สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2557 (กรกฎาคม – กันยายน 2557)(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2015 16:06 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก2,196.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 12.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลงมากถึง ร้อยละ 68.21 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับลดลงเช่นกัน ร้อยละ 39.95 เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลง โดยมีสาเหตุจากราคาทองคำในตลาดโลกต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับนักลงทุนบางส่วนมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนบางส่วนจากการซื้อทองคำไปเก็งกำไรในตลาดทุนเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,939.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.17 และ 4.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

การผลิตและการจำหน่าย

การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ไตรมาส 3 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.92 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่งผลต่อดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.06 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.46 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 22.70 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปรวมถึงเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น ทำให้คำสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 22.03 จากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทำให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง โดยดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 8.81 แสดงถึงการส่งออกสินค้าในสต๊อกทดแทน

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2557 (ตารางที่ 2) การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,939.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณี เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินและทำด้วยทอง ทำด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ และเครื่องประดับอัญมณีเทียมเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 4.13 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณี โดยเฉพาะเพชร พลอย เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน และเครื่องประดับแท้ทำด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป จะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลง ร้อยละ 12.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 39.95 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลง จากราคาทองคำในตลาดโลกที่ลดลงจากปีก่อน สำหรับผลิตภัณฑ์ส่งออกสำคัญ ๆ ได้แก่

1. อัญมณี ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 742.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการส่งออกพลอยเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.54 จากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยียม และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.30 13.57 และ 8.45 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญ มีดังนี้

1.1 เพชร ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 458.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเพชรมีราคาเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.18 สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยียม และอิสราเอล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.51 21.82 และ 9.95 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 278.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการผลิตในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 24.70 เนื่องจากความต้องการในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย เพิ่มขึ้น โดยในแต่ละตลาดมีสัดส่วนร้อยละ 64.01 8.05 และ 6.63 ตามลำดับ

2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 1,033.91ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.44 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินและทำด้วยทองเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 1.71 จากการส่งออกเครื่องประดับเงินเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมี ดังนี้

2.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 456.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.35 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ถูกลงจากราคาวัตถุดิบเงินที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.21 เนื่องจากสินค้ามีราคาถูกลง จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.90 24.81 และ 5.72 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 497.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการในตลาดฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 8.11 เนื่องจากความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือย

3. เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 106.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.66 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นสินค้าทางเลือกให้กับผู้บริโภคในช่วงภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 17.37 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกขยายตัวในตลาดสำคัญ ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.37 21.41 และ 11.52 ตามลำดับ

4. อัญมณีสังเคราะห์ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 25.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 16.77 และ 28.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการส่งออกเป็นสินค้าเครื่องประดับอัญมณีเทียมสำเร็จรูปแทน ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ออสเตรีย และออสเตรีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.63 14.40 และ 8.84 ตามลำดับ

5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 257.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 68.21 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกในไตรมาสนี้อยู่ในช่วงปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นกัน ร้อยละ 85.67 เนื่องจากราคาทองคำลดต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.56 17.94 และ 12.85 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 644.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการนำเข้าเพชร พลอย เงิน และแพลทินัม ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 3.58 ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่ เพชร และเงิน ลดลง สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมอยู่ที่ 2,852.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 18.63 เนื่องจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลง ร้อยละ 22.18 โดยวัตถุดิบนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่

1.1 เพชร ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 255.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพื่อรองรับภาคการผลิตในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 12.57 เนื่องจากเพชรมีราคาเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เบลเยียม อินเดีย และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 31.94 17.80 และ 15.38 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 130.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.19 และ 31.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการเตรียมวัตถุดิบเพื่อรองรับการผลิตในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ศรีลังกา และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.26 10.80 และ 10.77 ตามลำดับ

1.3 ทองคำ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 2,207.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.81 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกในไตรมาสนี้อยู่ในช่วงปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 22.18 เนื่องจากนักลงทุนมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนบางส่วนจากการซื้อทองคำไปเก็งกำไรในตลาดทุนเพิ่มขึ้น แม้ราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยจะต่ำกว่าปีที่แล้วก็ตาม โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.93 18.93 และ 14.87 ตามลำดับ

1.4 เงิน ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 166.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.08 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเตรียมวัตถุดิบเพื่อรองรับการผลิตในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 13.68 เนื่องจากความต้องการสินค้าเครื่องประดับเงินลดลง ส่งผลต่อคำสั่งซื้อเงินซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตลดลงแม้จะเข้าสู่ช่วงการผลิตเพื่อป้อนเทศกาลสำคัญช่วงปลายปี โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เยอรมนี และเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.20 17.84 และ 13.43 ตามลำดับ

1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 32.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 12.87 และ 4.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.13 17.90 และ 12.70 ตามลำดับ

2. เครื่องประดับอัญมณี ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 173.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 12.64 เนื่องจากภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยทำให้ความต้องการสินค้าเครื่องประดับอัญมณีแท้ลดลง โดยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 151.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพื่อรองรับความต้องการช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 17.47 เนื่องจากภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยทำให้ความต้องการสินค้าเครื่องประดับอัญมณีแท้ลดลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.02 10.37 และ 8.49 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 21.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 48.71 และ 46.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากเป็นสินค้าทางเลือกซึ่งจะมีความต้องการสูงในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือในภาวะที่ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอย โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส และอิตาลี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.87 12.50 และ 5.70 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) วางแนวทางผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นแห่งอาเซียน โดยมี 3 กรอบการทำงานที่สำคัญ คือ 1) การพัฒนาบุคลากร 2) การพัฒนาฝีมือแรงงาน และ 3) การสร้างปัจจัยเอื้อที่จะทำให้เกิดการรับรู้และเข้าถึงสถานการณ์เมืองแฟชั่น โดยจะมุ่งพัฒนาในอุตสาหกรรมแฟชั่นต่าง ๆ เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ อย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการที่ได้ดำเนินการ คือ "บางกอก แฟชั่น อเวนิว" โดยร่วมกับนิตยสารแฟชั่น ชั้นนำระดับโลก 3 เล่ม คือ แอล, แมรี แคลร์ และแอล เมน เพื่อเปิดถนนสายสำคัญ ที่เป็นศูนย์รวมแหล่งซื้อขายแฟชั่นและเครื่องประดับ 5 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ จตุจักร บางลำพู ประตูน้ำ สุขุมวิท และสยาม นอกจากนี้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้ สร้างจุดขาย เน้นการดึงจุดเด่น และสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละย่านการค้า เพื่อให้คนต่างชาติรู้จัก รับรู้ข่าวสาร และเข้าถึงสินค้าแต่ละประเภทผ่าน 5 เครือข่ายจาก 5 ย่านการค้าแฟชั่นที่สำคัญ

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2557 การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.92 การจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.17 และ 4.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลง ร้อยละ 12.94 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปในไตรมาสนี้ลดลงมากถึง ร้อยละ 68.21 ซึ่งเป็นผลจากความต้องการทองคำในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์เพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นกัน ร้อยละ 39.95 เป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลง เนื่องจากราคาทองคำลดต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนโดยเฉพาะมีการนำเข้าเพชร พลอย เงิน และแพลทินัม ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น เพื่อทำการผลิตรองรับความต้องการช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 3.58 ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบสำคัญ เช่น เพชร และเงิน ลดลง ตามความต้องการในตลาดหลัก เช่น สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรส่งผลต่อความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมอยู่ที่ 2,852.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 18.63 เป็นผลจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลงอย่างมาก

แนวโน้ม

การผลิตอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2557 คาดว่า จะขยายตัวเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ภาพรวมการส่งออก ไตรมาส 4 ปี 2557 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่าจะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ การส่งออกเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แนวโน้มการอ่อนค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ประกอบกับราคาทองคำที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 6 ปี อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง คือ การที่อัตราดอกเบี้ยในหลาย ๆ ประเทศยังอยู่ที่ระดับต่ำจะเป็นการจูงใจให้เกิดการลงทุนมากกว่าการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งอาจทำให้การบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไม่ขยายตัวมากนัก

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ