สศอ. เผยอนาคตอุตสาหกรรมไทยหลังการปฏิรูป เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น คาดขยายตัวได้ ๓-๔% และกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 27, 2015 11:14 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดงาน OIE Forum ๒๕๕๗ ภายใต้แนวคิด “ปฏิรูปอุตสาหกรรม : ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย” เปิดมุมมองคาดการณ์อนาคตเศรษฐกิจไทยหลังการปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยหวังกระตุ้นให้ทุกภาคอุตสาหกรรมปรับตัวให้สอดรับกับเศรษฐกิจยุคใหม่ ยกระดับขีดความสามารถ ในการแข่งขันอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในปี ๒๕๕๘

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวโน้มอนาคต เศรษฐกิจไทยหลังการปฏิรูปอุตสาหกรรม ในงาน OIE Forum ๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ว่า การปฏิรูปอุตสาหกรรมของไทย จะต้องพิจารณา ๓ ประเด็นหลักๆ คือ วุฒิภาวะอุตสาหกรรม การเชื่อมต่อในอุตสาหกรรม และความยั่งยืนของอุตสาหกรรม โดยในประเด็นแรก วุฒิภาวะอุตสาหกรรม พิจารณาจากส่วนต่างๆ คือ ๑. นโยบายภาครัฐเป็นอย่างไร ซึ่งในปัจจุบันนโยบายภาครัฐ ของไทยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากแต่มีนโยบายเพิ่มเติมให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงเวลา ที่ผ่านมาก็มีบางนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ เช่น นโยบายรถคันแรก ที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงตลาด ๒. กฎระเบียบที่รองรับกิจการอุตสาหกรรม ในปัจจุบันยังคงมีปัญหา เพราะถึงแม้ว่าจะมีการแก้ไขบ้างแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกได้มากนัก ซึ่งต้องแก้ไขด้วยกระบวนการ เช่น กฎหมายแร่ และกฎหมายของสมอ ๓. สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน โดยปัจจุบันถ้าสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานของประเทศ ไม่สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมได้ทัน อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม แต่ในปัจจุบันสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆ ดีขึ้น แต่ยังต้องมีการเพิ่มเติมในเรื่องต่างๆ เช่น รถไฟรางคู่ ซึ่งหากเปรียบเทียบสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่าประเทศไทยมีการพัฒนาได้ดีกว่าประเทศ เพื่อนบ้าน จะตามหลังอยู่เพียงมาเลเซีย และสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามก็มีบางเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ลำบาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับด้านอื่นๆ เช่น ปัญหาท่าเรือ และศุลกากร ๔. ความเข้มแข็งของธุรกิจ อุตสาหกรรมจะปฏิรูปได้ ภาคธุรกิจต้องมีความเข็มแข็ง ซึ่งปัจจุบันธุรกิจไทยก็จัดได้ว่ามีความเข้มแข็ง เนื่องจากมีประสบการณ์ทางธุรกิจ มา ๔๐ ถึง ๕๐ ปี และมีผู้บริหารที่มีความสามารถ

ประเด็นที่สอง การเชื่อมต่อในอุตสาหกรรม (Connectivity) ต้องพิจารณา Supply Chain ของภาค- อุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของภาคเกษตร อุตสาหกรรมสนับสนุน และ Digital Economy ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อม ภาคการผลิตไปสู่ภาคการค้าหรือภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ

ประเด็นที่สาม ความยั่งยืนของอุตสาหกรรม ซึ่งมีปัจจัยกำหนด ๔ ประการ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมยั่งยืนต่อไปได้ คือ ๑. มีนวัตกรรมใหม่ๆ อุตสาหกรรมจะยั่งยืนได้จำเป็นต้องมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ หรือมีการสร้างสินค้าในรูปแบบใหม่มาขาย ๒. มีการวิจัยและพัฒนา อุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการวิจัยพัฒนาตลอด เนื่องจาก เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นอุตสาหกรรมบางอย่างกลายเป็นล้าสมัย ซึ่งถ้าอุตสาหกรรมไทยขาดการวิจัยและพัฒนาหรือนวัตกรรมใหม่อาจจะทำให้อุตสาหกรรมมีช่วงอายุอยู่สั้น ๓. สิ่งแวดล้อมปลอดภัย ถ้าอุตสาหกรรมทำให้สิ่งแวดล้อมมีปัญหา ก็ไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศให้ความสำคัญ และ ๔. การอยู่ร่วมกันในสังคม ภาคประชาสังคมและอุตสาหกรรมต้องเข้าใจและ อยู่ร่วมกันได้อุตสาหกรรมจึงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐได้เริ่มมีการปรับวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ปรับเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่เฉพาะแต่ AEC เท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการเชื่อมโยงกับประเทศจีน การเชื่อมโยงตามแนวเหนือ-ใต้ ตลอดจนระเบียงเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตกอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าภายในปีนี้จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ และปีหน้าเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ ๓-๔ และกำลังซื้อ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อีกทั้ง ประเทศไทยแม้เคยเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจนักลงทุนในต่างประเทศ แต่สิ่งนั้นอาจจะกำลังหมดไป เนื่องจากคู่แข่งมีพัฒนาได้ใกล้เคียงกับไทย และยุทธศาสตร์ของนักลงทุนต่างประเทศ มีการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้น การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยจึงเป็นสิ่งจำเป็น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ