ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 มีมูลค่า 2,327.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 99.42 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.12 ทั้งนี้ หากพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) จะมีมูลค่า 1,814.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่จะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแสดงถึงสัญญาณเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวโดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการ QE ของธนาคารสหภาพยุโรป โดยทั้งปี 2557 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวได้ ร้อยละ 7.16
การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ไตรมาส 4 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 1) ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 7.24 ส่งผลให้ดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 7.08 สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 3.70 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลงเช่นกัน ร้อยละ 22.67 ดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 25.63 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 12.79 เนื่องจากเป็นการส่งสินค้าจากสต๊อกในปีที่ผ่านทดแทน
การตลาด
การค้าระหว่างประเทศ
ไตรมาส 4 ปี 2557 (ตารางที่ 2) การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่าการส่งออก 1,814.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณีลดลง เนื่องจากเลยช่วงเทศกาลสำคัญ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.83 เนื่องจากมีการ
ส่งออกเพชรเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.14 ในตลาดฮ่องกง เบลเยี่ยม และอิสราเอล และพลอยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.35 ในตลาดฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย เครื่องประดับแท้ทำด้วยทองเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.75 ในตลาดสหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฮ่องกง ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นมากถึง ร้อยละ 99.42 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.12 โดยทั้งปี 2557 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ขยายตัว ร้อยละ 7.16 โดยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่
1. อัญมณี ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 597.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 19.54 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการส่งออกเพชร และพลอยที่ลดลง เนื่องจากเลยช่วงเทศกาลสำคัญ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.46 จากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในตลาดสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 33.76 16.86 และ 9.69 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญมี ดังนี้
1.1 เพชร ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 418.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 8.67 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากได้มีการส่งมอบสำหรับเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปในช่วงเทศกาลก่อนหน้านี้แล้ว แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.14 เนื่องจากเพชรมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอิสราเอล มีสัดส่วน ร้อยละ 33.35 23.83 และ 11.84 ตามลำดับ
1.2 พลอย ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 176.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 36.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากได้มีการส่งมอบสำหรับเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปในช่วงเทศกาลก่อนหน้านี้แล้ว แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.35 เนื่องจากพลอยมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย มีสัดส่วน ร้อยละ 34.12 14.16 และ 7.63 ตามลำดับ
2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 1,043.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.75 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน และทำด้วยทองขยายตัวซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมี ดังนี้
2.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 488.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.47 เนื่องจากสินค้ามีราคาแพงขึ้นจากราคาวัตถุดิบเงินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และรัสเซีย มีสัดส่วน ร้อยละ 34.79 27.05 และ 7.52 ตามลำดับ
2.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 484.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.66 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากได้มีการส่งมอบสินค้าในช่วงเทศกาลก่อนหน้านี้แล้ว แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.66 เนื่องจากราคาทองคำซึ่งเป็นวัตถุดิบมีราคาถูกกว่าโดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้สินค้าเครื่องประดับทองมีราคาถูกลง
3. เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 121.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.25 และ 18.99 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังเริ่มฟื้นตัวทำให้เกิดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น โดยคำสั่งซื้อลดลงในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์
4. อัญมณีสังเคราะห์ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 26.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 30.92 เนื่องจากความนิยมในสินค้าพลอยแท้เพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังเริ่มฟื้นตัว โดยคำสั่งซื้อลดลงในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย และออสเตรีย
5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 512.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 99.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกอยู่ในแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 11.38 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกโดยเฉลี่ยต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ กัมพูชา และฮ่องกง มีสัดส่วน ร้อยละ 35.78 23.75 และ 14.14 ตามลำดับ
1. เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ไตรมาส 4 ปี 2557 (ตารางที่ 3 ) มีมูลค่าการนำเข้า 471.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 26.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการนำเข้าเพชร พลอย เงิน และแพลทินัม ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบลดลงตามดัชนีการผลิตที่ลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.80 เนื่องจากราคาเพชร และพลอยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมอยู่ที่ 2,219.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 22.19 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง ร้อยละ 25.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยตลอดทั้งปี 2557 การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 16.17 ประกอบด้วยวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่
1.1 เพชร ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 189.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 26.12 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเลยช่วงเทศกาลสำคัญแล้ว สอดคล้องกับดัชนีการผลิตที่ลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.64 เนื่องจากเพชรมีการปรับราคาสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เบลเยี่ยม อินเดีย และฮ่องกง มีสัดส่วน ร้อยละ 38.94 26.27 และ 8.97 ตามลำดับ
1.2 พลอย ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 69.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 46.54 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเลยช่วงเทศกาลสำคัญแล้ว สอดคล้องตามการผลิตที่ลดลงในไตรมาสนี้ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.30 เนื่องจากพลอยมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร มีสัดส่วน ร้อยละ 24.65 4.81 และ 4.58 ตามลำดับ
1.3 ทองคำ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 1,747.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 20.82 และ 32.34 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับเนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น มีสัดส่วน ร้อยละ 32.73 31.87 และ 8.75 ตามลำดับ
1.4 เงิน ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 132.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 20.70 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามดัชนีการผลิตที่ลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.56 จากราคาเงินที่ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน สวิตเซอร์แลนด์ และอินโดนีเซีย มีสัดส่วน ร้อยละ 20.11 19.62 และ 13.01 ตามลำดับ
1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่นๆ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 34.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.80 เนื่องจากเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรีย และฮ่องกง มีสัดส่วน ร้อยละ 42.52 19.50 และ 14.18 ตามลำดับ
ทั้งนี้ การนำเข้าเพชร พลอย ทองคำ เงิน โลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ มีสัดส่วน ร้อยละ 97.93 ของการนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด
2. เครื่องประดับอัญมณี ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 169.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.67 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการนำเข้าเครื่องประดับอัญมณีเทียมลดลงอย่างมาก แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.73 เป็นผลจากการนำเข้าเครื่องประดับอัญมณีแท้เพิ่มขึ้น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่
2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 155.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.08 และ 15.28 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มดีขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ อิตาลี สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง มีสัดส่วน ร้อยละ 5.52 4.66 และ 4.55 ตามลำดับ
2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 4 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 13.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 36.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเลยช่วงเทศกาลสำคัญแล้ว และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.21 โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส และอิตาลี มีสัดส่วน ร้อยละ 30.87 16.83 และ 12.07 ตามลำดับ
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กำลังดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการของสถานประกอบการ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไทยโดยตรง ให้สามารถแข่งขันและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง แม้จะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา หรือการแข่งขันในตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 โดยตั้งเป้าหมายสถานประกอบการ 260 แห่ง ทั่วประเทศใน 19 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจสิ่งทอและแฟชั่น ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ ธุรกิจหัตถกรรม ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ธุรกิจเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ ธุรกิจพลาสติกและยาง ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจเซรามิก ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยวและภัตตาคาร ธุรกิจงานสร้างสรรค์และออกแบบ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจเพื่อสุขภาพ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจซ่อมบำรุง และธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มธุรกิจเหล่านี้เป็นกลุ่ม SMEs ที่มีพนักงานในสถานประกอบการ 50-200 คน มีนายจ้างเป็นคนไทย และมีความต้องการชัดเจนในการลดต้นทุนการผลิตด้วยการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน
สถานประกอบการที่มีความสนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพภ.) และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด (ศพจ.) ทั่วประเทศ
สรุปและแนวโน้ม
ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2557 ภาคการผลิตและการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 7.24 และ 7.08 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในส่วนการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมูลค่าสินค้าได้ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 3.70 สะท้อนถึงการส่งออกสินค้าจาก สต๊อกทดแทน
ด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลงร้อยละ 6.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณีลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.83 เนื่องจากการส่งออกอัญมณีเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.46 เครื่องประดับแท้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.75 และเครื่องประดับเทียมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.99 ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปในไตรมาสนี้เพิ่มมากถึง ร้อยละ 99.42 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.12 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
ด้านการนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 26.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการนำเข้าเพชร พลอย เงิน และแพลทินัม ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบลดลงตามดัชนีการผลิตที่ลดลง และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาเพชร และพลอย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้าในภาพรวมลดลง ร้อยละ 25.62 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2558 คาดว่า จะทรงตัวเนื่องจากผู้ประกอบการยังคงเน้นที่จะส่งออกสินค้าจากสต๊อกทดแทนการผลิต โดยจะมีการผลิตชดเชย สต๊อกบ้างบางส่วน
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2558 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปได้เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางยุโรปออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เฉลี่ยเดือนละ 60,000 ล้านยูโร ซึ่งคาดว่า จะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรป สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม คาดว่า จะขยายตัวได้เล็กน้อยตามทิศทางการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่มีแนวโน้มขยายตัว จากราคาทองคำในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2558 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น เพชร พลอย เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แนวโน้มภาพรวมการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่า จะหดตัวจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่ราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--