สศอ. ชี้ทางรอดอุตฯ ไทย แนะปรับตัวสู่อุตฯ ระดับสูง พร้อมจับมือกลุ่มประเทศ CLMV หลังเข้าสู่ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 24, 2014 12:52 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ทางรอดอุตสาหกรรมไทยหลังเปิด AEC เน้นปรับตัวมุ่งอุตสาหกรรมระดับสูง เชื่อมโยงตลาดและฐานการผลิต สร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ CLMV และพัฒนา-วิจัยนวัตกรรม

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยในงานสัมมนา เรื่อง “อยู่หรือไป? อนาคตอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ซึ่งจัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงในอนาคตจะเป็นทั้งตลาดและฐานการผลิตที่สำคัญของหลายอุตสาหกรรม และมีแนวโน้ม การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยจะเติบโต ได้อีกมาก โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายรายทั้งไทยและต่างชาติประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดและขยายฐานการผลิตในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม หรือที่เรียกกันว่า กลุ่มประเทศ CLMV ก่อนหน้าการเริ่มต้นเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC อย่างเป็นทางการในปีหน้า ซึ่งการเชื่อมโยงตลาดและฐานการผลิตในอาเซียนเป็นสิ่งจำเป็นแต่ที่ผ่านมาการปรับปรุงกฎระเบียบและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังตามไม่ทัน ภาครัฐจึงควรเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้เอกชนไทยเสียโอกาสและความสามารถ ในการแข่งขัน สิ่งที่ภาคเอกชนอยากให้เกิดขึ้น เช่น การเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออกทั้งหมดเข้าด้วยกันภายใต้ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวหรือ National Single Window ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใส ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับภาคเอกชนได้มาก

นอกจากนี้ ในการสัมมนายังได้มีการประเมินอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยยังจะเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนต่อไป เนื่องจากมีความได้เปรียบจากการมีคลัสเตอร์ที่เข้มแข็งทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย อยู่ในระดับต่ำ แต่จะต้องแข่งขันกับอินโดนีเซียมากขึ้น และนักลงทุนญี่ปุ่นเริ่มใช้ยุทธศาสตร์ขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตไม่สูง แต่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นไปกลุ่มประเทศ CLMV แล้วให้ไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกับฐานการผลิตใหม่เหล่านี้ เอกชนไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ในการขยับขึ้นเป็นผู้บริหารจัดการเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค ไปวางระบบการผลิตและสอนงานพนักงานในประเทศเหล่านี้โดยใช้ฐานความรู้ความเชี่ยวชาญของตัวเองที่สั่งสมมานาน ควบคู่ไปกับการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ดร.สมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า มีเอกชนไทยกลุ่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของตนในการบริหารจัดการเครือข่ายการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ความท้าทายต่อไปของเอกชนกลุ่มนี้คือ การขยับไปเป็นผู้ที่สามารถยื่นข้อเสนอแก่ผู้ว่าจ้างเกี่ยวกับการเลือกใช้วัตถุดิบ การกำหนด สเปกต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรม

ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก ในขณะที่เอกชนกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่นสตรีควรเน้นเจาะตลาดอาเซียนมากขึ้นและพยายามถอดแบบเสื้อผ้าของแบรนด์ชื่อดังให้เร็วขึ้นเพื่อโอกาสทางธุรกิจส่วนเอกชนกลุ่มสิ่งทอจะต้อง เน้นวิจัยพัฒนาด้านวัสดุศาสตร์ให้ลงลึกไปถึงระดับเส้นใย

อย่างไรก็ตาม ทางรอดของอุตสาหกรรมไทยเมื่อเข้าสู่ AEC ยังต้องปรับบทบาทในสภาพแวดล้อมใหม่ โดยการมองตลาดและฐานการผลิตในระดับภูมิภาค ขยับจากการเป็นผู้ผลิตอย่างเดียวเป็นผู้บริหารจัดการเครือข่าย การผลิตในภูมิภาค และเน้นการพัฒนาจากการเลียนแบบให้เร็ว แล้วทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเองเมื่อพร้อม

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ