รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 22, 2015 14:41 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวลงร้อยละ 1.8 จากกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกเป็นหลัก อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ โทรทัศน์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดและปัจจัยด้านผู้ผลิตที่มีจากการหยุดซ่อมเครื่องจักรของผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และการย้ายฐานการผลิตโทรทัศน์

อุตสาหกรรมโทรทัศน์ การผลิตลดลง เนื่องจากมีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน

อุตสาหกรรมเลนส์ ขยายตัวร้อยละ 18.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในปีนี้มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในส่วนของเลนส์กล้องถ่ายรูป และกล้องวงจรปิด และจากการพัฒนาคุณภาพของเลนส์ให้มีความหลากหลาย จึงส่งผลให้ยอดการจำหน่ายสูงขึ้น

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวดีต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเปิดปิดโรงงาน เดือนมีนาคม 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 357 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ร้อยละ 18.2 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ มีจำนวน 27 โรง จำนวนเงินทุน 500.63 ล้านบาท และจำนวนคนงาน 619 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2557 ร้อยละ 13.7 สำหรับโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมีจำนวน 135 ราย มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ร้อยละ 50.0 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าร้อยละ 150

การขอรับการส่งเสริมการลงทุน เดือนมกราคม - มีนาคม 2558 มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ทั้งสิ้น 176 โครงการ เงินลงทุน 28,830 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 33.58 และ 86.81 ตามลำดับ โดยประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุด คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนคิดเป็นร้อยละ 71.63

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย ในเดือนมีนาคม 2558 การนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม และเครื่องมือกล มีมูลค่า 967.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องมือกลที่ยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 33.6 รวมถึงการนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 11.0

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 6,107.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.0 จากการนำเข้าเคมีภัณฑ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รวมถึงผ้าผืน ที่ลดลง

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเดือนมีนาคม 2558 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 10,391 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 (8,936 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) และร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันของปี 2557 (10,107 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง) หากแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า ทุกกิจการ (ขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่) มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาและช่วงเดียวกันของปี 2557

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ติดลบหรือหดตัวร้อยละ 1.8 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้การผลิตลดลง คือ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ โทรทัศน์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้หดตัวร้อยละ 0.4

อย่างไรก็ตามการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันขยายตัวร้อยละ 7.0

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนมีนาคม 2558 ยังไม่มีการเผยแพร่ แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 2.3 ตามลำดับ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2558

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 357 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 302 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 18.2 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 21,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีการลงทุน 20,619 ล้านบาท ร้อยละ 6.2 และมีการจ้างงานจำนวน 10,039 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,394 คน ร้อยละ 35.8

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมากกว่าเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 314 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากว่าร้อยละ 13.7 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีการลงทุน 10,229 ล้านบาท ร้อยละ 114 มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,078 คน ร้อยละ 65.2

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมขุดตักดินลูกรัง สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 29 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ จำนวน 27 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมีนาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทราย จำนวนเงินทุน 5,800 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวนเงินทุน 2,244.76 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมีนาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมทำยางแผ่นรมควัน จำนวนคนงาน 1,591 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ จำนวนคนงาน 619 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 135 ราย มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 90 ราย คิดเป็นร้อยละ 50.0 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,432 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 5,370 ล้านบาท มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 3,969 คน น้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 11,336 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 54 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 150 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนมีนาคม 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,210.5 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างมากกว่าเดือนมีนาคม 2557 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 1,294 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2558 คือ อุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 20 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดตักดินลูกรัง สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 17 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนมีนาคม 2558 คือ ทอหรือเตรียมเส้นด้ายยืนสำหรับการทอ เงินทุน 284 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำส่วนประกอบโลหะสำหรับใช้ในการก่อสร้างสะพาน ประตูน้ำ ถังน้ำ ปล่องไฟ เงินทุน 185.31 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนมีนาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวนคนงาน 912 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทอหรือเตรียมเส้นด้ายยืนสำหรับการทอ จำนวนคนงาน 613 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม - มีนาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.ทั้งสิ้น 176 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 265 โครงการ ร้อยละ 33.58 และมีเงินลงทุน 28,830 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 218,570 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 86.81

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมในเดือนมกราคม - มีนาคม 2558
          การร่วมทุน                       จำนวน          มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)

(โครงการ)

          1.โครงการคนไทย 100%              94                 22,190
          2.โครงการต่างชาติ 100%             61                  5,060
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ       21                  1,580
  • ประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุดในเดือนมกราคม - มีนาคม 2558 คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 20,650 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 2,620 ล้านบาท

1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น การส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน จากการเริ่มฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า ส่วนการจำหน่ายในประเทศปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากฐานปีก่อนที่ต่ำ

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมีนาคม 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.9 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 6.7 และ 4.5 ตามลำดับ เนื่องจากมีวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศก่อนปิดไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.8 เนื่องจากยังมีน้ำมันพืชในตลาดมาก ภายหลังการนำเข้ามาผลิตมากในช่วงปลายเดือนก่อนจนถึงต้นเดือน ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.5 สำหรับอาหารไก่ การผลิตอยู่ในระดับเดียวกันของปีก่อน

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนมีนาคม 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.0 จากฐานการบริโภคในปีก่อนที่ต่ำจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในประเทศ ทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในระยะสั้นๆ

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมีนาคม 2558 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 0.3 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าไก่และผักผลไม้ ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 21.0 จากปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากการผลิต และส่งออกตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและภาวะเศรฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากฐานปีก่อนที่ต่ำ อันเนื่องจากผลของการชุมนุมทางการเมือง อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นที่จะใช้จ่ายจากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจน

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

กลุ่มสิ่งทอมีการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เครื่องนอนและผ้าขนหนู และอื่น ๆ ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชั้นในสตรีและเด็กหญิงและเสื้อชุดกีฬา

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯผ้าผืน และผ้าลูกไม้ลดลง ร้อยละ 0.9 11.6 และ 5.3 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ผลิตมีสต๊อกค่อนข้างมาก ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดอาเซียนลดลง โดยเฉพาะจากประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลัก

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอลดลง ร้อยละ6.7และ 0.1 เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าในกลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น และ สหภาพยุโรป ลดลงประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เพื่อใช้สิทธิ GSP และฐานค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทอ มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เครื่องนอนและผ้าขนหนู และยางยืดส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอ โดยเฉพาะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชั้นในสตรีและเด็กหญิงและเสื้อชุดกีฬา มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการส่งเสริมการตลาดจากผู้ผลิต

การส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ลดลงร้อยละ 4.7 ในกลุ่มสิ่งทอ ร้อยละ 5.6 และกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ 3.0เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฝ้ายลดลง ร้อยละ15.5 แต่อย่างไรก็ตาม เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากใยประดิษฐ์ ไหม ขนสัตว์ และวัตถุทออื่น ๆ มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ9.1 10.2 42.2 และ 1.9 ตามลำดับ จากการส่งออกไปในตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.3

3. แนวโน้ม

คาดว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมจะ ชะลอตัวทั้งกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มตามฤดูกาลผลิต ในส่วนการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัว โดยเฉพาะเสื้อผ้านักเรียน เนื่องจากใกล้เปิดภาคการศึกษาใหม่ อีกทั้งการส่งเสริมยอดขายที่มีการกระตุ้นตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ ในห้างสรรพสินค้า สำหรับการส่งออกคาดว่าจะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา และการถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป ตั้งแต่ 1 ม.ค. 58 เป็นต้นมา

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

สมาคมเหล็กกล้าโลก (WSA) รายงานว่า ปี 2558 ความต้องการใช้เหล็กโลกจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้เหล็กปริมาณมากที่สุดในโลกได้ชะลอตัวลง โดย WSA คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้เหล็กโลกจะมีการขยายตัว ร้อยละ 0.5 (ปริมาณ 1,544 ล้านตัน) โดยชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.6

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมีนาคม 2558 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.80 โดยมีสาเหตุดังนี้

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 7.41 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 14.57 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 13.38 และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 12.23 เนื่องจากมีผู้ผลิตรายใหญ่ 1 ราย ได้หยุดโรงงานเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรประจำปี เป็นระยะเวลาประมาณ 10- 17 วัน ส่งผลให้การผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนลดลง แต่เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมกลับมีการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องที่มีการผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมการผลิตของเหล็กทรงแบนในประเทศและความต้องการใช้ในประเทศลดลง และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 6.4ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.7 (การนำเข้ามีปริมาณ 695,680 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก คือ เหล็กแผ่นหนารีดร้อนชนิด alloy steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 338.3 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 203.7 สำหรับการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 85 (การส่งออก เดือนมีนาคม 2558 มีปริมาณ 53,374 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 262.9 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน carbon steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 237.4

ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวมีการผลิตลดลงร้อยละ 9.74 โดยเหล็กลวด มีการผลิตลดลง ร้อยละ 33.42 และเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 11.84 แต่จากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการนำเข้า โดยเพิ่มถึง ร้อยละ 62.1 (ปริมาณการนำเข้า 306,055 ตัน) ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น มากที่สุด คือ เหล็กลวด alloy steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 183.6 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน stainless steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 126.1 สำหรับการส่งออก ลดลง ร้อยละ 19.9 (ปริมาณการส่งออก 65,774 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกลดลง มากที่สุด ได้แก่ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิด Carbon steel ลดลง ร้อยละ 31.0 รองลงมาคือ เหล็กเส้น alloy steel ลดลง ร้อยละ 25.8

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนมีนาคม 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กมีการปรับตัวลดลงทุกชนิด เช่น เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 117.44 เป็น 76.27 ลดลง ร้อยละ 35.06 เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 115.76 เป็น 83.05 ลดลง ร้อยละ 28.26 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 109.33 เป็น 81.02 ลดลง ร้อยละ 25.89 เหล็กเส้น ลดลงจาก 110.63 เป็น 82.97 ลดลง ร้อยละ 25.00 และ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 113.08 เป็น 86.91 ลดลง ร้อยละ 23.14 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจประกอบกับผู้ผลิตสินแร่เหล็กรายใหญ่ของโลกยังไม่ลดการผลิตในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กโลกยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกลดลงด้วย

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนเมษายน 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะทรงตัว โดยเหล็กทรงยาว คาดการณ์ว่าการผลิตจะทรงตัว โดยการก่อสร้างที่มีอยู่จะเป็นในส่วนของการก่อสร้างภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น สำหรับเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลงตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มการผลิตลดลงเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลัก (สหภาพยุโรป) ที่ยังไม่ฟื้นตัว

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2558 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557ซึ่งเป็นการชะลอตัวของตลาดในประเทศ อย่างไรก็ดี การส่งออกมีการขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่เริ่มมีการส่งออก

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน178,217คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีการผลิต 181,334 คัน ร้อยละ 1.72 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์กระบะ 1 ตัน

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 74,117 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 83,983 คัน ร้อยละ 11.75 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 127,619 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีการส่งออก 113,313 คัน ร้อยละ 12.63 โดยแบ่งเป็นการส่งออกรถยนต์นั่งร้อยละ 36 และรถกระบะ 1 ตันรวมPPV ร้อยละ 64 สำหรับการส่งออกรถยนต์นั่งมีการขยายตัวในประเทศแถบยุโรป อเมริกาเหนือ และโอเชียเนีย ส่วนการส่งออกรถกระบะ 1 ตันและ PPV มีการขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนียอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และยุโรป

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายน 2558 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2557 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนเมษายน 2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 40 และส่งออกร้อยละ 60

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม 2558 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557โดยเป็นการเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 184,373 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีการผลิต 174,580 คัน ร้อยละ 5.61โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 183,976 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 156,029 คัน ร้อยละ 17.91 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์และแบบสปอร์ต

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU)

จำนวน 38,479 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2557ซึ่งมีการส่งออก 24,032 คัน ร้อยละ60.12โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน 2558 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2557 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 76 และส่งออกร้อยละ 24

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

"ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้นซึ่งส่วนมากเป็นการส่งออกไปยังตลาดในประเทศอาเซียน โดยเฉพาะเมียนมาร์ กัมพูชา และลาวในขณะที่ภาพรวมของปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงเล็กน้อย เนื่องจากฐานตัวเลขของปีก่อนค่อนข้างสูง และภาคก่อสร้างของไทยยังไม่ขยายตัวมากนัก"
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนมีนาคม2558เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ลดลงร้อยละ 4.77 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยคิดเป็นร้อยละ0.06

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากปูนซีเมนต์เป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก จึงเน้นผลิตเพื่อขายในประเทศเป็นหลัก หากตลาดในประเทศหดตัว บริษัทผู้ผลิตจะต้องวางแผนการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของกำไรลดลง เนื่องจากมีต้นทุนค่าขนส่งสูง

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนมีนาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.15

เมื่อพิจารณาในภาพรวมการส่งออกยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ถึงแม้ว่าจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน แต่หากดูกราฟเปรียบเทียบในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ของไทยในเดือนนี้อยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เนื่องจากมียอดการสั่งซื้อจากเมียนมาร์ กัมพูชา และลาวในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องประกอบกับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศของไทยยังไม่สูงมากนัก ทำให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์สามารถขยายการส่งออกไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามฤดูกาล เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นช่วงที่ไทยมีวันหยุดยาว ทำให้การก่อสร้างชะลอตัว อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศ ตามโครงการของรัฐบาล และการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนในที่ดินบริเวณแนวรถไฟฟ้า ทั้งโครงการเก่าและโครงการใหม่ จะทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และอาจมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่ไทยมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ทำให้การก่อสร้างชะลอตัวและมีปริมาณความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง บริษัทผู้ผลิตจึงสามารถส่งปูนซีเมนต์ออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น โดยประเทศคู่ค้าหลักของไทยในอาเซียนเองยังคงมีปริมาณความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง จากการที่ภาคเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมียนมาร์ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมีนาคม 2558 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 9.56 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 9.77 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 9.50 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ลดลง

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/          มูลค่า           %YoY

อิเล็กทรอนิกส์ (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

          อุปกรณ์ประกอบของ     1,416.31         -2.81

เครื่องคอมพิวเตอร์

          แผงวงจรไฟฟ้า          631.58        -12.23
          เครื่องปรับอากาศ        458.72          0.27
          ตู้เย็น                 126.64         -4.96
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า     4,666.68         -1.81

และอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมีนาคม 2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 245.32 ลดลงร้อยละ 9.56 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 137.07 ลดลงร้อยละ 9.77 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 11.59 2.81 10.82 23.45 และ 56.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลง จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต และพัดลม เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.37 4.02 และ 19.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 306.73 ลดลงร้อยละ 9.50 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง คือ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.01 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์ลดลง ในส่วน Semiconductor และ Monolithic IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.50 และ 23.62 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมีนาคม 2558 มีมูลค่า 4,666.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.81 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 2,061.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและจีน ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.83 8.36 และ 8.27 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่ตลาดอาเซียนและสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.68 และ 8.45 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 458.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปจีนและอาเซียนเพิ่มขึ้นถึงร้อยล 194.68 และ 29.73 ขณะที่การส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 33.89 19.65 และ 0.33 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ ตู้เย็น มีมูลค่า 126.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียนลดลงร้อยละ 40.41 25.50 และ 2.73 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,604.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.71 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 8.63 และ 0.22 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,416.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.81 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียนปรับตัวลดลงร้อยละ 8.41 5.45 และ 2.47 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 631.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.23 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 19.56 19.11 และ 3.45 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่จีนและอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.60 และ 6.63 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนเมษายน2558 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 4.60 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 7.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดในประเทศ และการส่งออกไปสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 3.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ลดลงตามความต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีการปรับตัวลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ