สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2557)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 21, 2015 15:58 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 4 ปี 2557 เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวยกเว้นประเทศญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจหดตัว อันเป็นผลมาจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่มีเสถียรภาพอัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ 74.9 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ 106.9 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมีนาคม (ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558) อยู่ที่ 51.7 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ลดลง

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 โดยปัจจัยที่ทำให้ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 คือ การเพิ่มขึ้นของภาคนอกเกษตร ขณะที่ภาคเกษตรหดตัว ส่วนด้านอุปสงค์ปรับตัวดีขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากการลงทุนภาคเอกชนที่มีการขยายตัวทั้งด้านการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัวชะลอลงตามรายได้ภาคเกษตรที่ลดลงประกอบกับภาระหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นและการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง ส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชน รวมทั้งราคาสินค้าที่จำเป็น โดยเฉพาะหมวดอาหารบริโภค นอกบ้านที่ยังคงอยู่ในระดับสูงทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการจับจ่ายใช้สอยสำหรับการส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัว ประกอบกับการนำเข้าสินค้าและบริการยังคงหดตัวแม้ว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 0.7 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 2.9 โดยเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และเม็ดพลาสติกที่การผลิตขยายตัวดีตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมเบาเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น และการผลิตเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นตามความต้องการจากตลาดต่างประเทศ อุตสาหกรรมวัตถุดิบเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากอุตสาหกรรม เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์กระดาษที่ขยายตัวตามความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการของต่างประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.7 ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5

ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ทรงตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2556 ความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556 และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2556

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 การส่งออกกลับมาขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้ายังคงมีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 4 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 113,500.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 57,521.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 55,979.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 นั้น

มูลค่าการส่งออกลดลงเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 0.40 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 5.93 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 4 นี้ กลับมาเกินดุลการค้าอีกครั้ง โดยมีมูลค่า 1,542.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกและนำเข้ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.65 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 5.64

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทยการลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนมีมูลค่ารวม 46,421.1 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนตุลาคมมีมูลค่า 42,168.8 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 4,252.3 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 7,304.6 ล้านบาทและในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 8,111.5 ล้านบาทโดยการลงทุนรวมในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 54.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 33,803.7 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOl) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOl มีจำนวนทั้งสิ้น 465 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 423 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 4 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 300,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 228,000 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 169 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 133,900 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 105โครงการ เป็นเงินลงทุน 86,600 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 191 โครงการ เป็นเงินลงทุน 80,300 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 156,900 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดบริการ และสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 73,200 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรม และผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 21,000 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 113 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 72,451 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 17 โครงการ มีเงินลงทุน 34,007 ล้านบาท ประเทศจีนมีจำนวน 12 โครงการที่ได้รับอนุมัติซึ่งมีเงินลงทุน 16,372 ล้านบาท และประเทศฝรั่งเศสมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 5 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 10,506 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาส 4/2557 มีปริมาณการผลิต 1,529,049 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 1.82 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลจากการลดลงของเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 7.24 แต่เหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.43 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อจนถึงช่วงต้นปี 2557 และเริ่มคลี่คลายในประมาณกลางปี ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในช่วงครึ่งปีแรกลดลง

คาดการณ์ว่าสถานการณ์เหล็กในปี 2558 ในส่วนการผลิตจะทรงตัวคือ 6.79 ล้านตัน โดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศอยู่ในช่วง 0-3% ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ความต้องการใช้เหล็กสูงขึ้นคือ การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เนื่องจากการก่อสร้างของภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่ เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อและลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์

ยานยนต์ อุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2557หดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยการผลิตหดตัวร้อยละ 23.49 ส่วนการส่งออกทรงตัว หากพิจารณาอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกับของปีที่ผ่านมาพบว่าในส่วนของการผลิตการจำหน่ายและการนำเข้า หดตัว ส่วนการส่งออกขยายตัวในประเทศแถบยุโรป โอเชียเนีย และอเมริกาเหนือ กลาง และใต้

อุตสาหกรรมรถยนต์ปี 2558 คาดว่า การผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.36 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 1,000,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.43 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.94 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 270.14 ลดลงร้อยละ 5.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจากการชะลอตัวของเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และภาวะการผลิตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 0.65 โดยเป็นผลจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลงอย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมไฟฟ้าได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในไตรมาส 4/2557 การใช้จ่ายในประเทศเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้น

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2558 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 -1 ตามความต้องการของตลาดกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มการขยายตัวจะไม่สูงมากเท่ากับปีที่ผ่านมาสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งด้านการลงทุน/การเร่งการใช้จ่ายของรัฐบาลนอกจากนี้การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปที่ยังมีความเปราะบางค่อนข้างสูง

เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนกำลังซื้อในประเทศที่หดตัวจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและภาวะภัยแล้ง มีผลต่อเนื่องต่อความต้องการใช้ปุ๋ยและเคมีภัณฑ์

เคมีภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเร่งรัดโครงการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านและการลงทุนของภาคเอกชน

พลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 4 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนพบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก ลดลงร้อยละ 3.74 และดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ 1.14 ทั้งนี้ เนื่องจาก ไตรมาส 4 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกลดลงทำให้ผู้ประกอบการพลาสติกชะลอการผลิตลงเพราะคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

การปรับตัวของราคาน้ำมันที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก ศักยภาพในการผลิตน้ำมันของสหรัฐอเมริกามีประสิทธิภาพขึ้นส่งผลให้สามารถผลิตน้ำมันได้เพิ่มมากขึ้นและความก้าวหน้าของประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะจากสาเหตุดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาเม็ดพลาสติกที่มีวัตถุดิบตั้งต้นคือน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ ในปีหน้า

ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2557 อัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าเกิดจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตในประเทศทำให้ลดการนำเข้าจากต่างประเทศลง รวมทั้งประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยมีการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องและเริ่มเปิดดำเนินการไปบ้างแล้วทำให้ลดการพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากไทยลงอย่างไรก็ตามปัจจัยเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริการวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2558 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของ GDP และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ยังคงเปราะบางรวมถึงการผันผวนของราคาน้ำมัน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิตไตรมาส 4 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก ลดลง ร้อยละ 4.73 5.92 และ 5.15 ตามลำดับ เนื่องจากมีการส่งมอบสินค้าเพื่อรองรับความต้องการช่วงเทศกาลปีใหม่ในช่วงไตรมาสก่อนและอยู่ในช่วงรอคำสั่งซื้อรอบถัดไป สำหรับกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.44 เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อให้มีสินค้าคงคลังเพียงพอต่อความต้องการในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ส่วนกระดาษพิมพ์เขียนอยู่ในภาวะคงตัว

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ปี 2558 คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รวมถึงการส่งออก กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อาจขยายตัวได้ตามความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการส่งออกที่จะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ การขยายตัวของเศรษฐกิจในอาเซียนประกอบกับมีการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการกลุ่มกระดาษและบรรจุภัณฑ์ของไทยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์

          เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2557 ลดลงทั้ง 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยกระเบื้องปูพื้น         บุผนัง มีปริมาณการผลิต 35.64 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 13.89 และ 1.44 ตามลำดับ เช่นเดียวกับเครื่องสุขภัณฑ์ที่มีปริมาณการผลิต 1.85 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.15 และ 9.31 ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศลดลง ประกอบกับการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพื่อส่งออกลดลงตามไปด้วย

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2558 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตามภาวะหนี้ครัวเรือนในระดับสูง และรายได้ภาคเกษตรที่ตกต่ำ จะส่งผลให้การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านต้องชะลอออกไปอีกระยะหนึ่ง จึงทำให้การขยายตัวของตลาดเซรามิกที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างอาจไม่สูงมากนัก

ปูนซีเมนต์การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.35 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.08 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 1.14 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.53 สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 1.07 และ 3.44 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากภาคก่อสร้างของไทยยังไม่ขยายตัวมากเท่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นจนทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงอย่างไรก็ตาม คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเมียนมาร์ ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยยังสามารถดำเนินการผลิตได้ในปริมาณที่สูงตามปกติ

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายขยายเส้นทางรถไฟรางคู่และรถไฟฟ้าสายต่างๆในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงการลงทุนโครงการอื่นๆ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจะนำความเจริญไปสู่เขตพื้นที่ใหม่ที่ยังมีราคาที่ดินไม่สูงมากนักเหมาะแก่การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนโดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมตามบริเวณแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในอนาคตอันใกล้นี้

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลุ่มสิ่งทอ การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 4 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการผลิตกลุ่มเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น จากคำสั่งซื้อทั้งตลาดภายในและต่างประเทศโดยเฉพาะคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอาเซียน ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกและการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากเนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพการตัดเย็บและคุณภาพวัตถุดิบผ้าที่ได้มาตรฐานสากลสำหรับกลุ่มสิ่งทอการผลิตลดลงเล็กน้อย

ไตรมาส 1 ปี 2558 คาดว่าจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าของไทยโดยผู้ผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มและผู้นำเข้าหลายรายเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและ มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้นำเข้าบางรายเริ่มมีคำสั่งซื้อกับประเทศคู่แข่งได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากกลุ่มสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีการผลิตในหลายประเทศในอาเซียนและคุณภาพผลผลิตใกล้เคียงกับไทยซึ่งผู้ซื้อสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ทดแทนได้

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในไตรมาส 4 ปี 2557 มีปริมาณการผลิต 1.89 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.55 และ 10.85 ตามลำดับ สำหรับภาพรวมในปี 2557 มีปริมาณการผลิต 7.67 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.13 ซึ่งการผลิตที่ลดลงนั้นเป็นไปตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ หดตัวลงอันเนื่องมาจากค่าครองชีพและหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 1 ปี 2558 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาค่าครองชีพและหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งราคาพืชผลเกษตรตกต่ำต่อเนื่อง อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง

ยา การผลิตยาในประเทศไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 6,484.85 ตันเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.33 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยคิดเป็นร้อยละ 1.99 ในภาพรวมอุตสาหกรรมยามีการขยายตัวที่ดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐจำกัดงบประมาณในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการโดยกำหนดให้สามารถเบิกจ่ายได้เฉพาะค่ายาที่มีราคาถูกที่สุดในชนิดยาเดียวกันเท่านั้นทำให้มีการผลิตยาชื่อสามัญในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้ายาที่มีราคาแพงจากต่างประเทศมากขึ้น

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยาในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยาในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น

ยางและผลิตภัณฑ์ยางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศทั้งปี 2557 ชะลอตัวลงเนื่องจากสัญญาณชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศชะลอตัวลงเนื่องจากตลาดรถยนต์ยังไม่เติบโตเท่าที่ควรซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยทั้งภาพรวมเศรษฐกิจหรือจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปจำนวนมากในปีก่อนส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ชะลอตัวลงตามไปด้วยอย่างไรก็ตามในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ และอุตสาหกรรมถุงมือยาง/ถุงมือตรวจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 อุตสาหกรรมยางล้อในประเทศคาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศและในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และภาคอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ไตรมาส 4 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การฟอกและตกแต่งหนังฟอกปรับตัวลดลง การผลิตกระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้า อีกทั้งสินค้าปลายน้ำ เช่น เบาะรถยนต์ ชะลอตัวตามการบริโภครถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ที่เกิดจากปัญหาโครงการรถยนต์คันแรก และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงสำหรับการผลิตรองเท้ามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากยอดขายรองเท้าในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่กำลังซื้ออยู่ในภาวะซบเซาอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มปี 2558 คาดว่า การผลิตและการส่งออกรองเท้า จะเพิ่มขึ้นกว่าปี 2557 เนื่องจากการฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญเช่น สหรัฐอเมริกาสำหรับการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด คาดว่า จะสามารถขยายตัวได้จากความต้องการใช้สินค้าต่อเนื่อง เช่น เบาะรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้ง คาดการณ์ว่า หากจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2558 เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้เครื่องหนังจำพวกกระเป๋าและรองเท้ามียอดขายเพิ่มขึ้นประกอบกับเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2557 ภาคการผลิตและการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 7.24 และ 7.08 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในส่วนการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากมูลค่าสินค้าได้ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 3.70 สะท้อนถึงการส่งออกสินค้าจากสต๊อกทดแทน

การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2558 คาดว่า จะทรงตัวเนื่องจากผู้ประกอบการยังคงเน้นที่จะส่งออกสินค้าจากสต๊อกทดแทนการผลิต โดยจะมีการผลิตชดเชยสต๊อกบ้างบางส่วน การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2558 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปได้เพิ่มขึ้น

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารหากไม่นับรวมการผลิตน้ำตาลอยู่ในช่วงปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10.14 หากรวมน้ำตาลการผลิตในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 11.82 ส่วนการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากค่าเงินบาทอ่อนค่าซึ่งเกิดจากการยกเลิกการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและบางส่วนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักที่ซบเซาเริ่มฟื้นตัว

แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2558 คาดว่า ในภาพรวมการผลิตจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0-5 ในระดับเดียวกันของปี 2557 จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นและการส่งออกจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ -2.5-2.5 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลักเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีการฟื้นตัวขึ้นบ้างหลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ต่างประเทศและเศรษฐกิจถดถอยอย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบจากความรุนแรงในยูเครนที่ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งของสหภาพยุโรปและรัสเซียส่วนสหรัฐอเมริกาต้องติดตามผลจากการลดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่อาจส่งผลให้กำลังซื้อลดลงและติดตามระดับความรุนแรงของการก่อการร้ายในประเทศต่างๆ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ