การผลิตและการจำหน่ายอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางล้อ ขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นในปี 2558 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังขยายตัวได้ดีเนื่องจากเป็นสินค้า ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในทางการแพทย์ รวมทั้งใช้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน ในส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางชะลอตัวลง โดยเฉพาะในส่วนของยางยานพาหนะ และถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เนื่องจากความต้องการใช้ของตลาดหลักชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัดสิทธิประโยชน์ ทางภาษี (GSP) จากสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญไป ในส่วนของราคายางปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 1 เป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ปริมาณยางพาราที่เข้าสู่ตลาดลดลง
การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.55 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 25.81 สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ คือ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อ ประกอบด้วยการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง/ รถกระบะ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ และยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้นยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยานที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 0.24 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ สำหรับการผลิต ยางหล่อดอกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ10.65 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อนลดลงร้อยละ 1.71 ในส่วนของถุงมือการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 4.37 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.03
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ และในส่วนของ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ รวมทั้งใช้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.07 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 20.30 สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ ประกอบด้วยยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 0.17 และ 2.33 ตามลำดับ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ
ในส่วนของการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ18.26 และ 20.87 ตามลำดับ เนื่องจาก เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้ในทางการแพทย์ รวมทั้งใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค
การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 1,300.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.45 และ 36.06 ตามลำดับ เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักที่สำคัญชะลอการสั่งซื้อ ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยางล้อในประเทศ โดยเฉพาะยางล้อรถบรรทุกอย่างไรก็ตาม ในส่วนของ น้ำยางข้น ถึงแม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคายางตกต่ำ แต่ถ้าพิจารณาในด้านของปริมาณการส่งออกแล้ว น้ำยางข้นมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกหลัก คือ มาเลเซีย เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมถุงมือยาง
สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ ถุงมือตรวจ ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทาง เภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 1,734.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 11.95 และ 15.12 ตามลำดับ โดยเฉพาะในส่วนของยางยานพาหนะ ลดลงร้อยละ 4.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของการส่งออกยางยานพาหนะของไทยปรับตัวลดลง สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 9.03 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นชะลอตัวลง ซึ่งจากการลดลงของมูลค่าการส่งออกยางยานพาหนะ และถุงมือยางส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) จากสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญไป
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 การนำเข้ายาง รวมเศษยาง ซึ่งประกอบด้วยยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ และยางอื่นๆ มีมูลค่า 238.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.44 และ 12.07 ตามลำดับ โดยเฉพาะยางสังเคราะห์เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลง
สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่า 266.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 6.96 และ 4.24 ตามลำดับ สำหรับตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
1. ในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย และโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และได้มาตรฐานสากลซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
2. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 และวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ตามลำดับ เห็นชอบการดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิม หรือที่ตั้งใหม่ ให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อยางส่วนเกินออกจากระบบ ในช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ภาวะอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ ในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ ที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยางและถุงมือตรวจยังขยายตัวได้เนื่องจากเป็นสินค้า ที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ รวมทั้งใช้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน
ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์คาดว่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจาก เนื่องจากตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของการส่งออกยางยานพาหนะของไทย ปรับตัวลดลง สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นชะลอตัวลง ซึ่งจากการลดลงของมูลค่าการส่งออกยางยานพาหนะ และถุงมือยางส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัดสิทธิประโยชน์ ทางภาษี (GSP) จากสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะในประเทศมีสัญญาณว่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ที่คาดว่ายอดการ ผลิตรถยนต์จะเพิ่มขึ้นในปี 2558 นอกจากนี้ จากการส่งเสริมให้บริษัทผู้ผลิตยางล้อต่างประเทศเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2559 ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญเช่น ยางยานพาหนะและถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลัก รวมทั้งการถูกตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) จากสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ
สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ราคายางโดยมีปัจจัยบวกจากผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อย การอ่อนค่าของเงินเยนและเงินบาท ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผล กระทบต่อราคายางในระยะนี้ เนื่องจากปริมาณการผลิตที่มีมากกว่าความต้องการใช้ โดยผลผลิตจากพื้นที่ปลูกใหม่จะเริ่มทะยอยออกสู่ตลาด
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--