ภาพรวมเศรษฐกิจโลก
ในไตรมาส 3 ปี 2557 เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจหดตัว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่มีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง
ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ 101.4 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 อยู่ที่ 106.3 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มราคาลดลง สำหรับราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม (ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557) อยู่ที่ 78.7 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องจากข่าวลือเรื่องไฟไหม้ท่อส่งน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ปี 2557 ยังคงขยายตัว อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการส่งออกขยายตัว การจ้างงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ
ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.3 เท่ากับไตรมาส 3 ปี 2556 การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 90.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 81.0
การผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 77.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 76.0 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 105.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 100.1
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 การนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.2
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ ร้อยละ 1.5 อัตราการว่างงานไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 6.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.3 อัตราการว่างงานมีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.25 นอกจากนี้ Fed ได้มีมติสิ้นสุดการซื้อหลักทรัพย์รัฐบาลสหรัฐฯ ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ครั้งที่ 3 (QE3) ในเดือนตุลาคม 2557 เนื่องจากเศรษฐกิจและตลาดแรงงานอยู่ในภาวะที่ดี
เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3 ปี 2557 ยังคงขยายตัว อันเป็นผลมาจากภาคส่งออกที่ขยายตัว สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ภาวะเศรษฐกิจของจีน ในไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 7.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 มูลค่าการค้าปลีกในไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 11.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 13.3 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 16.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 20.2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 104.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.3
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 8.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.1
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 13.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 การนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.4
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.8 อัตราการว่างงานไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.0
สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China) ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 6.0 นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบวงเงิน 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านธนาคารรายใหญ่ของรัฐบาลจำนวน 5 รายของจีน เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ปี 2557 หดตัว อันเป็นผลมาจากการบริโภคและการลงทุนในภาคก่อสร้างที่ลดลง และในไตรมาส 3 ปี 2557 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงหดตัวต่อเนื่อง
ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในไตรมาส 2 ปี 2557 GDP หดตัวร้อยละ 0.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2 ปี 2557 หดตัวร้อยละ 2.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ในเดือนเมษายน การลงทุนในภาคก่อสร้างไตรมาส 2 ปี 2557 หดตัวร้อยละ 2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 39.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 45.4
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 96.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 97.8
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 12.7 การนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 17.5
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.9 เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนส่งผลให้ต้นทุนพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคานำเข้าเชื้อเพลิงและวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้น อัตราการว่างงานไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.0
สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.1 นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม โดยขยายมาตรการซื้อสินทรัพย์ (QQE) ไม่กำหนดกรอบเวลาสิ้นสุด เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อมีเสถียรภาพที่ร้อยละ 2
เศรษฐกิจสหภาพยุโรปไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัว และในไตรมาส 3 ปี 2557 คาดว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากการบริโภคที่ขยายตัว แต่อัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ในไตรมาส 2 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 0.1 การบริโภคไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ -0.01
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 104.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 101.6 สำหรับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 104.4 และ 102.6 ตามลำดับ
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2557 หดตัวร้อยละ 6.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.1 สำหรับการส่งออกในเดือนกรกฎาคม หดตัวร้อยละ 2.7 การนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2557 หดตัวร้อยละ 0.2 หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 5.6 สำหรับการนำเข้าในเดือนกรกฎาคม ขยายตัวร้อยละ 3.4
อัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.3 อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลจากราคาพลังงานที่ลดลง อัตราการว่างงานในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 10.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10.7 อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง
สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ได้มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0.15 เหลือร้อยละ 0.05 (เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557) และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ -0.2 และใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ด้วยการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์เป็นตัวค้ำประกันและตาราสารหนี้คุณภาพสูง
เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญในเอเชีย
เศรษฐกิจฮ่องกงส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2 ปี 2557 GDP ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลงทุนที่หดตัวร้อยละ 5.6 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2
ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกง เศรษฐกิจฮ่องกงส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2 ปี 2557 GDP ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2555 เป็นต้นมา และลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.6 โดยการลงทุนหดตัวร้อยละ 5.6 จากที่ในไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 3.5 ขณะที่การบริโภคของภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 1.2 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 1.5 อย่างไรก็ตามการส่งออกที่แท้จริงขยายตัวร้อยละ 2.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 ทั้งนี้เศรษฐกิจฮ่องกงยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงทางการเมืองที่เริ่มตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2557 ซึ่งอาจส่งออกผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 94.4 ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 135,625 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฮ่องกง (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของฮ่องกง) หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สามที่ร้อยละ 7.7 อย่างไรก็ตามการส่งออกไปสหภาพยุโรป(27) และสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 และ 1.7 ตามลำดับ ด้านการนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 150,038 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมการค้าฮ่องกงขาดดุลการค้า 14,413 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 2 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2557 เร่งตัวขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 6.6 สาเหตุส่วนหนึ่งจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในเดือนกันยายนปีก่อนหน้า ที่รัฐบาลมีการอุดหนุนค่าเช่าที่อยู่อาศัย ขณะที่ค่าสาธารณูปโภคก็ปรับตัวสูงขึ้นจากมาตรการอุดหนุนค่าไฟของรัฐบาลได้หมดลง ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบมีราคาสูงขึ้นตามการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบ ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ในเดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 คงที่จากในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2557
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยการส่งออกสินค้าที่แท้จริงชะลอลง แต่ยังได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคภายในประเทศทั้งของภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการลงทุนในภาคการก่อสร้าง ที่ขยายตัวเร่งขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยการส่งออกสินค้าที่แท้จริงชะลอลง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคภายในประเทศทั้งของภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการลงทุนในภาคการก่อสร้าง ที่ขยายตัวเร่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการประกาศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ทั้งนี้แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนเงินประมาณ 41 ล้านล้านวอน จะแบ่งเป็นการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายจำนวน 11.7 ล้านล้านวอน และเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินพิเศษอีก 29 ล้านล้านวอน ทั้งนี้วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะถูกใช้ในปี 2557 นี้ และจะมีส่วนที่เหลืออีกประมาณ 3 ล้านล้านวอนที่จะถูกใช้ในปี 2558
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 105.3 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีในเดือนกันยายน 2557 กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.0 หลังจากหดตัวร้อยละ 2.7 ในเดือนสิงหาคม 2557
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 142,114 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป(27) ขยายตัวร้อยละ 15.1 และ 4.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการส่งออกไปตลาดอันดับหนึ่งอย่างจีน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.8 ของการส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้) หดตัวต่อเนื่องร้อยละ1.7 ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 133,053 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมการค้าเกาหลีใต้เกินดุลการค้า 9,061 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ลดลงจากในไตรมาส 2 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 จากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ลดลง รวมถึงราคาสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาลในเดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 คงที่จากในเดือนสิงหาคม 2557 โดยจำนวนแรงงานที่ได้รับการจ้างงานยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการจ้างงานในภาคบริการที่เพิ่มขึ้น
สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิมร้อยละ 2.25 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.00 หลังจากที่มีการปรับลดลงมารอบหนึ่งแล้วในเดือนสิงหาคม 2557 เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ
เศรษฐกิจสิงคโปร์ ในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาคการบริการที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 ตามการเติบโตของภาคการเงินและการประกันภัย ขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวร้อยละ 1.4 จากการผลิตในกลุ่มไบโอเมดิคอล และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามภาคการก่อสร้างขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 จากกิจกรรมการก่อสร้างของภาคเอกชนที่ชะลอตัว
ภาวะเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า จากภาคการบริการที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 ตามการเติบโตของภาคการเงินและการประกันภัย ขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวร้อยละ 1.4 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการผลิตในกลุ่มไบโอเมดิคอล และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 4.1 จากกิจกรรมการก่อสร้างของภาคเอกชนที่ชะลอตัว
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 105.0 ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตในกลุ่มไบโอเมดิคอล กลุ่มเคมีภัณฑ์ และกลุ่มวิศวกรรมเครื่องมือวัด ที่ขยายตัวร้อยละ 9.0 5.2 และ 1.3 ตามลำดับ รวมถึงการผลิตในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.9 หลังจากหดตัวไปร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 106,429 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปมาเลเซีย จีน และฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 17.8 12.3 และ 3.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการส่งออกไปอินโดนีเซีย สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป(27) หดตัว สำหรับการส่งออกในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2557 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 และ 0.8 ตามลำดับ ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 95,954 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2557 หดตัวร้อยละ 1.5 และ 6.8 ตามลำดับ ภาพรวมการค้าในช่วงกรกฎาคม ถึง สิงหาคม 2557 สิงคโปร์เกินดุลการค้า 8,734 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ลดลงจากในไตรมาส 2 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ต้นทุนค่าขนส่ง รวมถึงเครื่องแต่งกายปรับตัวลดลง อัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ลดลงจากในไตรมาส 2 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.0 อัตราการว่างงานของสิงคโปร์ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนภาวะตึงตัวของตลาดแรงงาน
เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เศรษฐกิจอินโดนีเซียทรงตัวอยู่ในช่วงระดับร้อยละ 5 มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 โดยการบริโภคของภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงการลงทุนยังขยายตัวได้ดีเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้กับเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ขณะที่ภาคการส่งออกที่แท้จริงหดตัวตามการส่งออกสินค้าแร่ที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าแร่ขั้นต้นที่ยังไม่ได้แปรรูปบางชนิดที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557
ภาวะเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียทรงตัวอยู่ในช่วงระดับร้อยละ 5 มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 โดยการบริโภคของภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงการลงทุนยังขยายตัวได้ดีเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้กับเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ขณะที่ภาคการส่งออกที่แท้จริงหดตัวตามการส่งออกสินค้าแร่ที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าแร่ขั้นต้นที่ยังไม่ได้แปรรูปบางชนิดที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 122.1 ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ดัชนีฯ ในเดือนกันยายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 10.9
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 43,882 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวต่อเนื่องสองไตรมาส ด้านการนำเข้าในไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 44,421 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมการค้าอินโดนีเซียขาดดุลการค้า 539 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 4.4 ลดลงจากในไตรมาส 2 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.1 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 ขยายตัวชะลอลงจากราคาอาหารที่ลดลงเนื่องจากมีฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในเดือนกันยายนของปีก่อน
สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.5 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้เข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้ซึ่งอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5-5.5 ในปี 2557 และร้อยละ 3-5 ในปี 2558 รวมถึงช่วยลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดให้มีการปรับตัวดีขึ้น
เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศขยายตัวสูงขึ้น ประกอบอุปสงค์ภายในประเทศ การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัว
ภาวะเศรษฐกิจของมาเลเซีย ในไตรมาส 2 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.0 เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศ การลงทุน การใช้จ่ายของรัฐบาลในส่วนของระบบโครงสร้างพื้นฐาน การบริโภคของภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 12.1 ซึ่งเป็นผลมาจากการอนุมัติเงินลงทุนทั้งหมด 53.2 พันล้านริงกิตมาเลเซีย ภายใน 7 เดือนแรกของปี 2557 ซึ่งเป็นการลงทุนจากต่างประเทศร้อยละ 57.8 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี ในขณะที่การปรับลดการให้เงินสนับสนุนภาคธุรกิจและการขึ้นภาษีบริโภคเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณนั้นเป็นปัจจัยควบคุมการใช้จ่ายภาคเอกชนเนื่องจากทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่ก็จะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 115.9 ขยายตัวร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ดัชนีฯ ในเดือนมิถุนายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 7.0 โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของภาคการผลิต เหมืองแร่และไฟฟ้า
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 59,459 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดส่งออกสำคัญที่มีการขยายตัว ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และไทย ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 2.7 7.7 และ 7.2 ตามลำดับ ส่วนตลาดส่งออกสำคัญอย่างจีนหดตัวร้อยละ 1.8 สำหรับการส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.0 ด้านการนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 53,748 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมการค้าในไตรมาส 2 ปี 2557 มาเลเซียเกินดุลการค้า 5,711 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการนำเข้าเดือนกรกฎาคม 2557 หดตัวร้อยละ 0.3
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 3 ปี 2557 สำหรับอัตราเงินเฟ้อ 9 เดือนแรก ปี 2557 เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยอยู่ที่ร้อยละ 3.3 โดยในปี 2558 ทางการมาเลเซียจะเพิ่มมาตรการช่วยเหลือแก่ครัวเรือนฐานะยากจน เพื่อช่วยให้สามารถรับมือกับการปรับขึ้นภาษีสินค้าและบริการ เช่น โครงการอุดหนุนราคาพลังงาน
สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ธนาคารกลางมาเลเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบข้ามคืนไว้ที่ร้อยละ 3.25 เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจภายหลังจากที่การลดการให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน
เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาส 2 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวขึ้นจากในไตรมาส 1 ปี 2557 เป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและภาคส่งออก เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ภาวะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ในไตรมาส 2 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวมากขึ้นจากในไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.4 ปัจจัยหลักมาจากภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและภาคส่งออก เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ช่วยชดเชยการใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลง ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจครึ่งแรกของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 6 ทำให้กลับมาเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่เศรษฐกิจขยายตัวแข็งแกร่งที่สุด โดยขยายตัวมาเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเป็นรองเพียงมาเลเซียเท่านั้น
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 188.5 ขยายตัวร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวขึ้นมากในกลุ่มของอาหารและเครื่องดื่ม
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 15,496 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปตลาดสำคัญปรับขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะจีน สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และเยอรมนี ขยายตัวร้อยละ 45.6 20.9 27.5 และ 41.8 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนเดือนกรกฎาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ 12.9 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 15,231 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนเดือนกรกฎาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.3 ภาพรวมการค้าในไตรมาส 2 ปี 2557 ฟิลิปปินส์เกินดุลการค้า 265 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 4.4 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เดือนตุลาคม ปี 2557 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่เดือนกันยายนขยายตัวร้อยละ 4.4 ซึ่งเป้าหมายของรัฐบาลตั้งอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 4.0 โดยอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาจากราคาอาหาร ราคาค่าน้ำ ค่าไฟ และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น
สถานการณ์ด้านการเงิน ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย overnight RRP และ overnight RP ไว้ที่ร้อยละ 3.5 และ 5.5 ตามลำดับ
เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาส 2 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า จากการผลิตและการส่งออกที่ชะลอตัวลง
ภาวะเศรษฐกิจของอินเดีย ในไตรมาส 2 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากในไตรมาส 1 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.1 เป็นผลมาจากการส่งออกที่ชะลอลง
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 181.4 หดตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามดัชนีฯ ในเดือนสิงหาคม 2557 อยู่ที่ 172.9 หดตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 78,001 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 5.7 และตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอาหรับฯ ขยายตัวร้อยละ 16.2 สำหรับการส่งออกในเดือนสิงหาคม 2557 หดตัวร้อยละ 0.45 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 2 ปี 2557 มีมูลค่า 113,551 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนสิงหาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.2 ภาพรวมการค้าในไตรมาส 2 ปี 2557 อินเดียขาดดุลการค้า 35,549 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2557 ดัชนีราคาผู้บริโภคขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ในเดือนกรกฎาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ธนาคารกลางอินเดียได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (repurchase rate) ลงจากร้อยละ 8.5 เหลือร้อยละ 8 เพื่อกระตุ้นอุปทานและการลงทุนในประเทศซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--