การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง
การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีปริมาณการผลิต 1.98 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.39 และ 1.02 ตามลำดับ ซึ่งการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการเครื่องเรือนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อสร้างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และรองรับความต้องการของตลาดส่งออก สำหรับการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วง 9 เดือนของปี 2557 มีปริมาณ 5.78 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.70 ตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ลดลงจากผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง ประกอบกับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง โดยการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีปริมาณ 1.01 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อยู่ในภาวะทรงตัว และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.94 สำหรับการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วง 9 เดือนของปี 2557 มีปริมาณ 3.08 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.05
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 852.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 และ 2.61 ตามลำดับ จากความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่อเรือนในตลาดสหรัฐอเมริกา ตลาดในตะวันออกกลาง และตลาดใหม่แถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง เช่น จีน เกาหลีใต้ ทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น
การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ในช่วง 9 เดือนของปี 2557 มีมูลค่ารวม 2,460.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.96 โดยเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา ตลาดตะวันออกกลาง รวมทั้ง ตลาดเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียน
สำหรับรายละเอียดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้
1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องเรือนไม้
การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 254.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.17 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.02 สำหรับการส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ในช่วง 9 เดือนของปี 2557 มีมูลค่ารวม 749.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.61
2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วย เครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องใช้ทำด้วยไม้ และรูปแกะสลักไม้
การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 50.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.22 และ 1.57 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ในช่วง 9 เดือนของปี 2557 มีมูลค่ารวม 154.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.78
3) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วย ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และซาอุดิอาระเบีย การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ ไม้แปรรูป รองลงมา คือ ไฟเบอร์บอร์ด
การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 547.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.98 และ 5.34 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ในช่วง 9 เดือนของปี 2557 มีมูลค่ารวม 1,556.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.78
การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ ได้แก่ ไม้แปรรูป ไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ ไม้อัดและไม้วีเนียร์ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน และมาเลเซีย และไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ และมาเลเซีย
การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 157.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.38 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 10.38 สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ในช่วง 9 เดือนของปี 2557 มีมูลค่ารวม 471.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.20
สรุปและแนวโน้ม
การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2557 ยังสามารถเติบโตได้จากการผลิตเพื่อรองรับความต้องการเครื่องเรือนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อสร้างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และความต้องการของตลาดส่งออก ในขณะที่การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2557 ลดลงจากผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง ประกอบกับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง
การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนในตลาดใหม่แถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2557 เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน
การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการขยายตลาดอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อเนื่องต่อความต้องการเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูงซึ่งยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนอย่างต่อเนื่อง สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบไม้ที่ใช้ในการผลิตเครื่องเรือนเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--