การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.35 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.08 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 1.14 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.53 สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.07 และ 3.44 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากภาคก่อสร้างของไทยยังไม่ขยายตัวมากเท่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นจนทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเมียนมาร์ ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยยังสามารถดำเนินการผลิตได้ในปริมาณที่สูงตามปกติ
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ปี 2557 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 8.76 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.16 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 8.60 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.26 และร้อยละ 0.68 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากราคาที่ดินที่ขยับตัวสูงขึ้นมากส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมตามบริเวณแนวรถไฟฟ้า ชะลอตัวลง ซึ่งการขยายตัวของภาคก่อสร้างที่อยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ทำให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงตามไปด้วย
การส่งออก การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2557 มีปริมาณการส่งออกรวม 3.10 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 168.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 0.95 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 38.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.71 และ 32.56 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 179.41 และ 157.97 ตามลำดับ ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกจำนวน 2.15 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 130.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.91 และ 6.84 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.37 และ 31.35 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในภาพรวมปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนค่อนข้างมาก เนื่องจากไทยมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้บริษัทผู้ผลิตต่างหันมาวางแผนการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ประกอบกับตลาดคู่ค้าหลักของไทยเองก็มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศของตน เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นกัน โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยในไตรมาสนี้ยังคงเป็นเมียนมาร์ รองลงมา คือ กัมพูชา บังคลาเทศ ลาว และอินโดนีเซีย ตามลำดับ
การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 4 ปี 2557 มีปริมาณรวม 5,399.11 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.25 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 17.06 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.44 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 1.12 โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 81.56 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 5,317.55 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ไทยเพิ่มปริมาณการนำเข้าปูนซีเมนต์ขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์บางประเภทในประเทศมากขึ้น ซึ่งการนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นปูนซีเมนต์ขาวชนิดพิเศษ และอะลูมินัสซีเมนต์ ที่ไม่มีการผลิตในประเทศ โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยยังคงเป็นจีน รองลงมา คือ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
ราคาปูนซีเมนต์ในปี 2558 มีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากปูนซีเมนต์เป็นสินค้าควบคุม หากบริษัทผู้ผลิตต้องการจะปรับขึ้นราคาจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน จึงคาดว่าจะไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณมาก และคงต้องขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตในการตรึงราคาปูนซีเมนต์ไว้ นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ที่สูงกว่าปริมาณความต้องการใช้ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ และยังต้องมีการวางแผนการส่งออกที่ดีเพื่อไม่ให้มีปริมาณปูนซีเมนต์ค้างในสต็อกมากจนเกินไปอีกด้วย
รัฐบาลไม่มีมาตรการ/นโยบาย รองรับสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยตรง แต่มีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สรุปและแนวโน้ม
ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ในภาพรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากภาคก่อสร้างของไทยไม่ขยายตัวมากเท่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม คำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากทำให้บริษัทผู้ผลิตไม่ต้องปรับลดปริมาณการผลิตลงมากนัก
ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักของไทย โดยเฉพาะเมียนมาร์ ยังคงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศของตนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์มากเกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศอยู่แล้ว จึงทำให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ในปริมาณมากโดยที่ไม่กระทบต่อปริมาณความต้องการใช้ในประเทศของไทย
แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายขยายเส้นทางรถไฟรางคู่และรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงการลงทุนโครงการอื่นๆ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจะนำความเจริญไปสู่เขตพื้นที่ใหม่ที่ยังมีราคาที่ดินไม่สูงมากนัก เหมาะแก่การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมตามบริเวณแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในอนาคตอันใกล้นี้
สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นอีก เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักของไทยในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชา มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจากการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น ทำให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณมาก เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงที่อยู่อาศัยทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ ประกอบกับไทยมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ที่มากเกินความต้องการใช้ในประเทศอยู่แล้ว จึงสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าต่างๆ ได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าในปีนี้จะมีโครงการก่อสร้างทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศมากขึ้นก็ตาม
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--