สศอ. เผยทางออกปัญหาอุตฯ เครื่องแต่งกายไทย เสนอการขยายฐานการผลิตไปประเทศเมียนมาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 14, 2014 15:35 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยทางออกการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุน การผลิตที่สูงขึ้นของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายไทย โดยมุ่งขยายฐานการผลิตไปประเทศเมียนมาร์ เนื่องด้วย มีจำนวนแรงงานมาก อัตราการจ้างงานราคาถูก พร้อมทั้งมีตลาดขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรม เครื่องแต่งกายของไทยเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีจำนวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมากถึง 73,503 โรงงาน มีจำนวนการจ้างงานรวม 796,000 คน เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศเฉลี่ยสูงถึง 8 หมื่นล้านบาทต่อปี และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศสูงถึง 79,554 ล้านบาท แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายไทยกลับต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งได้รับผลมาจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทยที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่อัตราการว่างงานของประเทศอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 0.6 - 0.8 มาหลายปีติดต่อกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายเป็นอย่างมาก ดังเห็นได้จากจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องทุกปี ประกอบกับหลังจากวันที่ 1 เมษายน 2555 และวันที่ 1 มกราคม 2556 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายของไทยยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 ต่อวัน จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตให้เพิ่มสูงขึ้นมาก จากการศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 ต่อวัน ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่า อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายได้รับผลกระทบต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 7.7 ของต้นทุนการผลิต โดยมีจังหวัดที่มีอัตราการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุดคือจังหวัดพะเยา ที่มีค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มถึง ร้อยละ 88.7 และต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการคงอยู่และความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ดังนั้น ทางออกที่สำคัญประการหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นคือ การขยายฐานการผลิตไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ ซึ่งกำลังเริ่มเปิดประเทศ มีแรงงานจำนวนมาก มีค่าแรงราคาถูก แรงงานพม่ามีทักษะในงานใกล้เคียงกับแรงงานไทย พรมแดนพม่าติดกับไทยหลายจุด จึงทำให้เหมาะแก่การขนส่งวัตถุดิบต้นน้ำและกลางน้ำที่ไทยมีพร้อมเข้าไปผลิตในเมียนมาร์ และที่สำคัญเมียนมาร์เป็นตลาดใหม่ขนาดใหญ่ที่มีโอกาสเติบโตสูง

ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า จากการศึกษาโอกาสและอุปสรรคการขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายไทยไปประเทศเมียนมาร์ พบว่า โอกาสที่สามารถเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในเมียนมาร์มีอยู่หลายประการ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศเมียนมาร์มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวเมียนมาร์มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ประเทศเมียนมาร์มีประชากรมากถึง 65.0 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่

มีกำลังแรงงานเท่ากับ 31.8 ล้านคน มีอัตราว่างงานร้อยละ 4 ต่อปี ทำให้มีแรงงานมากเพียงพอในการเข้าไปใช้ประโยชน์ ด้านการลงทุนประเทศเมียนมาร์มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าเงินลงทุน

จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ เรื่องพรมแดนที่ติดกับไทย ทำให้สะดวกต่อการขนส่งวัตถุดิบในต้นทุนที่ถูก เอื้อต่อการขนส่งวัตถุดิบต้นน้ำและกลางน้ำจากไทย เนื่องจากประเทศไทยมีอุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงสินค้าของไทยเป็นที่ยอมรับ และรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ส่วนด้านอุปสรรคพบว่ายังมีในเรื่องอัตราภาษีเงินได้จากต่างประเทศที่อยู่ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง เรื่องการทำงานที่ยังขาดการบูรณาการของรัฐเนื่องจากยังไม่มีหน่วยที่รับผิดชอบการไปลงทุนในต่างประเทศโดยตรงที่สามารถให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน โดยปัจจุบันภาระหน้าที่นี้อาศัยการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ สถานทูต อีกทั้งแรงงานเมียนมาร์ยังขาดความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย เช่น ทักษะการตัดเย็บ การออกแบบ การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายฐานการผลิตเข้าไปในเมียนมาร์ให้ประสบความสำเร็จและดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นนั้น ต้องทำการศึกษาในอีกหลายด้าน ทั้งเรื่องวัฒนธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ในการเข้าไปลงทุนหรือทำธุรกิจในเมียนมาร์ เนื่องจากเมียนมาร์เพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน อาจมีข้อกฎหมาย กฎระเบียบที่ยังไม่นิ่งและมีการปรับเปลี่ยนค่อนข้างบ่อย ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมและศึกษาข้อมูลดังกล่าวไว้ เพื่อจะได้ดำเนินธุรกิจการลงทุนได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จต่อไป และเสื้อผ้าถือเป็นปัจจัย 4 ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องใช้ เราจึงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ