รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 6, 2014 14:02 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนสิงหาคม 2557
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2557 เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2557 ร้อยละ 2.6 แต่ลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ เครื่องประดับเพชรพลอย น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนสิงหาคม 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 60.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60.1 ในเดือนกรกฎาคม 2557

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนกันยายน 2557

อุตสาหกรรมอาหาร

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง และค่าเงินบาทที่ทรงตัวในระดับเดียวกันกับเดือนก่อน ประกอบกับข่าวการประกาศไม่ระงับการค้าของสหรัฐอเมริกากรณีที่ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษในเรื่องการค้ามนุษย์ ทำให้การตึงตัวของการส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง

การจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นและประชาชนกลับมาจับจ่ายเพิ่มขึ้นจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นการจำหน่ายสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาดเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกันยายน 2557 ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.32 จากกลุ่ม IC ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น และ HDD เริ่มกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้นหลังจากมีการย้ายคำสั่งซื้อไปฐานการผลิตที่อื่นแทน ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในไทย

อุตสาหกรรมไฟฟ้า คาดว่าจะลดลงร้อยละ 3.81 เนื่องจากมีสัญญาณการชะลอตัวจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป อาเซียน และตะวันออกกลาง

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ก.ค. 57 = 165.0

ส.ค. 57 = 169.2

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • เสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ก.ค. 57 = 60.1

ส.ค. 57 = 60.3

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลัง การผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • Hard Disk Drive
  • ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนสิงหาคม 2557 มีค่า 169.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2557 (165.0) ร้อยละ 2.6 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนสิงหาคม 2556 (173.9) ร้อยละ 2.7

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2557 ได้แก่ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องประดับเพชรพลอย น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
อัตราการใช้กำลังการผลิต

ในเดือนสิงหาคม 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 60.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2557 (ร้อยละ 60.1) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนสิงหาคม 2556 (ร้อยละ 63.5)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2557 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง เม็ดพลาสติก เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2557

ภาวะการประกอบกิจการ ของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2557 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 329 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อย

กว่าเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 447 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 26.4 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 20,306 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งมีการลงทุน 44,244 ล้านบาท ร้อยละ 54.1 แต่มีการจ้างงานจำนวน 11,689 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 10,794 คน ร้อยละ 8.29

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 425 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 22.59 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีการลงทุน 32,980 ล้านบาท ร้อยละ 38.43 และมีการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 14,194 คน ร้อยละ 17.65

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมขุดตักดินลูกรัง สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 43 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งภายในอาคารจากไม้ จำนวน 30 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ จำนวนเงินทุน 10,114.62 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำและห้องเย็นเก็บผลิตภัณฑ์ จำนวนเงินทุน 850.94 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำและห้องเย็นเก็บผลิตภัณฑ์จำนวนคนงาน 2,391 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ จำนวนคนงาน 1,469 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2557 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 99 ราย น้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 113 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.39 มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 1,940 คน น้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 5,738 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,323 ล้านบาท มากกว่าเดือนกรกฎาคม 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,279 ล้านบาท

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 93 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 6.45 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2556 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,662 ล้านบาท มีการเลิกจ้างน้อยกว่าเดือนสิงหาคม 2556 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 3,530 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งภายในอาคารจากไม้ จำนวน 21 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ทำวงกบ ขอบประตู ขอบหน้าต่าง บานประตู บานหน้าต่างจำนวน 10 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ เงินทุน 571.10 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบเงินทุน 174.09 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมถักผ้า ผ้าลูกไม้ เครื่องนุ่งห่มด้วยด้ายหรือเส้นใยจำนวนคนงาน 295 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ จำนวนคนงาน 246 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม - สิงหาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.ทั้งสิ้น 886 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,225 โครงการ ร้อยละ 27.67 และมีเงินลงทุน 416,500 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 673,900 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38.20

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - สิงหาคม 2557
การร่วมทุน                        จำนวน            มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)

(โครงการ)

1.โครงการคนไทย                  100%                319 117,300
2.โครงการต่างชาติ                 100%                354 174,200
3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ       213                    125,000
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม - สิงหาคม 2557 คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 190,700 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 108,000 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารเดือนกันยายน คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจดีขึ้น และมีการจัดกิจกรรมกระตุ้นการจำหน่ายสินค้าราคาถูกทำให้ประชาชนกลับมาจับจ่ายเพิ่มขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนสิงหาคม 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.5 และจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.0 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น สับปะรดกระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 76.1 และ 5.2 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเป็นสำคัญ ส่วนสินค้าที่ผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ แป้งมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 จากคำสั่งซื้อจากประเทศจีนเป็นหลัก

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 และปรับลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 6.4 เนื่องจากสต็อกยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 231.5 เป็นผลจากราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกปรับตัวลดลง สำหรับอาหารไก่ การผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.9

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนสิงหาคม 2557 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.9 และปรับลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.1 เป็นผลจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคดีขึ้น แต่กำลังซื้อของประชาชนที่ยังประสบปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การกระตุ้นยอดจำหน่ายยังไม่มากนัก

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนสิงหาคม 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.7 และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 6.3 จากการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลแม้จะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน แต่จากปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับตัวตัวดีขึ้นหลัง สต๊อกน้ำตาลคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ราคาในตลาดโลกยังชะลอตัว

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง และค่าเงินบาทที่ทรงตัวในระดับเดียวกันกับเดือนก่อน ประกอบกับข่าวการประกาศไม่ระงับการค้าของสหรัฐอเมริกากรณีที่ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษในเรื่องการค้ามนุษย์ ทำให้การตึงตัวของการส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นและประชาชนกลับมาจับจ่ายเพิ่มขึ้นจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นการจำหน่ายสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาดเพิ่มขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คาดว่า จะหดตัวจากผลิตภัณฑ์เส้นใยสังเคราะห์ เนื่องจากมาตรการทุ่มตลาดสินค้าเส้นใยในอินโดนีเซีย ประกอบกับเวียดนามมีการพัฒนาการผลิตกลุ่มต้นน้ำและกลางน้ำ

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ อยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน ลดลง ร้อยละ 0.4 และ 7.3 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าขนหนูและเครื่องนอน และสิ่งทออื่นๆ ลดลง ร้อยละ 9.9 5.3 และ 5.8 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงทั้งในและต่างประเทศ

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.8 เป็นการเพิ่มขึ้นของเสื้อผ้าทอ ร้อยละ 5.2 ในขณะที่เสื้อผ้าถักลดลง ร้อยละ 7.6 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 0.5 เป็นการลดลงของเสื้อผ้าทอ ร้อยละ 1.4 จากการที่มีบางโรงงานได้ปิดงานเพื่อเช็คสต๊อกสินค้า จึงไม่ได้ทำการผลิตเพิ่ม และมีลูกค้าบางรายได้ย้ายคำสั่งซื้อไปยังประเทศอื่นที่มีค่าแรงและต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า ในขณะที่เสื้อผ้าถักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.6 ส่วนใหญ่เป็นผลจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น และอาเซียน

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มีการจำหน่ายลดลง ยกเว้นเสื้อผ้าทอที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชาย

การส่งออก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ในผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 3.1 5.6 และ 13.3 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มูลค่าโดยรวมลดลง ร้อยละ 6.0 ในผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 4.7 16.0 และ 7.9 ตามลำดับ โดยเฉพาะในตลาดหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอาเซียน มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 5.0 9.9 และ 8.7 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะกระเตื้องขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คาดว่า จะหดตัวจากผลิตภัณฑ์เส้นใยสังเคราะห์ เนื่องจากมาตรการทุ่มตลาดสินค้าเส้นใยในอินโดนีเซีย ประกอบกับเวียดนามมีการพัฒนาการผลิตกลุ่มต้นน้ำและกลางน้ำ อาจส่งผลให้ความต้องการในกลุ่มสิ่งทอ โดยเฉพาะเส้นใยและผ้าผืนจากไทยลดลง สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และชุดกีฬา จะขยายตัวได้ จากผู้บริโภคและผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ของประเทศไทย และมีการส่งเสริมการขายจากภาครัฐและเอกชน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น อาจส่งผลต่อคำสั่งซื้อที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของเดือนสิงหาคม 2557 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.76 เป็นผลมาจากการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.74 เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.80 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กเส้นข้ออ้อย

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนสิงหาคม 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 140.89 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.90 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 5.03 โดยลวดเหล็ก ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 33.17 เหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 23.65 เป็นผลมาจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างในส่วนโครงการของภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่ โดยจากข้อมูลเครื่องชี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ข้อมูลการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั้งประเทศและข้อมูลการขอจดทะเบียนอาคารชุดทั้งประเทศ ของเดือนกรกฎาคมลดลง สำหรับกลุ่มเหล็กทรงแบน พบว่าการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.36 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.80 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.45 แต่ผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 6.53 และ 1.12 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2557 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.93 โดยเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.76 เหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.80

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนสิงหาคม 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า เหล็กแท่งเล็ก Billet เพิ่มขึ้นจาก 116.94 เป็น 120.94 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.42 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 116.44 เป็น 117.75 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.13 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 110.63 เป็น 111.7 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.97 สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีราคาทรงตัว คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน มีดัชนีราคาเหล็ก 113.84 แต่ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ได้แก่ เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 113.48 เป็น 112.09 ลดลง ร้อยละ 1.22

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนกันยายน 2557 เทียบกับเดือนก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะทรงตัว เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น ก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยังคงมีสถานการณ์ที่ยังคงทรงตัวอยู่

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งเป็นการลดลงทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ประกอบกับในช่วงเดือนสิงหาคมของปีนี้มีวันหยุดยาวหลายวัน โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนสิงหาคม ดังนี้

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 140,797 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีการผลิต 193,074 คัน ร้อยละ 27.08 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2557 ร้อยละ 6.97 โดยเป็นการลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 68,835 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 100,289 คัน ร้อยละ 31.36 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2557 ร้อยละ 0.62 โดยเป็นการลดลงของการจำหน่าย รถยนต์กระบะ 1 ตัน

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 89,550 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีการส่งออก 103,065 คัน ร้อยละ 13.11 โดยเป็นการลดลงในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนกรกฏาคม 2557 ร้อยละ 2.44 โดยเป็นการลดลงในประเทศแถบ ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกันยายน 2557 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2557 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนกันยายน 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 44 และส่งออกร้อยละ 56

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2557 ทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยเป็นการลดลงตามความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนสิงหาคม ดังนี้

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 141,308 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีการผลิต 184,411 คัน ร้อยละ 23.37 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต อย่างไรก็ดี การผลิตรถจักรยานยนต์ทรงตัวเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2557

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 143,235 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 163,556 คัน ร้อยละ 12.42 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2557 ร้อยละ10.93 โดยเป็นการลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)

จำนวน 23,290 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งมีการส่งออก 30,353 คัน ร้อยละ 23.27 โดยเป็นการลดลงในประเทศ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2557 ร้อยละ 3.19 โดยเป็นการลดลงในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และมาเลเซีย

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน 2557 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2557 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 85 และส่งออกร้อยละ 15

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการเร่งลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง การส่งออกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมียอดการสั่งซื้อจากตลาดคู่ค้าหลักเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจะส่งผลให้ไทยสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้น"

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนสิงหาคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ลดลงร้อยละ 1.39 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.86 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 5.89และร้อยละ 1.86 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ โดยมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เนื่องจากมีแนวโน้มความต้องการใช้ในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนสิงหาคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.14 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.77

เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมียอดการสั่งซื้อจากตลาดคู่ค้าหลักของไทยในระดับสูงตามปกติ โดยเฉพาะ บังคลาเทศและมาเลเซีย หลังจากที่เดือนก่อนปรับลดปริมาณการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามนโยบายเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยมีการสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้น

แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนในการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง และภาคเอกชนเองมีการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหรือทรงตัว เนื่องจากตลาดคู่ค้าหลักของไทยยังคงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในระดับที่สูง ในขณะที่ตลาดภายในประเทศเองก็มีแนวโน้มจะขยายตัวจากนโยบายก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไทยมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์สูงเกินความต้องการใช้ในประเทศอยู่แล้ว จึงคาดว่าจะสามารถขยายการส่งออกได้ต่อไป

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนสิงหาคม 2557 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ HDD และ IC ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 5.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของเครื่องปรับอากาศและคอมเพรสเซอร์

เครื่องใช้ไฟฟ้า/          มูลค่า (ล้าน      %MoM     %YoY
 อิเล็กทรอนิกส์          เหรียญสหรัฐฯ)
อุปกรณ์ประกอบของ        1,617.51       4.22     9.46
เครื่องคอมพิวเตอร์
แผงวงจรไฟฟ้า             705.54      17.29    10.13
เครื่องปรับอากาศ           249.85     -11.38    -8.28
กล้องถ่ายโทรทัศน์
กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอ         172.43       4.47     7.81
ภาพนิ่ง
รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า        4,762.00       2.24     6.21
และอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนสิงหาคม 2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 304.01 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.94 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 124.45 ลดลงร้อยละ 10.30 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 5.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง คือ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต และคอมเพรสเซอร์ ลดลงร้อยละ 7.89 4.24 และ 9.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากมีการจำกัดการใช้สารทำความเย็น R22 ทำให้ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อรองรับสารทำความเย็นใหม่ R 32 หรือ R 410a ทำให้การผลิตชะลอตัวลง ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มอื่น ๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ พัดลม กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และสายไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.44 15.02 7.52 และ 10.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากตลาดในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 405.86 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.64 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม ได้แก่ Monolithic IC Other IC HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.60 10 และ 13.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น SmartPhone Tablet Bluetooth หน้าจอ Touch Screen วีดีโอเกมส์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) ส่งผลให้ความต้องการใช้ IC ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วน HDD ได้เริ่มย้ายคำสั่งซื้อกลับมาผลิตในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากสถานการณ์ในประเทศดีขึ้น ทำให้การผลิตมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนสิงหาคม 2557 มีมูลค่า 4,762 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.24 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,863.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.08 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน และอาเซียนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.67 6.86 และ 5.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามตลาดสหภาพยุโรปในเดือนสิงหาคม 2557 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.67เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 249.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.38 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 8.28เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่ตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน ลดลงร้อยละ 15.24 11.96 36.39 26.91 และ 4.38 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่งวีดีโออื่น ๆ มีมูลค่า 172.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.47 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปอาเซียน จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.72 31.41 และ 19.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,898.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.77 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและ ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.07 1.63 7.19 และ 14.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับยกเว้นจีนปรับตัวลดลงร้อยละ 0.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,617.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.22 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 74.0 12.84 และ 7.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นจีนและอาเซียน ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.83 และ 7.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 705.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.29 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปจีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.44 และ 28.94 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สหภาพยุโรปอาเซียน และญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.43 12.49 และ 10.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกันยายน 2557 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกลุ่ม IC ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น และ HDD เริ่มกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้นหลังจากมีการย้ายคำสั่งซื้อไปฐานการผลิตที่อื่นแทน ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในไทย และในส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้า คาดว่าจะลดลงร้อยละ 3.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีสัญญาณการชะลอตัวจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป อาเซียน และตะวันออกกลาง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ