สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (มกราคม - มีนาคม 2558)(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 26, 2015 15:34 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภาพรวมขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง ส่งผลให้ภาคก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น การส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดหลักของไทยโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2558 คาดว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะหดตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่ไทยมีวันหยุดยาว ทำให้การก่อสร้างชะลอตัวลง

การผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 11.30 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.98 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.17 และ 2.07 ตามลำดับ สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.92 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.05 ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ถึงแม้ว่าภาคก่อสร้างในประเทศจะยังไม่ขยายตัวมากนัก แต่การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การผลิตขยายตัวได้ดี

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 9.65 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.16 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.49 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.15 เนื่องจากไตรมาสแรกของทุกปีเป็นฤดูกาลก่อสร้างของไทย จึงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.12 เนื่องจากภาคก่อสร้างยังไม่ขยายตัวมากเท่าที่คาดการณ์ไว้

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีปริมาณการส่งออกรวม 3.37 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 187.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 0.90 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 37.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลงร้อยละ 5.26 และ 2.21 ตามลำดับ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.50 และ 12.05 ตามลำดับ ในส่วนของการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณ 2.47 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 149.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.88 และ 15.00 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.96 และ 17.96 ตามลำดับ การส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นในภาพรวม เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ เมียนมาร์ รองลงมา คือ กัมพูชา ลาว บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีปริมาณรวม 3,386.43 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 37.27 และ 19.42 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 19.59 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ารวมทรงตัวในระดับเดิม โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 44.51 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.02 ล้านเหรียญสหรัฐ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 3,341.92 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการนำเข้าส่วนมากเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์เพื่อทดสอบคุณสมบัติต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์ขาวชนิดพิเศษและอะลูมินัสซีเมนต์ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ ซึ่งแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ เนเธอร์แลนด์ รองลงมา คือ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และฝรั่งเศส ตามลำดับ

ราคาสินค้า

ราคาปูนซีเมนต์ในปี 2558 มีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากปูนซีเมนต์เป็นสินค้าควบคุม หากบริษัทผู้ผลิตต้องการจะปรับขึ้นราคาจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน จึงคาดว่าจะไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณมาก และคงต้องขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตในการตรึงราคาปูนซีเมนต์ไว้ นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ที่สูงกว่าปริมาณความต้องการใช้ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ และยังต้องมีการวางแผนการส่งออกที่ดีเพื่อไม่ให้มีปริมาณปูนซีเมนต์ค้างในสต็อกมากจนเกินไปอีกด้วย

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลไม่มีมาตรการ/นโยบาย รองรับสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยตรง แต่มีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสแรกของทุกปีเป็นฤดูกาลก่อสร้างของไทย นอกจากนี้ ภาครัฐยังเร่งก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาระบบรถ ไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งถึงแม้จะมีปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างดังกล่าวไม่มากนัก แต่การขยายตัวของการลงทุนในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมตามบริเวณแนวรถไฟฟ้าทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้างของภาคเอกชน ทำให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าภาคก่อสร้างจะยังไม่ขยายตัวมากเท่าที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม

ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชา มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์สูงขึ้น เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศของตนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจะปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยมีวันหยุดยาวและเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง

สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 คาดว่าจะทรงตัวหรือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในเมียนมาร์และกัมพูชาอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ