การผลิตเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2557 ลดลงทั้ง 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยกระเบื้อง ปูพื้น บุผนัง มีปริมาณการผลิต 35.64 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 13.89 และ 1.44 ตามลำดับ เช่นเดียวกับเครื่องสุขภัณฑ์ที่มีปริมาณการผลิต 1.85 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.15 และ 9.31 ตามลำดับ (ดังตารางที่ 1) เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศลดลง ประกอบกับการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพื่อส่งออกลดลงตามไปด้วย
สำหรับภาพรวมการผลิตเซรามิกในปี 2557 ทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนังและ เครื่องสุขภัณฑ์มีปริมาณลดลง โดยกระเบื้องปูพื้น บุผนังมีปริมาณการผลิต 159.12 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.90 และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณการผลิต 7.30 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.80 (ดังตารางที่ 1) ทั้งนี้มีสาเหตุจากนโยบายรถยนต์คันแรก และปัญหาทางการเมืองที่ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ส่งผลให้การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว และทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์เซรามิกซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลงตามไปด้วย
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2557 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณการจำหน่าย 38.62 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 10.66 และ 5.41 ตามลำดับ และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณการจำหน่าย 1.03 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 16.94 และ 26.43 ตามลำดับ (ดังตารางที่ 2) เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น ผู้บริโภคจึงเลือกที่จะจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็นมากกว่า จึงชะลอการปรับปรุงซ่อมแซม ที่อยู่อาศัยออกไป
การจำหน่ายเซรามิก ปี 2557 โดยภาพรวมลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความกังวลกับรายได้ในอนาคตจึงระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อลดลงตามไปด้วย โดยกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณการจำหน่าย 174.07 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับ ปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.03 และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณการจำหน่าย 4.63 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับ ปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.51 (ดังตารางที่ 2)
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกจะส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย ไต้หวัน เยอรมนี และประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 213.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ดังตารางที่ 3) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 1.40 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.64 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้น ของชำร่วยเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่นๆ ที่การส่งออกลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นเป็นสำคัญ
การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ปี 2557 มีมูลค่ารวม 846.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.09 (ดังตารางที่ 3) ซึ่งการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้น กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และของชำร่วยเครื่องประดับ ที่การส่งออกลดลงในตลาดหลัก ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น มาเลเซียเวียดนาม และเยอรมนี โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 137.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ดังตารางที่ 4) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.42 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น โดยเฉพาะกระเบื้องปูพื้น บุผนัง เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกลดลงร้อยละ 22.27 ซึ่งเป็นไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ปี 2557 มีมูลค่ารวม 518.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 15.09 (ตารางที่ 4) ซึ่งลดลงจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ และผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และอิฐทนไฟเป็นสำคัญ
สรุปและแนวโน้ม
การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2557 ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพและหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านออกไป สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2557 แม้ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป แต่ยังคงขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกาและอาเซียนในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2557 เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ เซรามิกอื่น
การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2558 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตามภาวะหนี้ครัวเรือนในระดับสูง และรายได้ ภาคเกษตรที่ตกต่ำ จะส่งผลให้การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านต้องชะลอออกไปอีกระยะหนึ่ง จึงทำให้การขยายตัวของตลาดเซรามิกที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างอาจไม่สูงมากนัก สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2558 มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอาเซียนที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2558 มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--