อุตสาหกรรมยาของไทยในภาพรวมยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น
ไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีปริมาณการผลิตยาในประเทศรวมทั้งสิ้น 6,810.05 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.15 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.99 โดยมีจำนวนโรงงานตามฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 396 แห่ง ในภาพรวมอุตสาหกรรมยายังมีการขยายตัวที่ดีจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น
การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีปริมาณ 5,989.90 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 1.96 และ 11.12 ตามลำดับ เนื่องจากไทยนำเข้ายาจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งในส่วนของยาชื่อสามัญก็มีการนำเข้าจากอินเดียและจีนมากขึ้น ทำให้ส่วนแบ่งตลาดในประเทศของผู้ประกอบการไทยลดลง
การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีมูลค่า 72.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.30 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหดตัวลงร้อยละ 6.05 เนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น จากการที่ตลาดส่งออกของไทยขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดในประเทศหดตัวลง โดยตลาด
ส่งออกที่สำคัญ 5 ลำดับแรก ในไตรมาสนี้ ยังคงเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งสิ้น ซึ่งได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ และมาเลเซีย ตามลำดับ มีมูลค่าการส่งออกรวม 46.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 64.97 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด และหากพิจารณามูลค่าการส่งออกยารักษาและป้องกันโรคของไทยไปยังตลาดอาเซียนทั้ง 8 ประเทศ (ยกเว้นบรูไน เนื่องจากบรูไนเป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรสูงมาก จึงนิยมบริโภคยาต้นแบบมากกว่ายาชื่อสามัญ) จะเห็นว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 76.97 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาและป้องกันโรคทั้งหมด โดยอีกร้อยละ 5 เป็นการส่งออกไปญี่ปุ่น ซึ่งนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนผลิตยาชื่อสามัญในไทยเพื่อส่งกลับไปยังประเทศของตน และที่เหลือเป็นการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น จีน และฮ่องกง
การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 มีมูลค่า 439.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 30.92 และ 14.74 ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ 5 ลำดับแรก ในไตรมาสนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี อิตาลี สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ตามลำดับ มีมูลค่าการนำเข้ารวม 203.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 46.36 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศลดลง ในภาพรวมอุตสาหกรรมยายังคงขยายตัวได้ ถึงแม้ว่าการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะหดตัวลงเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ปกติของอุตสาหกรรม โดยการจำหน่ายในประเทศที่ลดลง ส่งผลให้การผลิตไม่ขยายตัวมากนัก
สำหรับมูลค่าการส่งออกขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทยในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น โดยร้อยละ 11.65 ของมูลค่าการนำเข้ายาทั้งหมดในไตรมาสนี้เป็นการนำเข้าจากจีนและอินเดีย จะเห็นได้ว่าไทยนำเข้ายาชื่อสามัญจากจีนและอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของภาครัฐ ที่กำหนดให้โรงพยาบาลต้องซื้อยาที่มีราคาถูกที่สุดในยาชนิดเดียวกันเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูง
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศจะทรงตัวหรือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมยามีแนวโน้มขยายตัวได้ และการประกาศใช้มาตรฐาน PIC/S น่าจะทำให้ผู้ประกอบการไทยวางแผนการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น โดยที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาถูกกีดกันทางการค้าจากอินโดนีเซียมาตลอด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยยังไม่ได้ใช้มาตรฐาน PIC/S จึงคาดว่าสถานการณ์การส่งออกไปยังอินโดนีเซียจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสต่อไป ส่งผลให้การส่งออกในภาพรวมขยายตัวดีขึ้นอีก และมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศอาเซียนโดยรวมสูงเกินร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ในส่วนของการนำเข้า คาดว่าจะมีมูลค่าการนำเข้าลดลง เนื่องจากตัวเลขฐานในไตรมาสแรกค่อนข้างสูง
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--