ภาพรวมเศรษฐกิจโลก
ในไตรมาส 4 ปี 2557 เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวยกเว้นประเทศญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจหดตัว อันเป็นผลมาจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่มีเสถียรภาพอัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง
ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ 74.9 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ 106.9 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคายังคงอยู่ในช่วง 50 USD/Barrel สำหรับราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมีนาคม (ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558) อยู่ที่ 51.7 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯลดลง
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปี 2557 ยังคงขยายตัว อันเนื่องมาจากการลงทุนของภาคเอกชน การจ้างงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ
ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯในไตรมาส 4 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เท่ากับไตรมาส 4 ปี 2556 การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 6.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 92.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 74.0
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 106.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 101.3
การส่งออกและนำเข้าการส่งออกไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.2
อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 เท่ากับไตรมาส 4 ปี 2556 อัตราการว่างงานไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.7 อัตราการว่างงานมีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ด้านการเงินมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 27 - 28 มกราคม 2558 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0 - 0.25 อย่างน้อยจนถึงกลางปี 2558 เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเพิ่มการจ้างงาน
เศรษฐกิจจีน
เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4 ปี 2557 ยังคงขยายตัว อันเป็นผลมาจากมูลค่าการค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
ภาวะเศรษฐกิจของจีนในไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 7.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 มูลค่าการค้าปลีกในไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 11.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 13.5 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 15.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 20.0 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 104.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 101.4
การผลิตภาคอุตสาหกรรมดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 7.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.0
การส่งออกและนำเข้าการส่งออกไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 8.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2557 หดตัวร้อยละ 1.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 การนำเข้าที่หดตัวเป็นผลมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงโดยเฉพาะสินแร่และน้ำมัน
อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.9 เนื่องจากราคาพลังงานโลกลดลงอย่างมาก อัตราการว่างงานไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เท่ากับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางจีน (People,s Bank of China) ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 5.6 นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio : RRR) ร้อยละ 0.5 ของเงินฝากธนาคาร เป็นร้อยละ 19.5 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดจากภาวะชะลอตัว เป็นการสนับสนุนภาคธนาคารให้ปล่อยกู้ได้มากขึ้นซึ่งจะทำให้เม็ดเงินไหลสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และธุรกิจรายย่อยที่อยู่ในชนบท รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการน้ำ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ และได้มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ธนาคารขนาดใหญ่ของรัฐ จำนวนเงิน 500,000 ล้านหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเกิดความกังวลว่าจีนจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวราคาน้ำมันตกต่ำและอุปสงค์ในประเทศของจีนที่ชะลอตัวรวมไปถึงความกังวลเรื่องหนี้สาธารณะและฟองสบู่ที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน
เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น
เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 2557 ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนในภาคก่อสร้างลดลง และในไตรมาส 4 ปี 2557 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงหดตัวต่อเนื่อง
ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP หดตัวร้อยละ 1.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 2557 หดตัวร้อยละ 2.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ในเดือนเมษายน 2557 ยังคงส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาสนี้ด้วยการลงทุนในภาคก่อสร้างไตรมาส 3 ปี 2557 หดตัวร้อยละ 12.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 38.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 41.3
การผลิตภาคอุตสาหกรรมดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 98.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.6
การส่งออกและนำเข้าการส่งออกไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 9.1 ลดลงเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 4 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 17.4 การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 24.1
อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปี 2557 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.4 เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนส่งผลให้ต้นทุนพลังงานเพิ่มสูงขึ้นทำให้ราคานำเข้าเชื้อเพลิงและวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้นอัตราการว่างงานไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.9
สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.1 รวมถึงการมีมติคงนโยบายผ่อนคลายการเงินและขยายโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อกระตุ้นสถาบันการเงินให้เพิ่มการปล่อยสินเชื่อ
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป
เศรษฐกิจสหภาพยุโรปไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัว และในไตรมาส 4 ปี 2557 คาดว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากการบริโภคที่ขยายตัว แต่อัตราการว่างงานก็ยังคงอยู่ในระดับสูง
ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 การบริโภคไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4
การผลิตภาคอุตสาหกรรมดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 103.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 102.1 สำหรับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 103.7
การส่งออกและนำเข้าการส่งออกไตรมาส 3 ปี 2557 หดตัวร้อยละ 1.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคมขยายตัวร้อยละ 2.7 การนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 6.5 สำหรับการนำเข้าในเดือนตุลาคม ขยายตัวร้อยละ 0.1
อัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.8 อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลจากราคาพลังงานโลกที่ลดลง อัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 10.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10.9 อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง
สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.05 และออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยซื้อสินทรัพย์ในวงเงิน 1.1 ล้านล้านยูโรเป็นการซื้อหลักทรัพย์ของภาคธุรกิจและรัฐบาลเพื่อช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค
เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญในเอเชีย
เศรษฐกิจฮ่องกง
เศรษฐกิจฮ่องกง ในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 1.8 จากการบริโภคของภาคเอกชนที่ปรับขยายตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามการลงทุนโดยรวมยังหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง
ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกงในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 1.8 โดยได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ปรับขยายตัวดีขึ้นอย่างไรก็ตามการลงทุนโดยรวมยังหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 99.4 หดตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การส่งออกและนำเข้าการส่งออกไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่า 141,721 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฮ่องกง (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของฮ่องกง) หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ที่ร้อยละ 2.6 ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ และอินเดียขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.9 และ 22.7 ตามลำดับด้านการนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่า 161,620 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมการค้าฮ่องกงขาดดุลการค้า 19,898 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ฮ่องกงเป็นประเทศที่ขาดดุลการค้ามาโดยตลอด
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 5.1 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 จากค่าสาธารณูปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อมาตรการอุดหนุนค่าไฟของรัฐบาลได้หมดลง ราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบที่สูงขึ้นตามการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบ รวมถึงราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ในไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 คงที่จากในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีการจ้างงานโดยรวมและจำนวนกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
เศรษฐกิจเกาหลีใต้
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.2 ตามการหดตัวของการส่งออกสินค้าที่แท้จริง และการลงทุนในภาคการก่อสร้าง ขณะที่การบริโภคภายในประเทศยังคงอ่อนแรง
ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในไตรมาส 4 ปี 2557 GDP ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.2 ตามการหดตัวของการส่งออกสินค้าที่แท้จริง รวมถึงการลงทุนในภาคการก่อสร้าง ขณะที่การบริโภคภายในประเทศแม้จะยังขยายตัวแต่ก็เป็นไปในทิศทางที่ชะลอลงทั้งการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ถึงแม้จะได้รับแรงกระตุ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเดือนสิงหาคมและตุลาคม 2557 และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแต่ก็ยังคงขยายตัวในทิศทางที่ชะลอลง เช่นเดียวกันกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่ชะลอลงในไตรมาสนี้ตามรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ลดลง
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 110.1 หดตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีฯ ในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2557 หดตัวร้อยละ 3.3 และ 3.7 ตามลำดับ และกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนธันวาคม 2557 ที่ร้อยละ 0.2 การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวตามการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงอ่อนแรง
การส่งออกและนำเข้าการส่งออกไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่า 148,106 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการส่งออกไปตลาดอันดับหนึ่งอย่างจีน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.5 ของการส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้) ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.5 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่า 129,436 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมการค้าเกาหลีใต้เกินดุลการค้า 18,670 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ลดลงจากในไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาลในเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากในเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.4 โดยจำนวนแรงงานที่ได้รับการจ้างงานยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการจ้างงานในภาคบริการที่เพิ่มขึ้น
สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 2.00 หลังจากที่ในช่วงปี 2557 มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วสองรอบคือในช่วงเดือนสิงหาคมและตุลาคม 2557 ทาให้อัตราดอกเบี้ยปรับลดจากร้อยละ 2.50 ในช่วงต้นปีมาอยู่ที่ร้อยละ 2.00
เศรษฐกิจสิงคโปร์
เศรษฐกิจสิงคโปร์ ในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาคการบริการที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ตามการเติบโตของภาคการเงินและการประกันภัย ขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวร้อยละ 1.9 จากการผลิตในกลุ่มไบโอเมดิคอล และกลุ่มเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามภาคการก่อสร้างขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7 จากกิจกรรมการก่อสร้างของภาคเอกชนที่ชะลอตัว
ภาวะเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากภาคการบริการที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ตามการเติบโตของภาคการเงินและการประกันภัย ขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวร้อยละ 1.9 จากการผลิตในกลุ่มไบโอเมดิคอล และเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.7 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 3.7 จากกิจกรรมการก่อสร้างของภาคเอกชนที่ชะลอตัว
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 105.4 หดตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตในกลุ่มวิศวกรรมเครื่องมือวัด วิศวกรรมขนส่ง เคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มไบโอเมดิคอลที่หดตัว
การส่งออกและนำเข้าการส่งออกไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 104,535 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักหดตัวอาทิมาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.1 5.1 7.5 และ 4.4 สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2557 หดตัวร้อยละ 9.3 และ 6.4 ตามลำดับ ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 91,356 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2557 หดตัวร้อยละ 7.6 และ 14.4 ตามลำดับ ภาพรวมการค้าในช่วงตุลาคม และพฤศจิกายน 2557 สิงคโปร์เกินดุลการค้า 8,491 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ -0.1 ลดลงจากในไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.9 อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ -0.2 จากต้นทุนค่าขนส่งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย รวมถึงราคาเครื่องแต่งกายที่ปรับตัวลดลง อัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ลดลงจากในไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.0 อัตราการว่างงานของสิงคโปร์ทรงตัวยังอยู่ในระดับต่าสะท้อนภาวะตึงตัวของตลาดแรงงาน
เศรษฐกิจอินโดนีเซีย
เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในไตรมาส 4 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการลงทุนในภาคการก่อสร้าง และการบริโภคของรัฐที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังถูกฉุดรั้งจากการส่งออกสินค้าที่แท้จริงที่หดตัว
ภาวะเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในไตรมาส 4 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 4.9 เศรษฐกิจอินโดนีเซียทรงตัวอยู่ในช่วงระดับร้อยละ 5 มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 โดยในไตรมาสนี้ได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการลงทุนในภาคการก่อสร้างและการบริโภคของภาครัฐที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังทรงตัวโดยขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังถูกฉุดรั้งจากการส่งออกสินค้าที่แท้จริงที่หดตัวตามความต้องการของตลาดซึ่งยังอ่อนแรงและราคาสินค้าตกต่ำ รวมถึงฐานเปรียบเทียบที่สูงจากการเร่งการส่งออกสินค้าแร่ขั้นต้นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2556
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 122.0 ขยายตัวร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ดัชนีฯ ในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 8.3 และ 7.8 ตามลำดับ ภาคการผลิตของอินโดนีเซียมีทิศทางขยายตัวเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 เป็นต้นมา
การส่งออกและนำเข้าการส่งออกไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่า 43,586 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกของอินโดนีเซียยังคงอ่อนแรง ด้านการนำเข้าในไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่า 43,804 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมการค้าอินโดนีเซียขาดดุลการค้า 218 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 6.5 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.4 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2557 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 8.4 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าที่ธนาคารกลางคาดการณ์ไว้ เนื่องจากราคาอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวและพริกมีความผันผวน
สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.75 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้เข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้ซึ่งอยู่ในช่วงร้อยละ 3-5 ในปี 2558 รวมถึงช่วยลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดให้มีการปรับตัวดีขึ้น
เศรษฐกิจมาเลเซีย
เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 5 .6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของภาคบริการ ภาคการผลิตและการส่งออก
ภาวะเศรษฐกิจของมาเลเซียในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวลดลงจากในไตรมาส 2 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.5 โดยภาคบริการขยายตัวร้อยละ 6.1 ในขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวร้อยละ 5.3 จากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 อาหารเครื่องดื่ม และยาสูบ ขยายตัวร้อยละ 8.4
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 115.7 ขยายตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ดัชนีฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ระดับ 118.4 ขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของภาคการผลิต เหมืองแร่และไฟฟ้า
การส่งออกและนำเข้าการส่งออกไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 59,375 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดส่งออกสำคัญที่มีการขยายตัว ได้แก่ สิงคโปร์ สหรัฐฯ และอินเดีย ที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 10.6 และ 53.8 ตามลำดับ ส่วนตลาดส่งออกสำคัญอย่างจีนหดตัวร้อยละ 13.7 สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม 2557 หดตัวร้อยละ 5.9 ด้านการนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 54,116 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมการค้าในไตรมาส 3 ปี 2557 มาเลเซียเกินดุลการค้า 5,259 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการนำเข้าเดือนตุลาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ 5.4
อัตราเงินเฟ้อสำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน ธันวาคม ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ที่ขยายตัวร้อยละ 10.6 รวมทั้งการขนส่ง ที่อยู่อาศัย น้ำ ไฟฟ้า ก๊าซและเชื้อเพลิงอื่นๆ ส่วนอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั้งปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 3.2
สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 ธนาคารกลางมาเลเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบข้ามคืนไว้ที่ร้อยละ 3.25
เศรษฐกิจฟิลิปปินส์
เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวขึ้นจากในไตรมาส 3 ปี 2557 เป็นผลมาจากการบริโภคของภาคเอกชนและการส่งออกที่ขยายตัว
ภาวะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในไตรมาส 4 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 3 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.1 ปัจจัยหลักมาจากการบริโภคของภาคเอกชน
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 189.3 ขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 206.1 ขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การส่งออกและนำเข้าการส่งออกไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 16,785 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปตลาดสำคัญยังคงขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 30.5 28.5 31.1 และ 19.3 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 16,762 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนตุลาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ 10.8 ภาพรวมการค้าในไตรมาส 3 ปี 2557 ฟิลิปปินส์เกินดุลการค้า 23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม ปี 2557 อัตราเงินเฟ้อขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.7
สถานการณ์ด้านการเงินในวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Reverse Repurchase Rate ไว้ที่ร้อยละ 4.0
เศรษฐกิจอินเดีย
เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากการผลิตและการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจของอินเดียในไตรมาส 3 ปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวขึ้นจากในไตรมาส 2 ปี 2557 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.9 เป็นผลมาจากการผลิตและส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ระดับ 170.5 ขยายตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์อย่างไรก็ตามดัชนีฯในเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ระดับ 169.8 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การส่งออกและนำเข้าการส่งออกไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 81,068 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 14.8 และตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอาหรับฯขยายตัวร้อยละ 11.7 ในขณะที่การส่งออกไปจีนหดตัวลงร้อยละ 16.6 สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม 2557 หดตัวร้อยละ 7.3 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 3 ปี 2557 มีมูลค่า 120,612 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนตุลาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ภาพรวมการค้าในไตรมาส 3 ปี 2557 อินเดียขาดดุลการค้า 13,866 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปี 2557 ดัชนีราคาผู้บริโภคขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวลดลงจากไตรมาส 3 ปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 โดยเพิ่มขึ้นจากราคาของค่าอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค ไฟฟ้า เครื่องแต่งกายในทุกหมวดที่เพิ่มขึ้น
สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ธนาคารกลางอินเดียได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (repurchase rate) ลงจากร้อยละ 8.00 เหลือร้อยละ 7.75 เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--