สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ภาพรวม 10 เดือนแรก ปี 2557 หดตัวร้อยละ 5.1 ด้านดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2557 หดตัวน้อยลงร้อยละ 2.9 ซึ่งอุตสาหกรรมที่ทำให้ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ซึ่งมีฐานที่สูง ในปีก่อนหน้า เครื่องประดับ ที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก การกลั่นน้ำมัน ลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ และเบียร์ ทั้งนี้ คาดการณ์ภาคอุตสาหกรรมจะมีการขยายตัวดีขึ้นในปี 2558 จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การฟื้นตัวของการลงทุน อุตสาหกรรมรถยนต์ปี 2557 ปรับฐานสู่ภาวะปกติ และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ภาพรวม 10 เดือนแรก ปี 2557 และคาดการณ์แนวโน้มปี 2558 สาขาที่สำคัญ มีดังนี้
อุตสาหกรรมรถยนต์ ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ ปี 2557 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยคาดว่า จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1,950,000 คัน ลดลงร้อยละ 20.64 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายรถยนต์ในประเทศประมาณ 850,000 คัน ลดลงร้อยละ 35.90 และการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ประมาณ 1,100,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.50 ส่วนปี 2558 คาดว่า การผลิตจะมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 10 หรือคิดเป็นปริมาณการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตภาพรวม ปี 2557 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1-2 โดยมาจากการขยายตัวในกลุ่มเครื่องปรับอากาศที่จะส่งออกไปตลาดหลักได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน สำหรับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มาจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Semiconductor และ IC จะเพิ่มขึ้นจาก ความต้องการนำไปใช้ในอุปกรณ์สื่อสาร (Communications system) เช่น Smart Phone Tablet Bluetooth หน้าจอ Touch screen วีดีโอเกมส์ (เช่น Sony PS4 Microsoft Xbox) และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer electronics) รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น ส่วน HDD ในปี 2557 คาดว่าจะอยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ด้านแนวโน้มปี 2558 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-4 เนื่องจากมีปัจจัยบวกทางด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวของตลาดทีวีดิจิตอล ซึ่งจะส่งผลให้กำลัง-ซื้อของผู้บริโภคในประเทศฟื้นตัวได้ในปี 2558 นอกจากนี้ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปอาเซียนปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในอาเซียน และผู้บริโภคในประเทศอาเซียน เชื่อมั่นคุณภาพสินค้าไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทย ปี 2557 จะลดลงประมาณ ร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการใช้เหล็กอยู่ที่ 16.90 ล้านตัน การผลิต 6.19 ล้านตันลดลง ร้อยละ 10.00 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลให้ตลาดในประเทศชะลอตัว ขณะเดียวกันมีแนวโน้มการนำเข้าเหล็กจากประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ สำหรับสถานการณ์เหล็กในปี 2558 ในส่วนการผลิตจะทรงตัว คือ 6.19 ล้านตัน โดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศอยู่ในช่วงร้อยละ 0-3 ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ ความต้องการใช้เหล็กสูงขึ้น คือ การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เนื่องจากการก่อสร้างของภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่ เพราะผู้บริโภคชะลอการซื้อและลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมปี 2557 คาดว่าจะยังขยายตัวได้โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาอาจได้รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อในลีกกีฬาประเภทต่างๆ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัว สำหรับการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และผ้าผืน อาจหดตัว อย่างไรก็ตาม อาจมีความต้องการโดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้าย ประกอบกับการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มปี 2558 คาดว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมจะยังขยายตัวได้ทั้งภาคการผลิตและการส่งออก โดยในกลุ่มสิ่งทอ จะเป็นการผลิตเพื่อป้อนสู่ตลาดอาเซียนเป็นส่วนใหญ่
อุตสาหกรรมอาหาร ในภาพรวมการผลิตปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1-3 จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2558 คาดว่า จะขยายตัวประมาณร้อยละ 0-5 จากแนวโน้มเศรษฐกิจ ในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมไทย ปี 2558 คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ดีขึ้น จากแนวโน้ม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2558 การฟื้นตัวของการลงทุน การปรับฐานสู่ภาวะปกติของอุตสาหกรรมรถยนต์ปี 2557 และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งทำให้คาดการณ์ในปี 2558 GDP อุตสาหกรรมจะขยายตัวร้อยละ 2-3 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3-4
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--