สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2557)(อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 22, 2015 17:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 270.14 ลดลงร้อยละ 5.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการชะลอตัวของเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และภาวะการผลิตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 0.65 โดยเป็นผลจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมไฟฟ้าได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในไตรมาส 4/2557 การใช้จ่ายในประเทศเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้น

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 276.10 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 1.17 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในช่วงครึ่งแรกของปีก่อนจากการที่ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ภาวะการผลิตดีขึ้นจากกำลังซื้อในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมา สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.77 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการ IC และ Semiconductor เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการนำไปใช้ในอุปกรณ์สื่อสาร ขณะที่การผลิต HDD ลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากความต้องการ HDD ที่มีความจุมากขึ้นในการนำไปใช้ใน Cloud Storage และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตจะไม่มากเท่าเดิม แต่ราคาต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้น

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2557 มีมูลค่า 14,419.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.31 2.84 1.42 และ 14.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2557 มีมูลค่า 55,727.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.33 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.02 5 5.91 และ 6.60 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นจีนปรับตัวลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ในปี 2558 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะมีการปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 1-2 โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 -1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามความต้องการของตลาดกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มการขยายตัวจะไม่สูงมากเท่ากับปีที่ผ่านมา สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศ จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งด้าน การลงทุน/การเร่งการใช้จ่ายของรัฐบาล นอกจากนี้การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปยังมี ความเปราะบางค่อนข้างสูง

การผลิต

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 270.14 ลดลงร้อยละ 5.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมาจากกลุ่ม

อุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีการปรับลดลงถึงร้อยละ 6.02 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 5.61 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจาก ได้มีการเร่งผลิตไปก่อนหน้าแล้ว เพื่อนำไปใช้ผลิตสินค้าสำหรับจำหน่ายในช่วงปลายปี

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.51 โดยเป็นการปรับตัวลดลงของ HDD ร้อยละ 3.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ Semiconductor, Monolithic IC, Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 10.41 และ 7.65 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในอุปกรณ์สื่อสารมากขึ้น

ภาวะการผลิตในปี 2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 276.10 เพิ่มขึ้นร้อยละ0.41 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 137.34 ลดลงร้อยละ 1.17 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากในช่วงต้นปีกำลังซื้อในประเทศลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 2.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2557 ดัชนีผลผลิตเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ เครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่มีการปรับตัวลดลง คือ ตู้เย็น คอมเพรสเซอร์ เครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 10.14 4.14 และ 1.50 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศมีการใช้จ่ายลดลง และตลาดส่งออกชะลอตัวลง ขณะที่เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยส์ยูนิต และ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.56 และ 6.27 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 1)

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 354.81 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.77 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน คือ Monolithic IC Other IC และ Semiconductor เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.45 8.81 และ 8.93 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนใน Smartphone ที่มีการจำหน่ายในตลาดโลกมากถึง 1,279 1ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับปีก่อน และ Tablet มีการจำหน่ายในตลาดโลก 229.6 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้มีการนำไปใช้ในอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ เช่น Bluetooth หน้าจอ Touch Screen และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องรวมถึงในอุตสาหกรรมยานยนต์มี การเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรม HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.82 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการใช้ในคอมพิวเตอร์ลดลง แต่มีการผลิต HDD ที่มีความจุมากขึ้นสำหรับนำไปใช้ใน Cloud Storage ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านวิดิทัศน์ ภาพ/เสียง , External HDD มากขึ้น ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตจะไม่มากเท่าเดิม แต่ราคาต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากภาวะตลาด Semiconductor ของโลก ซึ่งรายงานโดย Semiconductor Industry Association 2 (SIA) พบว่ามูลค่าการจำหน่าย Semiconductor ทั่วโลกในปี 2557 มีมูลค่า 335.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นตันมา ภูมิภาคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 รองลงมาคือ เอเชียแปซิฟิก สหภาพยุโรป และ ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 7.4 และ 0.1 ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ของ Semiconductor โดยเฉพาะกลุ่ม DRAM เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึงร้อยละ 34.7 รองลงมาคือ Memory , Power transistor, Discrete, Analog และ Logic เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 16.1 10.8 10.6 และ 6.6 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในไตรมาส 4/2557 ส่วนใหญ่มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิตเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ พัดลม ไมโครเวฟ ตู้เย็น หม้อหุงข้าว เครื่องรับโทรทัศน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.18 4.62 4.23 7.35 12.64 4.93 1.23 และ 26.53 ตามลำดับ

การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในปี 2557 สำหรับกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน คือ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยส์ยูนิต กระติกน้ำร้อน และหม้อหุงข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.74 4.26 4.94 และ 4.39 ตามลำดับ ยกเว้นคอมเพรสเซอร์ พัดลม เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ ลดลงร้อยละ 2.44 1.60 2.56 11.58 5.29 และ 13.96 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 2) การส่งออก

การส่งออกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาส 4/2557 โดยรวมมีมูลค่า 14,419.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.31 2.84 1.42 และ 14.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้น ญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 3)

การส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในไตรมาส 4/2557 มีมูลค่า 5,936.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.12 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกไปตลาดอาเซียน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.39 และ 22.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ส่วนการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่า 8,483.08 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปตลาดหลักทุกตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.10 9.99 3.97 10.32 และ 8.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

การส่งออกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2557 โดยรวมมีมูลค่า 55,727.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.33 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.02 5 5.91 และ 6.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้น จีน ปรับตัวลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกอุตสาหกรรมไฟฟ้าในปี 2557 มีมูลค่า 23,481.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.03 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ได้แก่ อาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.11 0.66 22.17 และ 0.45 เมื่อเทียบกับ ปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้น สหภาพยุโรป ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.44 เมื่อเทียบกับปีก่อนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่า 3,979.21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.61 เมื่อเทียบกับปีก่อน (โดยการส่งออกไปตลาดอาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.63 4.94 และ 36.68 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ) 2) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก socket) มีมูลค่า 2,620.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.66 เมื่อเทียบกับปีก่อน (โดยการส่งออกไปตลาดอาเซียนและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.95 และ 18.58 เมื่อเทียบกับปีก่อน) 3) กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอ ภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆ มีมูลค่า 1,825.76 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 11.96 เมื่อเทียบกับปีก่อน (โดยการส่งออกไปตลาดหลักลดลงเกือบ ทุกตลาด โดยเฉพาะสหภาพยุโรปลดลงถึงร้อยละ 24.27 เมื่อเทียบกับ ปีก่อน ยกเว้นอาเซียนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.44 เมื่อเทียบกับปีก่อน)

การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2557 มีมูลค่า 32,246.25 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.56 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยส่งออกไปอาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.94 9.02 และ 15.88 เมื่อเทียบกับปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่า 18,162.57 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.30 เมื่อเทียบกับปีก่อน (ตลาดหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.13 35.35 และ 0.70 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ) 2) วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี มีมูลค่า 7,790.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.93 เมื่อเทียบกับปีก่อน (ตลาดหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.60 12.65 และ 7.02 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ) 3) เครื่องส่ง-เครื่องรับวิทยุโทรเลข วิทยุโทรศัพท์ เครื่องเรดาห์ มีมูลค่า 1,424.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.50 เมื่อเทียบกับปีก่อน (การส่งออกไปตลาดหลักทุกตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.06 เมื่อเทียบกับปีก่อน) การนำเข้า

การนำเข้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2557 มีมูลค่า 12,067.57 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.83 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.62 1.08 14.05 9.76 และ 6.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยเมื่อพิจารณาแยกออกเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่าการนำเข้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในไตรมาส 4/2557 คิดเป็นมูลค่า 4,602.67 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน โดยมีการนำเข้าจากอาเซียนและจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.33 และ 14.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่า 7,464.90 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.82 5.88 13.71 14.83 และ 17.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 4)

มูลค่าการนำเข้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2557 มีมูลค่า 27,224.61ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.10 เมื่อเทียบกับปีก่อน (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 4) แหล่งนำเข้าหลักของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.97 7.79 0.85 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ

การนำเข้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในปี 2557 มีมูลค่า 17,646.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.39 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง คือ สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 0.46 1.69 6.66 และ 10.62 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่านำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก socket) มีมูลค่า 3,783.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.65 เมื่อเทียบกับปีก่อน 2) ส่วนประกอบเครื่องรับโทรทัศน์ มีมูลค่า 1,744.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.23 เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 3) เทปแม่เหล็กและจานแม่เหล็ก แผ่น CD สำหรับบันทึกเสียง ภาพ (Thumb Drive Smart Card) มีมูลค่า 1,061.30 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.67 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น การนำเข้าวัตถุดิบ/ชิ้นส่วนเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปต่อไป

การนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2557 มีมูลค่า 27,224.61 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.10 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ จีน สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.03 13.22 และ 13 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่านำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี มีมูลค่า 9,737.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.79 เมื่อเทียบกับปีก่อน 2) อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่า 6,591.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.18 เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 3) โทรศัพท์เคลื่อนที่ มีมูลค่า 3,900.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.25 เมื่อเทียบกับปีก่อน

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2557

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2557 ค่อนข้างทรงตัว เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.41 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 0.77 โดยเฉพาะ Semiconductor และ IC เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของตลาดในกลุ่ม Smart Phone / Tablet กลุ่มอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ (Communication system) และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) สำหรับการผลิต HDD ในปี 2557 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.82 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เป็นการลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้มีการพัฒนา HDD ให้มีความจุที่สูงขึ้น เพื่อนำไปใช้ในกลุ่ม Cloud Storage

ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านวิดิทัศน์ ภาพ/เสียง (Content Generation),External HDD ที่มี ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการทดแทนตลาดคอมพิวเตอร์ (PC) ที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ เมื่อคิดเชิงปริมาณการผลิตจะไม่มากเท่าเดิม แต่ราคาต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยมูลค่า การส่งออก HDD เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.30 เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 1.17 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากในช่วงต้นปีกำลังซื้อในประเทศลดลงค่อนข้างมาก แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 อย่างไรก็ตาม การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.03 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกไปอาเซียนและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.11 และ 22.17 เมื่อเทียบกับปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2558

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2558 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 -1 ตามความต้องการของตลาดกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มการขยายตัวจะไม่สูงมากเท่ากับปีที่ผ่านมา สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งด้านการลงทุน/การเร่งการใช้จ่ายของรัฐบาล นอกจากนี้การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปที่ยังมีความเปราะบางค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ จากการรายงาน Semiconductor Industry Association 3 (SIA) ของสหรัฐอเมริกาได้คาดการณ์ว่าตลาด Semiconductor ของโลกในปี 2558 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกจะมีการขยายตัวมากที่สุดถึงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาคือ เอเชียแปซิฟิก และสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และ 1.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นญี่ปุ่นที่มีการปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ