เศรษฐกิจไทย
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 โดยปัจจัยที่ทำให้ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 คือ การเพิ่มขึ้นของภาคนอกเกษตร ขณะที่ภาคเกษตรหดตัว ส่วนด้านอุปสงค์ปรับตัวดีขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากการลงทุนภาคเอกชนที่มีการขยายตัวทั้งด้านการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัวชะลอลง ตามรายได้ภาคเกษตรที่ลดลง ประกอบกับภาระหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นและการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง ส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชน รวมทั้งราคาสินค้าที่จำเป็น โดยเฉพาะหมวดอาหารบริโภค นอกบ้านที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการจับจ่ายใช้สอย สำหรับการส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัว ประกอบกับการนำเข้าสินค้าและบริการยังคงหดตัวแม้ว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 0.7 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 2.9 โดยเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และเม็ดพลาสติกที่การผลิตขยายตัวดีตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมเบาเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น และการผลิตเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นตามความต้องการจากตลาดต่างประเทศ อุตสาหกรรมวัตถุดิบเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์กระดาษที่ขยายตัวตามความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการของต่างประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.7 ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5
สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 พบว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2557 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิต ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 สำหรับการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2557 โดยมูลค่าการส่งออกในภาพรวม(ม.ค. - มี.ค. 58) หดตัวร้อยละ 4.7 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 171.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ ผ่านมา (166.5) ร้อยละ 3.2 แต่ทรงตัวโดยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (171.7) ร้อยละ 0.1
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ น้ำตาล ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เบียร์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรลียม เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีทรงตัวโดยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เบียร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยานยนต์ เป็นต้น
ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 183.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (181.8) ร้อยละ 0.8 และทรงตัวโดยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (183.2) ร้อยละ 0.1
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีทรงตัวโดยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน เบียร์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน (ตารางที่ 1) ใน ไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 186.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (185.0) ร้อยละ 0.8 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (210.9) ร้อยละ 11.5
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ น้ำตาล เบียร์ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์จากสตาร์ช เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป Hard Disk Drive ยานยนต์ เบียร์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น
อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 62.1 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 60.1) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (ร้อยละ 61.8)
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เบียร์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยมีค่า 79.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (80.2) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (70.1) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ใน ไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ดัชนีทั้ง 3 มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันของปี 2557 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเป็นรายเดือน จะเห็นว่า ดัชนีในเดือนมีนาคม 2558 ปรับตัวลดลงทุกรายการ เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ภาวะภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร ตลอดจนการส่งออกที่ยังฟื้นตัวภายใต้ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ทำให้กำลังซื้อโดยรวมทั่วประเทศยังปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีค่า 68.4 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (69.6) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (60.0) และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคกังวล
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีค่า 73.1 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (73.8) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (63.9) และยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวมยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีค่า 95.7 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (97.2) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (101.786.4) และอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคเห็นว่ารายได้ในอนาคตของตนจะปรับตัวแย่ลงหรืออยู่ในระดับที่ไม่ดี
จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีค่าเท่ากับ 50.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (48.8) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (47.1) โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ดัชนีโดยรวมมีค่าสูงกว่า 50 แสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการมองว่าภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตมีแนวโน้มที่ดี สำหรับดัชนีที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและ ไตรมาสเดียวกันของปี 2557 คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด และการลงทุนของบริษัท
จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 89.2 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (90.0) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (85.8) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นเป็นรายเดือน จะเห็นว่าดัชนีในเดือนมีนาคม 2558 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 5 เดือน โดยค่าดัชนีที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากการลดลงขององค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ เนื่องจากบรรยากาศของการประกอบการอุตสาหกรรมที่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ประกอบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากขาดการปรับปรุงเทคโนโลยีในการผลิต รวมทั้งการตกต่ำของราคาสินค้าเกษตร ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของเกษตรกร ขณะเดียวกันการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับในภูมิภาค เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลด้านลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการส่งออก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ ขอให้เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน ดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพและอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ สนับสนุนการใช้นวัตกรรมในการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าสินค้า เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมและรองรับการเติบโตของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 151.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 150.8 ตามการเพิ่มขึ้นของเงินทุนจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล และปริมาณเงินตามความหมายกว้าง ณ ราคาคงที่ ปี 2543
สำหรับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีค่าเฉลี่ย 151.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 148.9
ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 126.5 หดตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 127.0 ตามการหดตัวของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ และการนำเข้า ณ ราคาคงที่
สำหรับดัชนีพ้องเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีค่าเฉลี่ย 126.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 126.7
ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 5) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีค่า 104.6 ลดลงจากไตรมาส ที่ผ่านมา (114.4) และไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (106.5) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน การนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภค ณ ราคาคงที่ปี 2543 และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่า ไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีค่า 109.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (109.4) และไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (109.3)
หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีจำนวน 2,899.6 พันเมตริกตัน (ข้อมูลล่าสุดถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558)
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2557
การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2557
ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2557
จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 106.2 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (107.1) และไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (106.7) การที่ราคาผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากการลดลงของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มตามราคาเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์จากนม ผักและผลไม้ รวมทั้งการลดลงของราคาไฟฟ้า ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีค่าเท่ากับ 102.7 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (104.8) และไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (108.2) โดยราคาในหมวดเกษตรกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่าน แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ส่วนราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2557
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2558 (ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2558) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.522 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 37.937 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.48 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.315 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.82)
สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่หนึ่งของปี 2558 มีจำนวน 6.572 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 17.32 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหดตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการค้ายังคงลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัวลง ประกอบกับความต้องการภายในประเทศลดลง ส่งผลให้ทั้งการส่งออก และการนำเข้ามีมูลค่าลดลง สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 นี้ เกินดุลการค้าเป็นมูลค่า 1,428.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 หดตัวลงเนื่องจากการส่งออกที่กลับมาหดตัวลงอีกครั้งจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ที่การส่งออกกลับมาขยายตัว โดยการส่งออกมีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.69 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้ายังคงมีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่องที่ระดับร้อยละ 6.43 โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าทั้งสิ้น 105,300.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 53,364.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 51,936.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 นั้น มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 7.23 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 7.22 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 นี้ อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้า โดยมีมูลค่า 1,428.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงเดือนมีนาคม โดยมูลค่าการส่งออกของเดือนมกราคมมีมูลค่า 17,248.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.46 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์การส่งออกมีมูลค่า 17,229.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.15 และการส่งออกในเดือนมีนาคม ลดลงร้อยละ 4.45 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 18,886.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 42,360.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ79.38) ซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่มี การส่งออกมากที่สุด รองลงมาคือสินค้าเกษตรกรรม 5,021.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.41) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 3,931.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.37) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 2,052.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.85)
เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่าการส่งออกในหมวดสินค้าสำคัญมีเพียงสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.57 สำหรับสินค้าแร่ และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 29.60 สินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าลดลงร้อยละ 14.13 และสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.21
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 10 รายการหลัก ได้แก่ สินค้ายานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบมีมูลค่าการส่งออก 8,244.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 19.46 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม) เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ 7,918.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 18.69) เครื่องใช้ไฟฟ้า 5,793.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 13.68) อัญมณีและเครื่องประดับ 2,740.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.47) เม็ดพลาสติก 2,071.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.89) ผลิตภัณฑ์ยาง 1,734.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.10) สิ่งทอ 1,699.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.01) เคมีภัณฑ์ 1,667.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.94) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง 1,619.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.82) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก 1,430.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.38) โดยมูลค่าการส่งออกทั้ง 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 34,919.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 82.44 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด
การส่งออกไปยังตลาดหลักในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ซึ่งได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นมีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็น ร้อยละ 66.78 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลง ยกเว้นการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.57 จากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกไปยังจีนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 14.41 การส่งออกไปยังญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 9.18 การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศอาเซียนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 5.02 และ 2.39 ตามลำดับ
การนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 เป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 20,857.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 40.16) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน โดยมีมูลค่า 14,349.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 27.63) สินค้าเชื้อเพลิง 7,672.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 14.77) สินค้าอุปโภคบริโภค 5,998.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 11.55) สินค้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง 2,957.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.69) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ 101.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.20) ตามลำดับ
โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าในหมวดสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.62 การนำเข้าสินค้าในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.95 และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.04 สำหรับการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงมี มูลค่าลดลงร้อยละ 39.54 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลง การนำเข้าสินค้ายานพาหนะ และอุปกรณ์ และการนำเข้าสินค้าทุนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.66 และ 1.15 ตามลำดับ
ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 51.39 เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศในอาเซียนและสหรัฐอเมริกามีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.59 และ 0.87 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 3.76 และการนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปมีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.94
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีมูลค่ารวม 135,988.5 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนมกราคมมีมูลค่า 94,548.7 ล้านบาท สำหรับเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 41,439.7 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนมกราคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 18,822.1 ล้านบาท และในเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 17,863.5 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 36,685.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 29,937.64 ล้านบาท
ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 การลงทุนในกิจกรรมทางการเงิน และประกันภัยเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 60,803.7 ล้านบาท รองลงมาคือกิจกรรมการผลิต หรือสาขาอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 36,685.6 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วงมากที่สุดซึ่งมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 9,217.6 ล้านบาท รองลงมาคือการผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ มีมูลค่าลงทุนสุทธิ 7,458.9 ล้านบาท การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ามีเงินลงทุนสุทธิ 5,883.2 ล้านบาท และการผลิตถ่านโค้ก และปิโตรเลียมเป็นมูลค่าสุทธิ 3,638.3 ล้านบาท
ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2558 คือประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีเงินลงทุนสุทธิ 72,631.9 ล้านบาท รองลงมาคือประเทศสิงคโปร์และประเทศเนเธอร์แลนด์โดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 15,872.8 ล้านบาท และ 10,556.5 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 793 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 446 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 1 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 217,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 34,650 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 225 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 82,640 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 194 โครงการ เป็นเงินลงทุน 48,280 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 374 โครงการ เป็นเงินลงทุน 86,640 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดกิจการบริการ และสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 60,570 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์มีเงินลงทุน 56,130 ล้านบาท และหมวดเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษมีเงินลงทุน 35,850 ล้านบาท
สำหรับแหล่งทุนในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 119 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 29,497 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 9 โครงการ มีเงินลงทุน 4,901 ล้านบาท ประเทศฮ่องกงมีจำนวน 11 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 3,921 ล้านบาท และประเทศสิงคโปร์มีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 17 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 3,374 ล้านบาท
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--