สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2557 (ตุลาคม – ธันวาคม 2557)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2015 11:32 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า การผลิตลดลงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ได้มีการส่งมอบสินค้าเพื่อใช้สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ไปแล้วในช่วงไตรมาสก่อน ในส่วนการส่งออก มีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากความต้องการของประเทศคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สวนทางกับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ที่มีมูลค่าลดลง เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การผลิต

ไตรมาส 4 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก ลดลง ร้อยละ 4.73 5.92 และ 5.15 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เนื่องจากมีการส่งมอบสินค้าเพื่อรองรับความต้องการช่วงเทศกาลปีใหม่ในช่วงไตรมาสก่อน และอยู่ในช่วงรอคำสั่งซื้อรอบถัดไป สำหรับกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.44 เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อให้มีสินค้าคงคลังเพียงพอต่อความต้องการในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ส่วนกระดาษพิมพ์เขียนอยู่ในภาวะคงตัว

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.03 1.14 10.25 และ 16.78 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศ และการส่งออกกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเสถียรภาพทางการเมือง และเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น สำหรับกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 5.10 เนื่องจากมีสินค้าคงคลังเพียงพอต่อความต้องการ

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 34.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 17.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 2) เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ เช่น จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย ลดลงโดยเฉพาะประเทศจีน ลดลงประมาณ ร้อยละ 25 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวตามอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลงจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.44 โดยเฉพาะเยื่อกระดาษประเภทเยื่อไม้เคมีชนิดละลายได้ มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเยื่อไม้เคมีชนิดดังกล่าวของผู้ประกอบการไทย

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกภาพรวม 414.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 1.23 โดยที่กระดาษพิมพ์เขียน มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการส่งมอบสินค้าเพื่อรองรับเทศกาลคริสมาสต์ และส่งท้ายปีเก่าในช่วงไตรมาสก่อน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.10 โดยที่กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ซึ่งใช้สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น เวียดนาม เกาหลีใต้ ฮ่องกง เติบโตขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น

3.หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 21.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยหนังสือ แผ่นพับ และ สิ่งพิมพ์ประเภทรูปภาพ ภาพถ่าย มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุด เนื่องจากมีการส่งมอบสินค้าประเภทดังกล่าวแล้วในไตรมาสก่อน เพื่อใช้สำหรับเทศกาลสำคัญในช่วงปลายปี เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.48 เนื่องจากตลาดส่งออก เช่น สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และฮ่องกง ขยายตัวตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกแผ่นพับ รูปภาพ และภาพถ่าย ไปยังญี่ปุ่น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการในช่วงการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 182.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.78 และ 37.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ (ตารางที่ 3) โดยเป็นการนำเข้าเยื่อใยยาวประเภทเยื่อเคมี และเยื่อใยยาวประเภทกึ่งเคมีมากที่สุด ตามลำดับ เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผสมในการผลิตกระดาษต่อไป ซึ่งตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ แคนาดา และสหรัฐฯ

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 364.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.49 และ 0.02 ตามลำดับ เนื่องจากกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่ผลิตในประเทศสามารถรองรับปริมาณความต้องการได้เพียงพอ

3.สิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 55.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 12.32 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานตัวเลขการนำเข้าของไตรมาสก่อนค่อนข้างสูง เนื่องจากการจัดกิจกรรมแฟชั่นโชว์ และการประกวดภาพยนตร์ของแบรนด์ต่างประเทศในไทย และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออกลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.64 โดยสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร และรูปภาพ มีการนำเข้าลดลงมากที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคใช้สื่อดิจิตอลแทนที่การใช้สื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

*กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อร้องเรียนของสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย ที่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีขาออกไม้ยูคาลิปตัสจาก ร้อยละ 0 เป็นเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบ ภายหลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไม้ยูคาลิปตัส ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ เนื่องจากมีกลุ่มเอกชนทำการ รับซื้อไม้ยูคาลิปตัสจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าจำหน่ายให้โรงงานผลิตเยื่อกระดาษในประเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการส่งมอบสินค้าในช่วงไตรมาสก่อนหน้าแล้ว เพื่อใช้ในช่วงเทศกาลสำคัญในไตรมาสนี้ และอยู่ในช่วงรอคำสั่งซื้อรอบถัดไป สำหรับกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลิตเพื่อให้มีสินค้าคงคลังเพียงพอต่อความต้องการ ส่วนกระดาษพิมพ์เขียนอยู่ในภาวะคงตัว และเมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ พิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศ และการส่งออกกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเสถียรภาพทางการเมือง และเศรษฐกิจภายในประเทศ สำหรับกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง เนื่องจากมีสินค้าคงคลังเพียงพอต่อความต้องการ

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากความต้องการของประเทศคู่ค้า เช่น เวียดนาม เกาหลีใต้ ฮ่องกง เพิ่มมากขึ้นตามแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่มีทิศทางขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับมีการขยายการส่งออกเยื่อกระดาษประเภทเยื่อไม้เคมีชนิดละลายได้ของบริษัทผลิตกระดาษรายใหญ่ของไทย ทำให้การส่งออกมีทิศทางดีขึ้น

การนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการนำเข้าเยื่อใยยาวประเภทเยื่อเคมี และเยื่อใยยาวประเภทกึ่งเคมีมากที่สุด เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผสมในการผลิตกระดาษต่อไป สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ มีการนำเข้าลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่ผลิตในประเทศสามารถรองรับปริมาณความต้องการได้เพียงพอ ประกอบกับผู้บริโภคใช้สื่อดิจิตอลแทนที่การใช้สื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น

แนวโน้มปี 2558

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ปี 2558 คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รวมถึงการส่งออก กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อาจขยายตัวได้ตามความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการส่งออกที่จะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ การขยายตัวของเศรษฐกิจในอาเซียน ประกอบกับมีการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการกลุ่มกระดาษและบรรจุภัณฑ์ของไทย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์

สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ คาดว่า จะขยายตัวตามการนำเข้าเยื่อกระดาษใยยาว ที่ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ส่วนการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะทรงตัวเนื่องจากการผลิตภายในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ ในส่วนสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะทรงตัวเช่นเดียวกัน และอาจต้องปรับตัวไปสู่สิ่งพิมพ์สร้างสรรค์เพื่อรับมือกับการเข้ามาแทนที่ของสื่อดิจิตอลโดยเฉพาะในธุรกิจพิมพ์เขียน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ