สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2557 (กรกฎาคม – กันยายน 2557)(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2015 16:10 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 3 ปี 2557 มีปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 4.12 ส่วนหนึ่งเป็นนอกฤดูกาลหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และหากไม่รวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 22.91 แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตไม่รวมการผลิตน้ำตาล มีปริมาณลดลงร้อยละ 8.30 เป็นผลจากการผลิตของอุตสาหกรรมธัญพืชและแป้ง และผลิตภัณฑ์นม ลดลงจากปีก่อน แต่หากรวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.22 ซึ่งมาจากการผลิตลดลงในผลิตภัณฑ์ที่รองรับภายในประเทศ สำหรับต่างประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าซบเซา โดยตลาดสหภาพยุโรปที่มีปัญหาหนี้สาธารณะในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลกับการส่งออกสินค้าอาหารที่มีปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2557 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารลดลงร้อยละ 4.12 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงปิดหีบการผลิตน้ำตาลของฤดูหีบอ้อย ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับตัวดีขึ้น แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวลดลงร้อยละ 8.22 เป็นผลจากการผลิตลดลงของอุตสาหกรรมธัญพืชและแป้ง ขณะที่การผลิต 9 เดือนแรกของปี 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนร้อยละ 0.15 จากการผลิตเพิ่มขึ้นในหลายกลุ่ม แม้ว่าวัตถุดิบบางอย่างได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าเริ่มดีขึ้น และตลาดในประเทศที่ชะลอตัวลงเล็กน้อย สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 181.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สำปะหลังจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ชะลอตังลง ร้อยละ 32.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิต 9 เดือนของปี 2557 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 19.34

กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.21 เป็นผลจากโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งเริ่มแก้ไขและควบคุมได้ ทำให้ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิต 9 เดือนแรกของปี 2557 ลดลงร้อยละ 3.71 เนื่องจากการผลิตกุ้งจะมีปริมาณลดลง ขณะที่การผลิตปลาทูน่ากระป๋องปรับลดลงเช่นกัน จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง มีการนำเข้าปลาทูน่ามาสต็อกและผลิตลดลง

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการผลิต แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.08 เนื่องจากการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สด แช่แข็งจากไทยจากปัญหาไข้หวัดนกในหลายประเทศ และจากการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น ทดแทนจากจีนที่ประสบปัญหาไข้หวัดนกรอบใหม่ และไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ประกอบกับมีผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดสภาพคล่องต้องปรับลดการผลิตในปีก่อน ทำให้การผลิต 9 เดือนแรกของปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.47

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 22.65 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากผลผลิตวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาเดียวกันของปีก่อนการผลิตปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 7.39 จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากราคาส่งออกที่ถูกลงจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และการผลิต 9 เดือนแรกของปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 2.16

กลุ่มน้ำตาลทราย ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 69.54 และ 7.43 จากเป็นช่วงปิดหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล การผลิตในช่วงไตรมาสนี้เป็นการละลายน้ำตาลทรายดิบเพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาวตามคำสั่งซื้อ แต่การผลิตช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.26 ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรก

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 15.01 และ 3.86 จากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสต็อกน้ำมันอยู่ในปริมาณสูง และการผลิตช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.35 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์นม การผลิตลดลงร้อยละ 13.65 และ 14.24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการผลิต 9 เดือนแรกของปี 2557 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 9.78 จากการบริโภคที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของการเลี้ยงไก่ ตามความต้องการบริโภคไก่ที่เพิ่มขึ้น หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.33 และการผลิตช่วง 9 เดือนแรกปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.77 เนื่องจากความต้องการอาหารสัตว์เพื่อเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้นทดแทนกุ้งและสุกรที่ราคาสูงขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากค่าเงินบาทอ่อนค่า แม้ว่าราคาในตลาดโลกจะสูงขึ้นไม่มากนัก

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2557 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.54 จากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้น เมื่อปัจจัยการเมืองที่การชุมนุมทางการเมืองคลี่คลายลง แต่จากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีการปรับขึ้นของราคาสินค้าจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน ค่าจ้าง และปัจจัยการผลิต จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงชะลอการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ดีช่วงไตรมาสที่ 3 ภาพรวมปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.50 (ไม่รวมน้ำตาล) เนื่องจากมีการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงและเงินเดือน แม้ระดับราคาสินค้าโดยเฉพาะในสินค้าปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์นมและผักผลไม้จะได้ปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม ในขณะที่การจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศปรับตัวลดลงร้อยละ 13.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการลดทำการส่งเสริมการตลาด ทำให้การจำหน่ายเครื่องดื่มอัดลมและชาพร้อมดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมลดลง ส่วนอาหารสัตว์ได้รับผลดีจากการเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.00 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยภาพรวมการจำหน่ายในประเทศช่วง 9 เดือนแรกปี 2557 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.47 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่กำลังซื้อลดลงจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2557 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 233,623.37 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.58 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไก่ และข้าวและธัญพืช แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.05 เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักบางแห่งมีสัญญาณที่ฟื้นตัว มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในบางกลุ่มสินค้า ขณะที่การส่งออกภาพรวม 9 เดือนแรกปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.72 โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มประมง มีมูลค่าการส่งออก 52,492.65 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.79 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณในเกือบทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลแปรรูปและแช่เย็นแช่แข็ง และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกลดลงร้อยละ 1.18 เนื่องจากคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรปที่ยังคงชะลอตัว เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากสหภาพยุโรปแม้จะเริ่มฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตหนี้สาธารณะในหลายประเทศ แต่ยังคงประสบปัญหากำลังซื้อที่ยังซบเซา ขณะที่ทูน่ากระป๋องมีความต้องการชะลอตัว นอกจากนี้ปริมาณผลผลิตกุ้งในช่วง 9 เดือนแรกมีปริมาณลดลงจากเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง และส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวม 9 เดือนแรกปี 2557 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.61

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 32,669.26 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.55 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.19 จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่ม โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.39 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดีการส่งออก 9 เดือนแรกปี 2557 ในภาพรวมของกลุ่มผักผลไม้ สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 23.81 จากการอ่อนค่าของเงินบาท

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 24,095.92 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 20.12 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปและไก่แช่เย็นแช่แข็งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกภาพรวมของกลุ่ม 9 เดือนแรกของปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 16.47

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 86,519.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.29 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่ม โดยที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 14.81 จากการส่งออกไปประเทศจีนเป็นหลัก หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.96 เมื่อเทียบกับปีก่อนเป็นผลจากการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น และการส่งออกภาพรวมของกลุ่มในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 23.71 จากการได้อานิสงค์จากประเทศอินเดียประสบภัยแล้งมีข้าวออกสู่ตลาดลดลง

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 22,410.80 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.74 จากไตรมาสก่อน มาจากการที่ประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดีย และบราซิล กลับมาส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมูลค่าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.61 จากปริมาณการส่งออกน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น สำหรับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2557 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 12.71 เนื่องจากราคาในตลาดโลกชะลอตัวลงจากปีก่อน

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 15,434.84 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.87 และ 12.38 ตามลำดับโดยเป็นผลจากการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าประเภทซุปและอาหารปรุงแต่ง หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม น้ำมันและไขมันจากพืช และภาพรวมการส่งออกของกลุ่มในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2557 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.21

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2557 การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่ารวม94,780.61 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 48.76 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการนำเข้าปลาทูน่าแช่เย็นแช่แข็งและกากพืชน้ำมัน ลดลงร้อยละ 41.31 และ 37.38 เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.44 โดยเป็นการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น กากพืชน้ำมัน และปลาทูน่าแช่แข็งเพิ่มขึ้น เป็นการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากราคาถั่วเหลืองและปลาทูน่าที่ลดลงในช่วงไตรมาสที่ 3 สำหรับการนำเข้าในภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.34

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ปี 2557 อยู่ในระหว่างที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ทำรัฐประหาร มาตรการและนโยบายในช่วงไตรมาสนี้จึงเป็นลักษณะรับทราบรายงานการติดตามการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในสินค้าที่ต้องนำเข้าและมีนโยบายและมาตรการควบคุมการนำเข้า เช่น นม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และวัตถุดิบ ที่ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมสินค้านั้นๆ ซึ่งหากการขออนุมัติในแต่ละปี ไม่เปลี่ยนไปจากมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านๆ มา ให้อนุโลมใช้นโยบายและมาตรการนำเข้าตามข้อผูกพันของกรอบการเจรจาการค้าที่ได้ตกลงไว้ไปพลางก่อน ส่วนในช่วงหลังของไตรมาสที่ 3 คสช. ได้มีการตั้งคณะรัฐมนตรีแต่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง มีเพียงนโยบายการชดเชยรายได้จากการรับจำนำข้าวให้กับเกษตรกร และตรวจสอบความเสียหายจากโครงการรับจำนำที่ผ่านมา

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2557 ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวม อยู่ในช่วงปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 22.91 หากไม่นับรวมการผลิตน้ำตาลที่เป็นนอกฤดูการหีบอ้อยที่ส่งผลให้การผลิตชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่รวมการผลิตน้ำตาลแล้ว พบว่า การผลิตในภาพรวมลดลงร้อยละ 8.22 ตามคำสั่งซื้อที่ปรับชะลอตัว ส่วนการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเกิดจากการยกเลิกการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและบางส่วนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักยังซบเซา นอกจากนี้สินค้าน้ำตาลทราย แม้ว่าสต็อกที่คาดการณ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น และผลจากที่ประเทศอินเดีย และบราซิลมีผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งออกน้ำตาลได้เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ปรับชะลอตัวลง ส่วนการผลิตน้ำตาลของไทยคาดว่าจะได้รับกระทบจากภัยแล้งทำให้คุณภาพอ้อยเข้าหีบแย่ลง สำหรับสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ ปริมาณความต้องการสินค้าไก่แปรรูปจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากกรณีไข้หวัดนกของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ส่งผลต่อการส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งของไทยเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้า มันสำปะหลังยังคงส่งออกเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าจากจีนที่ปรับตัวดีขึ้น

แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557คาดว่า จะขยายตัวตามฤดูกาลการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าปริมาณวัตถุดิบบางชนิดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโรคระบาด โดยเฉพาะกุ้งที่ปริมาณวัตถุดิบเสียหายจากโรคตายด่วนในลูกกุ้งแต่ได้เริ่มแก้ไขปัญหาและกลับมาผลิตได้เพิ่มขึ้น สำหรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น ประกอบกับสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลและข่าวความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-สหภาพยุโรป และความรุนแรงของการก่อการร้าย และสถานการณ์การระบาดของโรคอีโบล่าในแอฟริกา แม้ว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่ แต่ทำให้สภาพเศรษฐกิจของโลกยังคงตึงตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้การจำหน่ายในประเทศที่ได้รับผลดีจากการปรับค่าแรงและเงินเดือนส่งผลให้การบริโภคในประเทศยังคงมีการขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง และเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จีนและญี่ปุ่นยังขยายตัว ประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับขึ้นไม่มาก ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก ซึ่งอาจจะทำให้การผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับชะลอตัวลงได้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ