สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2557)(อุตสาหกรรมยานยนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2015 11:24 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2557 หดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ การส่งออกทรงตัว

*สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ในประเทศในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.) สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 มีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวม 46 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวมกว่า 110,612.30 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้น 17,395 คน ในจำนวนนี้มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 17 โครงการ คือ 1) โครงการของบริษัท เอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับยานพาหนะ เช่น กันชนรถยนต์ เป็นต้น มีเงินลงทุน 1,089.40 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 143 คน 2) โครงการของบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) และเครื่องยนต์ มีเงินลงทุน 18,180.00 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 1,419 คน 3) โครงการของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) มีเงินลงทุน 13,109.00 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 1,094 คน 4) โครงการของบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) และชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ หลังคา และประตู เป็นต้น มีเงินลงทุน 6,860.00 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 2,764 คน 5) โครงการของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) มีเงินลงทุน 4,900.00 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 2,447 คน 6) โครงการของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตโดยเพิ่มเวลาทำงานอีก 30 วัน และเพิ่มกำลังการผลิตโดยการลงทุนเพิ่ม จากโครงการเดิมที่เคยได้รับการอนุมัติแล้ว มีเงินลงทุนรวมกัน 11,540.00 ล้านบาท ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) รวมทั้ง การจ้างแรงงานไทยใช้ร่วมกับโครงการเดิม 7) โครงการของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) และเพิ่มกำลังการผลิตโดยการลงทุนเพิ่ม มีเงินลงทุนรวมกัน 5,100.00 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทยใช้ร่วมกับโครงการเดิม 8) โครงการของบริษัท ไอซิน เอไอ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชุดเกียร์ มีเงินลงทุนรวมกัน 2,250.10 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทยใช้ร่วมกับโครงการเดิม 257 คน 9) โครงการของบริษัท ทีเอส เทค (กบินทร์บุรี) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ มีเงินลงทุนรวมกัน 1,320.00 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 326 คน 10) โครงการของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) มีเงินลงทุนรวมกัน 10,406.00 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 1,990 คน 11) โครงการของบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) มีเงินลงทุนรวมกัน 7,610.00 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 775 คน 12) โครงการของบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) และชิ้นส่วนยานพาหนะ มีเงินลงทุนรวมกัน 8,438.70 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 2,130 คน 13) โครงการของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) มีเงินลงทุนรวมกัน 8,161.00 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 1,850 คน 14) โครงการของบริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้วิจัยและพัฒนายานยนต์และชิ้นส่วน มีเงินลงทุนรวมกัน 1,087.00 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทย 63 คน 15) โครงการของบริษัท โตโยโตมิ ออโต้พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูปสำหรับยานพาหนะ (ECO-CAR) แม่พิมพ์ และขอเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์โดยการลงทุนเครื่องจักรเพิ่ม มีเงินลงทุนรวมกัน 2,157.10 ล้านบาท การจ้างแรงงานไทยใช้ร่วมกับโครงการเดิม 16) โครงการของบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) และชิ้นส่วนสำเร็จรูป (Complete Knock Down หรือ CKD) และขอเพิ่มกำลังการผลิตโดยการลงทุนเครื่องจักรเพิ่ม มีเงินลงทุนรวมกัน 8,663.00 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทยใช้ร่วมกับโครงการเดิม 17) โครงการของบริษัท มาสด้า พาวเวอร์เทรน แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล มีเงินลงทุนรวมกัน 2,913.90 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 186 คน 18) โครงการของบริษัท เจเทคโตะ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะ เช่น ข้อต่อกากบาท และตลับลูกปืน เป็นต้น มีเงินลงทุนรวมกัน 1,840.30 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 129 คน 19) โครงการของบริษัท เซนจูรี่ ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตยางยานพาหนะ มีเงินลงทุนรวมกัน 3,500 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 350 คน (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.boi.go.th)

*อุตสาหกรรมรถยนต์โลกในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-ส.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 54,819,813 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 2.84 แบ่งเป็นการผลิต รถยนต์นั่ง 41,085,888 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 3.13 และการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 13,733,925 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 1.98 เมื่อพิจารณาประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น พบว่า จีนมีการผลิตรถยนต์ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557จำนวน 15,224,468 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.77 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งโลก ส่วนสหรัฐอเมริกามีการผลิตรถยนต์ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557 จำนวน 7,803,656 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.24 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งโลก และญี่ปุ่นมีการผลิตรถยนต์ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557จำนวน 6,595,955 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.03 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งโลก

*การจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-ส.ค.) มีการจำหน่ายรถยนต์ 54,174,557 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 2.47 แบ่งเป็น การจำหน่ายรถยนต์นั่ง 39,860,978 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 14,313,579 คัน เพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.85 และ 1.41 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ พบว่า จีนมีการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557 จำนวน 15,016,864 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.72 ของปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก สหรัฐอเมริกามีการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557 จำนวน 11,391,979 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.03 ของปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั้งโลก ญี่ปุ่นมีการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557 จำนวน 3,799,539 คัน คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 7.01 ของปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก

*อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศจีน มีปริมาณการผลิตรถยนต์ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-ส.ค.) 15,224,468 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 8.66 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 12,667,358 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ11.60 และการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 2,557,110 คัน ลดลงร้อยละ 3.89 สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557 มีจำนวน 15,016,864 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 7.67 แบ่งเป็น การจำหน่ายรถยนต์นั่ง 12,458,730 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.69 และการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 2,558,134 คัน ลดลงร้อยละ 4.95

*อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีปริมาณการผลิตรถยนต์ใน ช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-ส.ค.) จำนวน 7,803,656 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ ผ่านมาร้อยละ 6.26 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 2,851,740 คัน ลดลงร้อยละ 2.50 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาและการผลิตรถบรรทุก 4,951,916 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 12.06 สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557 มีจำนวน 11,391,979 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 5.26 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 5,317,124 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.00 และการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 6,074,855 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 9.30

*อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น มีปริมาณการผลิตรถยนต์ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-ส.ค.) จำนวน 6,595,955 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 5.50 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 5,611,379 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 5.63 และการผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ 984,576 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.77 สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2557 มีจำนวน 3,799,539 คัน เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 7.01 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 3,239,248 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 7.12 และการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 560,291คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 6.41

อุตสาหกรรมรถยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2557 มีจำนวน 1,880,007 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตของปีที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 23.49 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 30.66, 16.37 และ 57.51 ตามลำดับ การผลิตโดยรวมเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 1,122,154 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.69 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยแบ่งเป็น การผลิตรถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ เพื่อการส่งออก ร้อยละ 63.19 การผลิตรถยนต์นั่งเพื่อการส่งออกร้อยละ 36.81 สำหรับรถยนต์นั่งที่มีการผลิตเพื่อส่งออกมากที่สุด ได้แก่ รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล รองลงมาคือ รถยนต์นั่งที่มีขนาดเครื่องยนต์ 1,201-1,500 ซี.ซี. และรถยนต์นั่งที่มีขนาดเครื่องยนต์ 1,501-1,800 ซี.ซี. ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 471,467 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 526,828 คัน ร้อยละ 10.51 โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 193,920 คัน ลดลงร้อยละ 11.95 รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 269,475 คัน ลดลงร้อยละ 9.43 ส่วนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 8,072 คัน ลดลงร้อยละ 10.95 หากพิจารณา ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.29 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.45 และ 55.56 ตามลำดับ ส่วนรถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ ลดลงร้อยละ 1.68

การจำหน่าย ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2557 มีจำนวน 881,572 คัน เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ของปีที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 33.52 โดยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ PPV (รวม SUV) ลดลงร้อยละ 41.11, 29.63, 36.41 และ 1.56 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.) มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ 233,422 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ 296,037 คัน ร้อยละ 21.15 หากแยกตามประเภทรถยนต์ มีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 96,139 คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 99,590 คัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 13,995 คัน และรถยนต์ PPV (รวม SUV) 23,698 คัน โดยการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 27.91, 19.12 และ13.02 ตามลำดับ ส่วนรถยนต์ PPV (รวม SUV) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.00 หากพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.63 โดยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ PPV (รวม SUV) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.13, 14.80, 13.26 และ 28.88 ตามลำดับ

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2557 มีปริมาณ การส่งออกรถยนต์ (CBU) จำนวน 1,128,102 คัน ทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการส่งออกรถยนต์ ของปีที่ผ่านมา ถ้าคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า 527,424.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97 เมื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.) มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ (CBU) จำนวน 289,150 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีปริมาณการส่งออกรถยนต์ 280,811 คัน ร้อยละ 2.97 ถ้าหากคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า 131,245.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์ 128,515.78 ล้านบาท ร้อยละ 2.12 หากพิจารณา ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.67 แต่เมื่อคิดเป็นมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.24

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยในปี 2557 มีมูลค่า 192,958.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว ร้อยละ 5.81 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถยนต์นั่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 21.02, 15.48 และ 11.14 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถยนต์นั่งไปฟิลิปปินส์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.05 แต่มูลค่าการส่งออกไปออสเตรเลียและอินโดนีเซียลดลงร้อยละ 8.41 และ 30.44 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกรถแวนและปิกอัพของไทยในปี 2557 มีมูลค่า 12,948.43 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 11.96 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถแวนและปิกอัพ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซียและสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 56.49, 14.83 และ 6.45 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถแวนและปิกอัพไปญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 34.99 แต่การส่งออกไปอินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 147.89 และ 663.38 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกรถบัสและรถบรรทุกของไทยในปี 2557 มีมูลค่า 331,038.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 3.91 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถบัสและรถบรรทุก ได้แก่ ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 23.28, 12.04 และ 4.08 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถบัสและรถบรรทุกไปซาอุดิอาระเบีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.53 แต่การส่งออกไปออสเตรเลียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลดลงร้อยละ 2.59 และ 7.84 ตามลำดับ

การนำเข้า การนำเข้ารถยนต์ของประเทศไทยในปี 2557 มีการนำเข้ารถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารและบรรทุก คิดเป็นมูลค่า 39,350.60 และ 16,051.82 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้ารถยนต์ของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา พบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.18 และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ลดลงร้อยละ 17.51 เมื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.) มีการนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก คิดเป็นมูลค่า 7,033.24 และ 5,500.38 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่ง ลดลงร้อยละ 35.31 ส่วนรถยนต์โดยสารและรถบรรทุกเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.97 หากพิจารณา ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่ง ลดลงร้อยละ 19.32 และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.75 แหล่งนำเข้ารถยนต์นั่งที่สำคัญ ในปี 2557 ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 26.57, 20.32 และ 19.54 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์นั่งจากอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี ลดลงร้อยละ 12.86, 9.85 และ 0.71 ตามลำดับ ส่วนแหล่งนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี และสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 22.80, 18.31 และ 18.01 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากญี่ปุ่น และเยอรมนี ลดลงร้อยละ 34.25 และ 12.35 ตามลำดับแต่การนำเข้ารถยนต์นั่งจากสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 209.00

สรุปและแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2557 หดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการผลิตหดตัวร้อยละ 23.49 ส่วนการส่งออกทรงตัว หากพิจารณาอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วง ไตรมาสที่สี่ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกับของปีที่ผ่านมา พบว่าในส่วนของการผลิต การจำหน่าย และการนำเข้า หดตัว ส่วนการส่งออกขยายตัว ในประเทศแถบยุโรป โอเชียเนีย และอเมริกาเหนือ กลาง และใต้

อุตสาหกรรมรถยนต์ปี 2558 คาดว่า การผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.36 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 1,000,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.43 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.94 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในปี 2557 มีจำนวน 1,842,708 คัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ 2,218,625 คัน ร้อยละ 16.94 แบ่งเป็นการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 1,483,993 คัน ลดลงร้อยละ 20.73 แต่การผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 358,715 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.54 เมื่อพิจารณาปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.) มีจำนวน 458,116 คัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีปริมาณการผลิต 471,723 คัน ร้อยละ 2.88 แบ่งเป็น การผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 366,571 คัน ลดลงร้อยละ 6.17 แต่มีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 91,545 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.95

การจำหน่าย ตลาดรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยใน ปี 2557 มีจำนวน 1,701,535 คัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 2,004,496 คัน ร้อยละ 15.11 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 861,781 คัน ลดลงร้อยละ 10.39 การจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์ 650,705 คัน ลดลงร้อยละ 26.81 แต่การจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 189,049 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.95 ตลาดรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.) มีจำนวน 376,927 คัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 9.04 แบ่งเป็น การจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 191,696 คัน ลดลงร้อยละ 5.35 การจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์ 141,244 คัน ลดลงร้อยละ 18.80 แต่มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 43,987 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.94

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) ของประเทศไทยในปี 2557 มีจำนวน 887,980 คัน (เป็นการส่งออก CBU จำนวน 288,527 คัน และ CKD จำนวน 599,453 ชุด) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 5.10 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) มีมูลค่า 45,270.28 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 9.73 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.) ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) ของประเทศไทยมีจำนวน 225,069 คัน (เป็นการส่งออก CBU จำนวน 72,755 คัน และ CKD จำนวน 152,314 ชุด) ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 9.72 หากคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์มีมูลค่า 11,011.99 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 19.65

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทยในปี 2557 มีมูลค่า 34,197.76 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 9.26 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถจักรยานยนต์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 15.03, 14.14 และ 10.29 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถจักรยานยนต์ไปสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร มีมูลค่าลดลงร้อยละ 14.35 และ 6.08 ตามลำดับ แต่การส่งออกไปเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.58

การนำเข้า การนำเข้ารถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในปี 2557 มีการนำเข้ารถจักรยานยนต์คิดเป็นมูลค่า 4,831.09 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 5.37 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.) มีการนำเข้ารถจักรยานยนต์ คิดเป็นมูลค่า 1,428.74 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สี่ของปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.38 แหล่งนำเข้ารถจักรยานยนต์ที่สำคัญของปี 2557 ได้แก่ เวียดนาม ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 56.41, 17.80 และ 7.67 ตามลำดับ โดยมีการนำเข้ารถจักรยานยนต์จากญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 190.97 และ 72.28 ตามลำดับ แต่การนำเข้าจากเวียดนาม ลดลงร้อยละ 23.75 สรุปและแนวโน้มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในปี 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาการผลิตและจำหน่ายหดตัว แต่มูลค่าการส่งออกและนำเข้าชะลอตัว โดยจากข้อมูลแผนการผลิตของผู้ประกอบการผลิตรถจักรยานยนต์ ประมาณการว่า ในปี 2558 การผลิตจะมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 5- 10 หรือคิดเป็นปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ประมาณ 1,950,000-2,000,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 85-90 และการผลิตเพื่อการส่งออก ร้อยละ 10-15

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) ของประเทศไทย ในปี 2557 พบว่า มีมูลค่า 198,300.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.21 การส่งออกเครื่องยนต์มีมูลค่า 31,590.46 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.41 การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่ยนต์มีมูลค่า 22,135.71 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.27 เมื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสที่สี่ของ ปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.) มีมูลค่า 48,436.27 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 0.87 การส่งออกเครื่องยนต์มีมูลค่า 8,257.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 4.10 และการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ 6,052.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 13.26 หากพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่ามูลค่าการส่งออกเครื่องยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.09 และ 9.64 ตามลำดับ แต่ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) ลดลงร้อยละ 3.47

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของไทยในปี 2557 มีมูลค่า 252,289.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 13.40 ตลาดส่งออกที่สำคัญ ของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นและ มาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 12.79, 12.67 และ 11.61 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ไปญี่ปุ่น และมาเลเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.07 และ 7.49 ตามลำดับ แต่การส่งออกไปอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 1.07

การส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ในปี 2557 การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) มีมูลค่า 5,313.31 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 20.80 การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีมูลค่า 1,079.89 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.76 เมื่อพิจารณาไตรมาสที่สี่ของปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.) การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) มีมูลค่า 1,311.86 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 6.93 การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีมูลค่า 339.53 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 139.73 หากพิจารณาไตรมาสที่สี่ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ (OEM) และชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.84 และ 23.88 ตามลำดับ

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ของไทยในปี 2557 มีมูลค่า 23,096.13 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 7.52 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ได้แก่ บราซิล กัมพูชา และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 17.16, 14.41 และ 11.06 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ไปบราซิลและกัมพูชาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.84 และ 19.79 ตามลำดับ แต่การส่งออกไปอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 7.47

การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของประเทศไทย ในปี 2557 มีมูลค่า 294,694.46 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ร้อยละ 19.02 เมื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.) มีมูลค่า 74,530.42 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 6.50 หากพิจารณาไตรมาสที่สี่ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.85 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ที่สำคัญในปี 2557 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 42.25, 14.48 และ 5.90 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์จากญี่ปุ่นและจีน ลดลงร้อยละ 32.50 และ 1.84 ตามลำดับ แต่การนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.74

การนำเข้าชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ ของประเทศไทยในปี 2557 มีมูลค่า 17,058.76 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 5.46 หากพิจารณาไตรมาสที่สี่ของปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.) การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์มีมูลค่า 4,719.35 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.60 หากพิจารณาไตรมาสที่สี่ของปี 2557 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่ามูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.57 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 27.90, 18.76 และ 10.87 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์จากญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 29.16 แต่การนำเข้าจากจีนและเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.36 และ 19.12 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

*สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 2/2557 ลงวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เรื่อง นโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุน เนื่องด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศได้เปลี่ยนแปลงไป อย่างมาก จึงมีการปรับปรุงนโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต รวมทั้งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน และมีการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยประเภทกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน หมวดที่ 4 ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.boi.go.th)

*สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 5/2557 ลงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เรื่อง มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อส่งเสริมศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs ของประเทศให้สามารถก้าวสู่ระดับสากลมากขึ้น โดยประเภทกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน หมวดที่ 4 ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง โดยมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.boi.go.th

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ