ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ระดับ 166.0 ลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์ยาสูบ สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.02 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวตัวร้อยละ 4.91
การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1 หรือ MPI เดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ระดับ 166.0 ลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์ยาสูบ
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต เดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 61.1 จากร้อยละ 60.38 ในเดือนสิงหาคม 2557 และร้อยละ 63.59 ในเดือนกันยายน 2556
เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.02 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวตัวร้อยละ 4.91
ในด้านของการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบไม่รวมทองคำเดือนกันยายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 16.6 และการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 17.5
อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(กันยายน 2557)
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกันยายน 2557 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 4.1 กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น สับปะรดกระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 54.8 และ 23.0 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเป็นสำคัญ ส่วนสินค้าที่ผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ แป้งมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 จากคำสั่งซื้อจากประเทศจีนเป็นหลัก ส่วนกลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลง ร้อยละ 1.1 สำหรับอาหารไก่ การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และผ้าขนหนูและเครื่องนอนลดลง ร้อยละ 2.3 2.8 และ 7.0 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงทั้งในและต่างประเทศ
ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.8 เป็นการเพิ่มขึ้นของเสื้อผ้าทอ ร้อยละ 8.0 และเสื้อผ้าถัก ร้อยละ 7.3 ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากตลาดญี่ปุ่น และอาเซียน
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2557 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 4.34 โดยเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 17.31 แต่เหล็กทรงแบน กลับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.00 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนกันยายน 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กแท่งแบน ส่วนเหล็กแผ่นรีดร้อน มีดัชนีราคาเหล็กที่ทรงตัว สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีราคาลดลง ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแท่งเล็ก
อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 164,299 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2556 ซึ่งมีการผลิต 194,744 คัน ร้อยละ 15.63 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2557 ร้อยละ 16.69 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ สำหรับการส่งออก มีจำนวน 97,570 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2556 ซึ่งมีการส่งออก 118,253 คัน ร้อยละ 17.49 โดยเป็นการลดลงในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตลดลงร้อยละ 2.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.60 โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.77 และ 6.30 เนื่องจากความต้องการเครื่องปรับอากาศในตลาดอาเซียนมีการขยายตัวค่อนข้างมาก ประกอบกับในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้มีการชะลอการผลิตจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถใช้สารทำความเย็น R 32/R410 ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มอื่น ๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ พัดลม กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และสายไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.32 41.72 1.30 และ 9.98 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 3.29 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง คือ HDD ลดลงร้อยละ 9.05 ขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ Semiconductor Monolithic IC และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.12 19.92 และ 21.61 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น Smartphone Tablet Bluetooth หน้าจอ Touch Screen วีดีโอเกมส์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) ส่งผลให้ความต้องการใช้ IC ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--