ไตรมาส 1 ปี 2558 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ และตามการปรับตัวของอุปสงค์ อุปทานในตลาด โดยภาพรวมราคาเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
การผลิตในประเทศ มีการลงทุนซื้อหุ้นบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีความชำนาญพิเศษด้านปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ของประเทศนอร์เวย์ โดยมีกลยุทธ์เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงของประเทศอินโดนีเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการเป็นผู้นำทางธุรกิจในการพัฒนาสินค้ากลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่ารวม 1,875.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 13.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2557 โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลายมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 45.88 32.97 และ 11.89 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2557
การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่ารวม 796.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 6.08 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.25 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 34.27 และ 36.93 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2557
ราคาเอธิลีนในตลาดเอเชียในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีราคาเฉลี่ยตลอดไตรมาสอยู่ที่ประมาณ 30.12 บาทต่อกิโลกรัม และราคาโพรพิลีนเฉลี่ยตลอดไตรมาสอยู่ที่ 31.89 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาของทั้งสองผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่ราคาเฉลี่ย 43.24 และ 49.13 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ
ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2558 ราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติก (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ของ LDPE, HDPE, และ PP มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 38.58, 38.83 และ 38.21 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE,HDPE และ PP มีระดับราคาเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่ระดับราคาเฉลี่ย 53.95, 50.55 และ 50.70 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ
สรุปและแนวโน้ม
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าที่ลดลง โดยลดลงร้อยละ 22.93 และ 6.08 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ มีสาเหตุจากการปรับลดลงของระดับราคาผลิตภัณฑ์ตามการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ที่ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว
แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2558 คาดว่าอัตราการขยายตัวไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับปี 2557 คาดว่าในปี 2558 มูลค่าการส่งออกและมูลค่าการนำเข้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2557 ตามการประมาณการขยายตัวของ GDP ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน เพื่อให้สามารถวางแผนการผลิตและกำหนดมาตรการรับมือได้อย่างถูกต้องและทันการณ์
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--