สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2557)(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2015 11:29 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2557 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ การปรับตัวของอุปสงค์ อุปทานในตลาด โดยภาพรวมราคาเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
การผลิต

ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย มีแผนลงทุนโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศเวียดนาม โครงการดังกล่าวประกอบด้วย โรงกลั่นน้ำมันดิบกำลังการผลิต 400,000 บาร์เรล/วัน โดยจะใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานปิโตรเคมี 260,000 บาร์เรล/วัน และขายปลีก 140,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้ประเทศเวียดนามมีกำลังการผลิตอะโรเมติกส์ 2,000,000 ตัน/ปี และโอเลฟินส์ 3,000,000 ตัน/ปี ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ครึ่งหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ในประเทศเวียดนามที่ปัจจุบันยังไม่เพียงพอ ส่วนที่เหลือจึงส่งออก โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำเสนอโครงการต่อนายกรัฐมนตรีเวียดนาม

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2557 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่ารวม 71,403.86 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 2.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 17.10 และ 33.45 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปลาย มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2556 ซึ่งเกิดจากประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทย เช่น ประเทศจีนและเวียดนามมีแผนการขยายกำลังการผลิตเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2556-2560 และบางแห่งเริ่มทยอยเดินเครื่องการผลิต ส่งผลให้ตลาดมีความตึงตัวและลดการพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากไทย

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของปี 2557 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่ารวม 301,400.03 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมเพิ่มร้อยละ 1.83 เมื่อเทียบกับปี 2556

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2557 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่ารวม 25,042.97 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 18.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 31.03 17.41 และ 16.58 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2556

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในปี 2557 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่ารวม 107,142.99 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 2.87 เมื่อเทียบกับปี 2556

ราคาสินค้า

ราคาเอธิลีนในตลาดเอเชียไตรมาส 4 ปี 2557 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 38.98 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปรับลดลงจากไตรมาส 3 ปี 2557 และช่วงเดียวกันของปี 2556 ที่ราคาเฉลี่ย 42.99 และ 41.58 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ และราคาโพรพิลีนไตรมาส 4 ปี 2557 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 42.91 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปรับลดลงเมื่อเทียบกับในไตรมาส 3 ปี 2557 และช่วงเดียวกันของปี 2556 ที่ราคาเฉลี่ย 47.11 และ 47.04 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ของ LDPE, HDPE, และ PP ไตรมาส 4 ปี 2557 ระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 48.69, 47.39 และ 47.20 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE,HDPE และ PP มีระดับราคาลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2557 ที่ระดับราคาเฉลี่ย 51.86, 51.76 และ 52.52 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ผลิตภัณฑ์ทั้งสามมีระดับราคาลดลง โดยราคาเฉลี่ยของ LDPE,HDPE และ PP ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 อยู่ที่ 52.80, 48.83 และ 50.23 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และแนวโน้มปี 2558

สรุป

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2557 อัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าเกิดจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตในประเทศ ทำให้ลดการนำเข้าจากต่างประเทศลง รวมทั้งประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยมีการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องและเริ่มเปิดดำเนินการไปบ้างแล้ว ทำให้ลดการพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากไทยลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริการวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ดังนั้น ในระยะสั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนในระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงควรบุกเบิกตลาดในประเทศกำลังพัฒนาใหม่ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เป็นต้น

แนวโน้ม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2558 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของ GDP และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ยังคงเปราะบาง รวมถึงการผันผวนของราคาน้ำมัน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ