งออก มีจำนวน 103,946 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งมีการส่งออก 97,534 คัน ร้อยละ 6.57 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิต ลดลงร้อยละ 1.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 8.73 โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ พัดลม ตู้เย็น และสายไฟฟ้า ยกเว้น กระติกน้ำร้อน และหม้อหุงข้าวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเครื่องรับโทรทัศน์ เนื่องจากมีการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อรองรับกับระบบดิจิตอล
สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 0.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจาก HDD ลดลงร้อยละ 4.11 ขณะที่ Semiconductor Monolithic IC และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.02 24.34 และ 16.22 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ เช่น Bluetooth หน้าจอ Touch Screen และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--