สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนพฤศจิกายน 2557
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2557 ลดลงหรือหดตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน
- อุตสาหกรรมรถยนต์ ชะลอตัวโดยเป็นการลดลงของตลาดในประเทศ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับหนี้ในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี การส่งออกมีการขยายตัว แต่ทั้งนี้อัตราการหดตัวของการผลิตทยอยปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ
- อุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางรถยนต์ การผลิตลดลงโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางแผ่นและยางแท่ง เนื่องจากในปีนี้ราคายางตกต่ำอย่างมากทำให้เกษตรกรไม่ขายวัตถุดิบให้กับโรงงานเพื่อรอให้ราคายางเพิ่มขึ้น ทำให้วัตถุดิบ (น้ำยาง) ขาดตลาด ส่งผลให้การผลิตและการจำหน่ายลดลงอย่างมากในปีนี้
- อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวดี โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้าเนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการที่เพิ่มขึ้น
- อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เนื่องจากการส่งออกไปประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทย พิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ติดลบหรือหดตัวร้อยละ 3.5 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้การผลิตลดลง คือ Hard Disk Drive รถยนต์ เครื่องประดับเพชรพลอย ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ยาง
การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้หดตัวร้อยละ 3.5 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง และถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นมา
ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันขยายตัวร้อยละ 6.9
อย่างไรก็ตามข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2557 ยังไม่มีการเผยแพร่ แต่มีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนตุลาคม 2557 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 3.0 และ 8.3 ตามลำดับ
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2557
ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2557 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 447 ราย ลดลงจากเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 491 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 8.96 มีการจ้างงานจำนวน 8,526 คน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,323 คน ร้อยละ 8.55 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 36,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีการลงทุน 22,962 ล้านบาท ร้อยละ 59.09
ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 384 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 16.41 แต่มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีการลงทุน 41,319 ล้านบาท ร้อยละ 11.59 มีการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 10,357 คน ร้อยละ 17.68
- อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2557 คือ อุตสาหกรรมขุดตักดินลูกรัง สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 36 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม จำนวน 33 โรงงาน
- อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2557 คือ อุตสาหกรรม ผลิตน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาว จำนวนเงินทุน 9,971 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม จำนวนเงินทุน 8,692.09 ล้านบาท
- อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2557 คือ อุตสาหกรรม ผลิตน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาว จำนวนคนงาน 850 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ทำส่วนประกอบสำหรับงานก่อสร้าง จำนวนคนงาน 454 คน
ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2557 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 125 ราย มากกว่าเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 115 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.7 มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 4,132 คน มากกว่าเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 2,339 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,585.88 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนตุลาคม 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,655.97 ล้านบาท
ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 104 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 20.19 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,196.37 ล้านบาท มีการเลิกจ้างมากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,023 คน
- อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2557 คือ อุตสาหกรรม กลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียน เชื่อมโลหะทั่วไป จำนวน 6 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำส่วนประกอบสำหรับงานก่อสร้าง จำนวน 5 โรงงาน
- อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2557 คือ อุตสาหกรรมทำภาชนะบรรจุจากพลาสติก เงินทุน 127 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ทำส่วนประกอบสำหรับงานก่อสร้าง เงินทุน 126 ล้านบาท
- อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2557 คือ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับนัยน์ตา การวัดสายตา เลนส์ จำนวนคนงาน 746 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวนคนงาน 503 คน
ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.ทั้งสิ้น 1,388 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,627 โครงการ ร้อยละ 14.68 และมีเงินลงทุน 766,200 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 831,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.8
- การกระจายหุ้นของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมในเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2557
การร่วมทุน จำนวน มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
(โครงการ)
1.โครงการคนไทย 100% 537 311,400 2.โครงการต่างชาติ 100% 518 223,000 3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ 333 231,700
- ประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุดในเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2557 คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 291,200 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 216,100 ล้านบาท
ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารเดือนพฤศจิกายน 2557 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง และคำสั่งซื้อชะลอตัวลงส่วนการจำหน่ายในประเทศ ปรับตัวลดลงจากการชะลอการจับจ่ายใช้สอย จากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และเพื่อรอการจัดแคมเปญลดราคาสินค้าช่วงเดือนหน้าขึ้น
1. การผลิต
ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤศจิกายน 2557 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.5 และจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.9 แบ่งเป็น
กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น สับปะรดกระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 39.0 และ 11.9 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเป็นสำคัญ ส่วนสินค้าที่ผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ ทูน่ากระป๋อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.5 เนื่องจากสต็อกยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 137.2 จากการนำเข้าเพื่อผลิตหลังราคาเมล็ดถั่วเหลืองในตลาดโลกชะลอตัวลง สำหรับอาหารไก่ การผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 เนื่องจากมีการปรับลดการผลิตไก่ของบริษัทสหฟาร์มที่เกิดปัญหาทางการเงินในปีก่อน
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2557 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.4 จากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และเพื่อรอการจัดแคมเปญลดราคาสินค้าช่วงเดือนหน้า ทำให้การใช้จ่ายลดลง
2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤศจิกายน 2557 ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 13.6 และจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 จากราคาสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน จากปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้น แต่จากสต๊อกน้ำตาลในตลาดโลกคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ราคามีแนวโน้มยังทรงตัวในระดับเดียวกันของปีก่อน
3. แนวโน้ม
การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวชะลอตัวลงจากเดือนก่อน เนื่องจากการผลิตและส่งออกตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ดีขึ้นในช่วงสองสามเดือนก่อนเพื่อรองรับเทศกาลได้ผ่านไปแล้ว ประกอบกับจำนวนวันทำงานที่ลดลงอีกด้วย สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากการจัดแคมเปญลดราคาสินค้า เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชนให้เพิ่มขึ้น
2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
เดือนพฤศจิกายน 2557 ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 และ 4.8 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศและการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น
1. การผลิต
ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตในผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน และผ้าขนหนูและเครื่องนอนลดลง ร้อยละ 5.4 2.1 และ 10.5 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดเวียดนาม เมียนมาร์ บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย ซึ่งเดิมเวียดนามมีคำสั่งซื้อผ้าผืนจากไทย แต่ปัจจุบันเวียดนามมีการพัฒนาการผลิตในส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำ (ผ้าผืน) เพิ่มขึ้น จากการเข้าไปลงทุนของจีน และไต้หวัน ส่งผลให้มีการนำเข้าจากไทยลดลง
ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 และ 4.8 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศและการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น
2. การจำหน่าย
ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทอส่วนใหญ่มีการจำหน่ายลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เครื่องนอนและผ้าขนหนู และผ้าลูกไม้ ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในส่วนเสื้อผ้าถัก โดยเฉพาะเสื้อผ้ากันหนาวและเสื้อชุดกีฬา มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้กลุ่มเสื้อผ้าทอแนวแฟชั่นขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันตามกำลังซื้อของผู้บริโภคช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี
การส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าโดยรวมลดลงร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นการลดลงในกลุ่มสิ่งทอ ร้อยละ 1.3 และลดลงในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ร้อยละ 8.2 จากมูลค่าที่ลดลงในตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอื่น ๆ ร้อยละ 5.8 2.7 2.9 10.6 และ 1.3 ตามลำดับ
3. แนวโน้ม
คาดว่า การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมจะยังขยายตัวได้โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาได้รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อในลีกกีฬาประเภทต่าง ๆ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในกลุ่มดังกล่าวขยายตัวตามความต้องการในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สำหรับการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และ ผ้าผืน อาจหดตัว อย่างไรก็ตาม อาจมีความต้องการโดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ซึ่งจะทำให้การส่งออกมีทิศทางดีขึ้น
3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
ปริมาณการผลิตเหล็กดิบ (crude steel) ของโลกเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ 131 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.1 โดยประเทศจีน มีปริมาณการผลิต 63.3 ล้านตัน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.2 ประเทศญี่ปุ่น มีปริมาณการผลิต 9.2 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 1.1 สาธารณรัฐเกาหลีใต้ 5.9 ล้านตัน ขยายตัว ร้อยละ 5.5 ในขณะที่การผลิตของประเทศในทวีปยุโรป ส่วนใหญ่ลดลง ยกเว้นประเทศฝรั่งเศส ที่ขยายตัว ร้อยละ 5.8
1.การผลิต
สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนพฤศจิกายน 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 134.25 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุดังนี้
ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น 23.19 โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 52.42 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 40.69 และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.06 เนื่องจากการกลับมาผลิตของผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายหนึ่งซึ่งหยุดการผลิตไปตั้งแต่ประมาณกลางปี 2555 อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการผลิตของเหล็กทรงแบนในประเทศยังคงทรงตัวอยู่ และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงแบนขยายตัวขึ้น ร้อยละ 7 โดยมาจากการนำเข้า ร้อยละ 5.7 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือ เหล็กแผ่นหนารีดร้อนที่เป็น Alloy steel โดยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 194.7 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 172.0 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 61.2 โดยสาเหตุที่ทั้งการผลิตและการนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมและเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศที่ขยายตัวจากอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องที่มีการขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปเพิ่มมากขึ้น
ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวมีการผลิตลดลง ร้อยละ 17.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีกอ่น โดยเหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 41.14 และเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 17.34 แต่เหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.00 โดยภาพรวมสถานการณ์การผลิตเหล็กทรงยาวอยู่ในภาวะชะลอตัว สำหรับ ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 1.5 ในขณะที่การนำเข้า ลดลง ร้อยละ 5.5 เนื่องจากภาคก่อสร้างยังคงทรงตัวอยู่ โดยในส่วนของโครงการภาครัฐ ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณปลายปี 2558- ต้นปี 2559 และจะส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กทรงยาวเพิ่มมากขึ้น
2. ราคาเหล็ก
จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนพฤศจิกายน 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กมีการปรับตัวลดลงแทบทุกตัว เช่น เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 110.58 เป็น 101.88 ลดลง ร้อยละ 14.26 เหล็กเส้น ลดลงจาก 111.7 เป็น 108.51 ลดลง ร้อยละ 8.92 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 107.69 เป็น 102.56 ลดลง ร้อยละ 7.40 เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 112.32 เป็น 106.97 ลดลง ร้อยละ 7.07 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 114.01 เป็น 111.21 ลดลง ร้อยละ 3.41
3. แนวโน้ม
สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนธันวาคม 2557 เทียบกับเดือนก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะทรงตัว เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น ก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยังคงมีสถานการณ์ที่ยังคงทรงตัวอยู่
4. อุตสาหกรรมยานยนต์
รถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งเป็นการลดลงของตลาดในประเทศ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับหนี้ในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี การส่งออกมีการขยายตัว
1.การผลิตรถยนต์
จำนวน 158,038 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน2556 ซึ่งมีการผลิต 182,818 คัน ร้อยละ 13.55 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
2.การจำหน่ายรถยนต์
จำนวน 73,068 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 93,483 คัน ร้อยละ 21.84 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV
3.การส่งออกรถยนต์
จำนวน 106,591 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน2556 ซึ่งมีการส่งออก 96,006 คัน ร้อยละ 11.03 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้
4.แนวโน้ม
ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2557 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม2556 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 46 และส่งออกร้อยละ 54
รถจักรยานยนต์
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยเป็นการลดลงตามความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
1.การผลิตรถจักรยานยนต์
จำนวน 149,526 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน2556 ซึ่งมีการผลิต 164,466 คัน ร้อยละ 9.08 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต
2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์
จำนวน 121,025 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 138,750 คัน ร้อยละ 12.77 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์
3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)
จำนวน 22,872 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน2556 ซึ่งมีการส่งออก 29,331 คัน ร้อยละ 22.02 โดยเป็นการลดลงในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น
4.แนวโน้ม
ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม2557 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2556 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80 และส่งออกร้อยละ 20
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"การผลิตและจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ลดลง จากภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ส่งออกขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากมียอดการสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะเมียนมาร์ กัมพูชา และบังคลาเทศ เพิ่มขึ้น"
1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
ในเดือนพฤศจิกายน 2557 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 5.98 และร้อยละ 4.61 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ปริมาณการผลิตทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี เนื่องจากปริมาณการจำหน่ายในประเทศไม่ขยายตัวมากเท่าที่ควร ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ภาคก่อสร้างของไทย โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นจนไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน
2. การส่งออก
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนพฤศจิกายน 2557 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.08
เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกขยายตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากมียอดการสั่งซื้อจากตลาดคู่ค้าหลักของไทย โดยเฉพาะเมียนมาร์ กัมพูชา และบังคลาเทศ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 ทำให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยต่างวางแผนการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกขยับตัวสูงขึ้นตาม
3. แนวโน้ม
การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง อีกทั้งภาครัฐยังมีนโยบายที่ชัดเจนในการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศ ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูงหรือคอนโดมิเนียมมากขึ้น เนื่องจากการกระจายความเจริญไปสู่เขตชานเมืองจะทำให้ภาคเอกชนสามารถพัฒนาโครงการก่อสร้างในที่ดินที่ยังมีราคาไม่สูงมากนักได้
สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศคู่ค้าหลักของไทยในอาเซียนกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้างเช่นเดียวกันกับไทย ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์วางแผนการผลิตในปริมาณที่สูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของการส่งออกควบคู่ไปกับการขยายตัวของความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศ
6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤศจิกายน 2557 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 4.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 2.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของเครื่องรับโทรทัศน์และสายไฟฟ้า ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 4.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของ HDD
เครื่องใช้ไฟฟ้า/ มูลค่า %YoY
อิเล็กทรอนิกส์ (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
อุปกรณ์ประกอบของ 1,573.42 -1.01
เครื่องคอมพิวเตอร์
แผงวงจรไฟฟ้า 628.05 11.33 เครื่องปรับอากาศ 259.81 8.99 กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้อง 197.60 -16.23
ถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง
รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า 4,763.16 6.95
และอิเล็กทรอนิกส์
1.การผลิต
ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤศจิกายน 2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 266.33 ลดลงร้อยละ 4.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ ที่ระดับ 121.61 ลดลงร้อยละ 2.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง คือ ตู้เย็น เครื่องรับโทรทัศน์ และสายไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 8.86 17.88 และ 25.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกไปต่างประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปตะวันออกกลางซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยมีการปรับตัวลดลงจากปัญหาความไม่สงบ นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.78 และ14.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปประเทศในกลุ่มอาเซียน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 348.42 ลดลงร้อยละ 4.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor และ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.42 และ 7.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้น Monolithic IC และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.04 และ 13.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุปกรณ์สื่อสาร/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น
6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)
2. การส่งออก
มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤศจิกายน 2557 มีมูลค่า 4,763.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 2,011.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดอาเซียน และสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.12 และ 24.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ตามตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและจีนปรับตัวลดลงร้อยละ 17.50 12.50 และ 10.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 259.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปอาเซียนและจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.38 และ 22.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ตามลำดับ รองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่งวีดีโออื่น ๆ มีมูลค่า 197.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 16.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 52.16 51.55 26.70 และ 8.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,751.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.70 7.99 4.27 และ 3.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นจีนที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,573.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปจีนลดลงถึงร้อยละ 21.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนตลาดหลักอื่นปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.08 7.05 2.67 และ 1.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 628.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.16 4.85 2.33 และ 1.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่อาเซียนลดลงร้อยละ 2.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
3. แนวโน้ม
ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนธันวาคม 2557 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดในประเทศเริ่มฟื้นตัวขึ้น และการส่งออกไปตลาดอาเซียนและสหรัฐอเมริกาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออก IC ที่มีการขยายตัวตามความต้องการในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--