ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1 ปี 2558 อยู่ที่ 52.5 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2557 อยู่ที่ 104.4 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมิถุนายน (ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2558) อยู่ที่ 60.93 USD/Barrel ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อันเป็นผลมาจากกลุ่มผู้ประท้วงในประเทศลิเบียปิดท่อส่งน้ำมัน และสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (ElA) ได้รายงานสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลดลง
ส่วนของเศรษฐกิจไทยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 โดยปัจจัยที่ทำให้ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 คือ
การเพิ่มขึ้นของภาคนอกเกษตร ขณะที่ภาคเกษตรหดตัว ส่วนด้านอุปสงค์ปรับตัวดีขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากการลงทุนภาคเอกชนที่มีการขยายตัวทั้งด้านการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักรอย่างไรก็ตามการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัวชะลอลงตามรายได้ภาคเกษตรที่ลดลงประกอบกับภาระหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นและการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง ส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชน รวมทั้งราคาสินค้าที่จำเป็น โดยเฉพาะหมวดอาหารบริโภคนอกบ้านที่ยังคงอยู่ในระดับสูงทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการจับจ่ายใช้สอยสำหรับการส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัว ประกอบกับการนำเข้าสินค้าและบริการยังคงหดตัวแม้ว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 0.7 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 2.9 โดยเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และเม็ดพลาสติกที่การผลิตขยายตัวดีตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.7 ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5
สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 หดตัวลงเนื่องจากการส่งออกที่กลับมาหดตัวลงอีกครั้งจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ที่การส่งออกกลับมาขยายตัว โดยการส่งออกมีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.69 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้ายังคงมีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่องที่ระดับร้อยละ 6.43 โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าทั้งสิ้น 105,300.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 53,364.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯและมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 51,936.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 นั้น มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 7.23 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 7.22 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 นี้อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้า โดยมีมูลค่า 1,428.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทยการลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีมูลค่ารวม 135,988.5 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนมกราคมมีมูลค่า 94,548.7 ล้านบาท สำหรับเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 41,439.7 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนมกราคมมุมูลค่าการลงทุนสุทธิ 18,822.1 ล้านบาท และในเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 17,863.5 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 36,685.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 29,937.64 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOl) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOl มีจำนวนทั้งสิ้น 793 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 446 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 1 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 217,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 34,650 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 225 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 82,640 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 194 โครงการ เป็นเงินลงทุน 48,280 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 374 โครงการ เป็นเงินลงทุน 86,640 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดกิจการบริการ และสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 60,570 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์มีเงินลงทุน 56,130 ล้านบาท และหมวดเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษมีเงินลงทุน 35,850 ล้านบาท
สำหรับแหล่งทุนในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 119 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 29,497 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 9 โครงการ มีเงินลงทุน 4,901 ล้านบาท ประเทศฮ่องกงมีจำนวน 11
โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 3,921 ล้านบาท และประเทศสิงคโปร์มีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 17 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 3,374 ล้านบาท
เหล็กและเหล็กกล้า การผลิตเหล็กของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีปริมาณ 1,530,366 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 7.66 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 4,226,089 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.2 โดยเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.8 โดยเป็นผลมาจากโครงการก่อสร้างของภาคเอกชนที่ยังคงพอมีอยู่เล็กน้อย แต่สำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐยังไม่ได้เกิดขึ้น
สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2558 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้เหล็กจะชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยในส่วนของเหล็กทรงแบนซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คาดการณ์ว่าจะชะลอตัว ตามทิศทางที่ชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในขณะที่เหล็กทรงยาว ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง คาดการณ์ว่าจะทรงตัว
ยานยนต์ อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่ 1ของปี 2558 มีปริมาณการผลิตขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวในประเทศแถบโอเชียเนีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ อย่างไรก็ดี ความต้องการของตลาดในประเทศยังคงชะลอตัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรยังไม่ฟื้นตัว
สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 480,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 40 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 60
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ใน ไตรมาส 1/2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 252.49 ลดลงร้อยละ 6.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 8.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะกำลังซื้อในประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง รวมถึงตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัว สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวลดลงของ Hard disk drive เป็นหลัก ตามความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลลดลงและ หันไปใช้แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนมากขึ้น
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2558 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.73 โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าการผลิตจะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิต HDD จะนำไปใช้ในกลุ่ม Cloud Storage และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่มากขึ้นแทนตลาดคอมพิวเตอร์ ทำให้ปริมาณการผลิตไม่มากเท่ากับ ที่ผ่านมา และอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากการชะลอตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น
เคมีภัณฑ์ การส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีมูลค่ารวม 1,740.448 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเครื่องสำอาง คิดเป็นประมาณร้อยละ 34.19 และ 24.88 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีมูลค่ารวม 3,360.750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ คิดเป็นประมาณ ร้อยละ 26.72 22.01 และ 12.97 ตามลำดับ
แนวโน้มไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเร่งรัดโครงการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
พลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก ลดลงร้อยละ 3.87 และดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ 6.87 (ตารางที่ 1 และ 2) ทั้งนี้ เนื่องจาก ราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกลดลง ทำให้ผู้ประกอบการพลาสติกชะลอการผลิตลง เพราะคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมพลาสติกน่าจะได้รับผลกระทบจาก การระงับนำเข้าสินค้าประมงจากไทยของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะส่งผลต่อบรรจุภัณฑ์พลาสติก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ยังโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ และราคาน้ำมันที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของผลิตภัณฑ์พลาสติกยังคงมีความผันผวน
ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าที่ลดลง โดยลดลงร้อยละ 22.93 และ 6.08 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ มีสาเหตุจากการปรับลดลงของระดับราคาผลิตภัณฑ์ตามการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ที่ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว
แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2558 คาดว่าอัตราการขยายตัวไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับปี 2557 คาดว่าในปี 2558 มูลค่าการส่งออกและมูลค่าการนำเข้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2557 ตามการประมาณการขยายตัวของ GDP ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน เพื่อให้สามารถวางแผนการผลิตและกำหนดมาตรการรับมือได้อย่างถูกต้องและทันการณ์
เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาพรวมอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2558 การผลิตอยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการนำเข้ากระดาษราคาถูกจากต่างประเทศ ประกอบกับการส่งออกที่ชะลอตัว ในส่วนการส่งออกภาพรวมมีมูลค่าลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเติบโตอย่างชะลอตัว สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าเยื่อใยยาวจำพวกไม้สน
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ปี 2558 คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รวมถึงการส่งออก กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อาจขยายตัวได้ตามความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการกระตุ้นส่งออกที่อาจจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับมีการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการกลุ่มกระดาษและบรรจุภัณฑ์ของไทยเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์
เซรามิก การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ในไตรมาส 1 ปี 2558 กระเบื้องปูพื้น บุผนังและเครื่องสุขภัณฑ์เติบโตเพิ่มขึ้นตามตลาดในช่วงฤดูกาลขาย สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2558 ยังคงขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2558 ลดลงตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2558 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างลดลง นอกจากนี้ปัญหาหนี้สินและค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การผลิตและจำหน่ายเซรามิกมีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับภาวะการประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2558
ปูนซีเมนต์ ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสแรกของทุกปีเป็นฤดูกาลก่อสร้างของไทย นอกจากนี้ ภาครัฐยังเร่งก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาระบบรถ ไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งถึงแม้จะมีปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างดังกล่าวไม่มากนัก แต่การขยายตัวของการลงทุนในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมตามบริเวณแนวรถไฟฟ้าทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้างของภาคเอกชน ทำให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าภาคก่อสร้างจะยังไม่ขยายตัวมากเท่าที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม
แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจะปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยมีวันหยุดยาวและเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มสิ่งทอการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไตรมาส 1 ปี 2558เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.40 ในขณะที่การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 1.99 และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การผลิตลดลง ร้อยละ1.94แต่การจำหน่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 0.02 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในชะลอตัว สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่มการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักและผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.65 และ 7.58 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.95 และ 3.75 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของตลาดในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเสื้อผ้านักเรียนเพื่อเตรียมการสำหรับเปิดภาคการศึกษาใหม่
ไตรมาส 2 ปี 2558 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายในประเทศจะทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศอาจชะลอตัวภายหลังถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป และภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังไม่ฟื้นตัว ไม้และเครื่องเรือน การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 1 ปี 2558 ลดลงเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2558 ลดลงจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ส่วนของการนำเข้าไม้และเครื่องเรือนไตรมาส 1 ปี 2558 ลดลงสอดคล้องกับภาวะการผลิตและจำหน่ายในประเทศ
การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาค่าครองชีพและหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2558 มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากความต้องการสินค้าในตลาดอาเซียน จีน และประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ในส่วนของการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2557 มีแนวโน้มลดลงซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการผลิตและจำหน่ายในประเทศ
ยา ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศลดลง ในภาพรวมอุตสาหกรรมยายังคงขยายตัวได้ ถึงแม้ว่าการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะหดตัวลงเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ปกติของอุตสาหกรรม โดยการจำหน่ายในประเทศที่ลดลง ส่งผลให้การผลิตไม่ขยายตัวมากนัก
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศจะทรงตัวหรือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมยามีแนวโน้มขยายตัวได้และการประกาศใช้มาตรฐาน PIC/S น่าจะทำให้ผู้ประกอบการไทยวางแผนการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น โดยที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาถูกกีดกันทางการค้าจากอินโดนีเซียมาตลอด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยยังไม่ได้ใช้มาตรฐาน PIC/S จึงคาดว่าสถานการณ์การส่งออกไปยังอินโดนีเซียจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสต่อไป ส่งผลให้การส่งออกในภาพรวมขยายตัวดีขึ้นอีก
ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ภาวะอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ ที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยางและถุงมือตรวจยังขยายตัวได้เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ รวมทั้งใช้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะในประเทศมีสัญญาณว่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ที่คาดว่ายอดการผลิตรถยนต์จะเพิ่มขึ้นในปี 2558 นอกจากนี้ จากการส่งเสริมให้บริษัทผู้ผลิตยางล้อต่างประเทศเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2559 ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญเช่น ยางยานพาหนะและถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลัก รวมทั้งการถูกตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) จากสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ
รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน การฟอกและตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้า อีกทั้งสินค้าปลายน้ำ เช่น เบาะรถยนต์ ชะลอตัวตามการบริโภครถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ที่เกิดจากปัญหาโครงการรถยนต์คันแรก และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง สำหรับการผลิตรองเท้ามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นการผลิตรองเท้าเพื่อสต๊อกสินค้าไว้รองรับช่วงเปิดเทอม และรองรับการผลิตเพื่อส่งออก ไปญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
แนวโน้มปี 2558 คาดว่า การผลิตและการส่งออกรองเท้า จะเพิ่มขึ้นกว่าปี 2557 เนื่องจากการฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา สำหรับการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด คาดว่า จะสามารถขยายตัวได้จากความต้องการใช้สินค้าต่อเนื่อง เช่น เบาะรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้ง คาดการณ์ว่า หากจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2558 เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้เครื่องหนังจำพวกกระเป๋าและรองเท้ามียอดขายเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น
อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2558 ด้านการผลิตและการจำหน่ายหดตัว ร้อยละ 2.90 และ 5.62 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งมอบสินค้าในช่วงเทศกาลก่อนหน้า ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจภายในชะลอตัว ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยลง
การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2558 คาดว่า จะทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจภายในที่ชะลอตัว ประกอบกับคำสั่งซื้อเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน
อาหาร ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 3.71 และ 107.92 จากการผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น ตามปริมาณอ้อยที่เข้าหีบเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีการฟื้นตัวขึ้นบ้างหลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ต่างประเทศและเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากการที่สหภาพยุโรปออกประกาศเตือนและอยู่ระหว่างพิจารณาการลดระดับการค้าหรือระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากไทย
แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2558 คาดว่า ในภาพรวมการผลิตจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0-5 จากปี 2557 จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น และการส่งออกจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ-2.5-2.5 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีการฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากความรุนแรงในยูเครนที่ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งของสหภาพยุโรปและรัสเซีย
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--