อุตสาหกรรมยาในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ยาที่ผลิตได้ในประเทศซึ่งมีราคาถูกและคุณภาพดีทดแทนยานำเข้าที่มีราคาแพงเพิ่มขึ้น จากนโยบายรัฐบาลที่เข้มงวดในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ทำให้อุตสาหกรรมยาของไทยขยายตัว และสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนได้มากขึ้น
การผลิตยาในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 6,484.85 ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.33 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยคิดเป็นร้อยละ 1.99 ในภาพรวมอุตสาหกรรมยามีการขยายตัวที่ดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐจำกัดงบประมาณในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ โดยกำหนดให้สามารถเบิกจ่ายได้เฉพาะค่ายาที่มีราคาถูกที่สุดในชนิดยาเดียวกันเท่านั้น ทำให้มีการผลิตยาชื่อสามัญในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้ายาที่มีราคาแพงจากต่างประเทศมากขึ้น
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 มีปริมาณ 6,739.26 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 19.36 และ 9.86 ตามลำดับ เนื่องจากอุตสาหกรรมยาในประเทศมีการขยายตัวที่ดีขึ้น ประกอบกับโรงพยาบาลต่างๆ คลินิก และร้านขายยามีการสั่งซื้อยาเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณการจำหน่ายยารักษาและป้องกันโรคในประเทศมากขึ้น
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 มีมูลค่า 2,470.05 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.93 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยคิดเป็นร้อยละ 0.33 ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีสถานการณ์ผิดปกติที่ทำให้ต้องใช้ยาจำนวนมากในประเทศ ทำให้การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคขยายตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมในประเทศที่ผลิตเพื่อส่งออก นอกจากนี้ การขยายตัวของตลาดส่งออกในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเมียนมาร์และเวียดนามที่กำลังมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวดีขึ้น โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ตามลำดับ มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,492.56 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60.43 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ทั้งนี้ จะเห็นว่าตลาดส่งออกยาที่สำคัญของไทยยังคงเป็นตลาดอาเซียน โดยตลาดที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุด 5 ลำดับแรกของไทยในไตรมาสนี้ ยังคงเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งสิ้น
การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 มีมูลค่า 12,488.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 9.35 และ 1.88 ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ อินเดีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ มีมูลค่าการนำเข้ารวม 5,423.84 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.43 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด
การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสนี้ จะเห็นว่านอกจากจะเป็นการนำเข้ายาต้นแบบสำหรับรักษาโรคโดยเฉพาะโรคที่ไม่ติดต่อซึ่งไทยไม่สามารถผลิตเองได้เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องเทคโนโลยีและสิทธิบัตรตามปกติแล้ว ยังเป็นการนำเข้ายาชื่อสามัญจากอินเดียจำนวนมาก เนื่องจากมีราคาถูกและคุณภาพดี ซึ่งยาดังกล่าวบางชนิดไทยยังไม่สามารถผลิตได้ หรือหากผลิตได้ก็มีราคาที่แพงกว่า จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าไทยจะรับมือกับยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพดีและราคาถูกจากอินเดียอย่างไร เนื่องจากนโยบายรัฐบาลไม่ได้จำกัดว่าแพทย์จะต้องเลือกจ่ายยาที่ผลิตได้ในประเทศก่อน กำหนดไว้แต่เพียงว่าแพทย์จะต้องเลือกจ่ายยาที่มีราคาถูกที่สุดก่อนเท่านั้น
สรุปและแนวโน้ม
ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 มีปริมาณการผลิตยารักษาและป้องกันโรคลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่มีปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศเพิ่มขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมอุตสาหกรรมยามีการขยายตัวที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี นอกจากนี้ ไทยยังสามารถผลิตยาชื่อสามัญที่มีราคาถูกและคุณภาพดีได้เองในประเทศมากชนิดขึ้นทุกปีอีกด้วย
สำหรับมูลค่าการส่งออกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณการผลิตยาในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้สามารถส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้มากขึ้น ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการนำเข้ายาชื่อสามัญจากอินเดีย เนื่องจากแพทย์ผู้จ่ายยาค่อนข้างมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของยา จากการที่อินเดียเป็นฐานการผลิตให้กับบริษัทผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาในหลายประเทศทั้งยุโรปและอเมริกา
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยาในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดคู่ค้าของไทยหลายแห่งในปัจจุบันเริ่มประกาศใช้มาตรฐาน PIC/S เพื่อควบคุมคุณภาพของยาที่นำเข้ามากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยอาจประสบความยากลำบากในการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ในระยะต่อไป เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยยังไม่ได้รับการรับรองให้สามารถเป็นผู้ตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานโรงงานได้ ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการไทยเกือบทุกรายจะพร้อมสำหรับการตรวจรับรองเพื่อให้ได้มาตรฐาน PIC/S อยู่แล้วก็ตาม
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--