การส่งออกสินค้ารองเท้าและชิ้นส่วน ไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลง เนื่องจากตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2557 ผู้ประกอบการเร่งส่งออกรองเท้าเพิ่มขึ้นเพื่อให้ทันระยะเวลาก่อนการตัดสิทธิ์ GSP ของสหภาพยุโรป ในวันที่ 1 มกราคม 2558 ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหภาพยุโรป ยังคงชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง
การผลิต
1. การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ดัชนีผลผลิตไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 2.57 และ 0.92 ตามลำดับ เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากดัชนีการส่งสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 0.81 และสอดคล้องกับระดับสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.48 แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ดัชนีการส่งสินค้า เพิ่มขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ลดลง ร้อยละ 2.20
2. การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ดัชนีผลผลิตไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ ไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 21.77 และ 15.07 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากดัชนีการส่งสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 18.55 และ 18.65 ตามลำดับ เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.99 และ 7.83 ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศชะลอตัว ประกอบกับการส่งออกในตลาดหลักยังขยายตัวไม่มากนัก จึงลดการผลิตลง ทำให้ระดับสินค้าคงคลังลดลง
3. การผลิตรองเท้า ดัชนีผลผลิตไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส เดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.54 และ 2.94 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตรองเท้าเพิ่มขึ้นเพื่อสต๊อกสินค้าไว้รองรับช่วงเปิดเทอม และรองรับการผลิตเพื่อส่งออก ไป ญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศเมียนมาร์ ทำให้ดัชนีการส่งสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.30 ในขณะที่เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 9.82 ส่วนดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.97 ในขณะที่เปรียบเทียบกับ ไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 1.25
ไตรมาส 1 ปี 2558 (ข้อมูลเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2558) มีโรงงานผลิตรองเท้า ขยายกิจการ จำนวน 1 แห่ง และขออนุญาตประกอบกิจการ 2 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการรองเท้าขยายตัวเพิ่มขึ้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการผลิตรองเท้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่โรงงานฟอกหนังและตกแต่ง ขออนุญาตประกอบกิจการ 3 แห่ง และเลิกประกอบกิจการโรงงาน 1 แห่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการขออนุญาตประกอบกิจการผลิตเพิ่มขึ้น มากกว่า การเลิกประกอบกิจการ แต่การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ในภาพรวมยังคงลดลง ตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง
การตลาดและการจำหน่าย
ไตรมาส 1 ปี 2558 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 450.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.99 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดไปประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น อาเซียน ฮ่องกง และจีน มีการขยายตัวค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากปัจจุบันจีนพยายามย้ายโรงงานที่สร้างมลพิษมาก ๆ ออกไป ส่งผลให้โรงงานฟอกหนังปิดตัวลง ทำให้จีนสั่งซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์หนังฟอกของไทยมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 2.70 ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้
1. หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 213.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.54 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ถุงมือหนัง และหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.36 และ 106.27 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก ปรับตัวลดลง ร้อยละ 54.84 เนื่องจากความต้องการของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย และ กัมพูชา ที่ต้องการสินค้าเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำไปยัง ตลาดอื่น ชะลอตัวลง สำหรับของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง และเครื่องแต่งกายและเข็มขัด ลดลง ร้อยละ 6.01 และ 7.18 ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์ หนังฟอกและหนังอัด ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.81 ตามความต้องการของจีน และกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ถุงมือหนัง และหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.70 1.94 27.16 และ 16.45 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเข็มขัด ลดลง ร้อยละ 8.77 โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ได้แก่ เวียดนาม ฮ่องกง และจีน มีสัดส่วน ร้อยละ 20.96 15.40 และ 12.72 ตามลำดับ
2. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 74.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.62 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เศษสตางค์ มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 8.51 7.35 และ 3.75 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องเดินทางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.29
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ปรับตัวลดลง ร้อยละ 5.58 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือ ลดลง ร้อยละ 5.36 และ 17.90 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่น ๆ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.86 และ 0.63 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วน ร้อยละ 29.31 11.40 และ 9.74 ตามลำดับ
3. รองเท้าและชิ้นส่วน ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 161.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 5.48 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกในกลุ่มรองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ และรองเท้าหนัง ลดลง ร้อยละ 10.96 6.35 และ 14.83 ตามลำดับ สำหรับรองเท้าอื่น ๆ และส่วนประกอบของรองเท้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.75 และ 55.58 ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 18.03 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง รองเท้าอื่น ๆ และส่วนประกอบรองเท้า ลดลง ร้อยละ 6.37 25.03 15.90 และ 22.05 ตามลำดับ เนื่องจากตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2557 ผู้ประกอบการเร่งส่งออกรองเท้าเพิ่มขึ้นเพื่อให้ทันระยะเวลาก่อนการตัดสิทธิ์ GSP ในวันที่ 1 มกราคม 2558 หลังจากนั้นการส่งออกได้ลดลง
เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหภาพยุโรป ยังคงชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่วนรองเท้ากีฬา ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.61 โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีสัดส่วน ร้อยละ 13.52 9.04 และ 7.52 ตามลำดับ
ไตรมาส 1 ปี 2558 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 374.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.12 และ 5.50 ตามลำดับ ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้
1. หนังดิบและหนังฟอก ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 188.88 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.02 และ 3.97 ตามลำดับ โดยแหล่งนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่สำคัญ ได้แก่ บราซิล สหรัฐอเมริกา และอาร์เจนตินา มีสัดส่วน ร้อยละ 12.02 11.01 และ 10.90 ตามลำดับ
2. กระเป๋า ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 92.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.69 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 1.63 โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน อิตาลี และฝรั่งเศส มีสัดส่วน ร้อยละ 43.72 22.07 และ 13.14 ตามลำดับ
3. รองเท้า ไตรมาส 1 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 93.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.64 และ 17.40 ตามลำดับ โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอิตาลี มีสัดส่วน ร้อยละ 46.33 16.48 และ 11.22 ตามลำดับ
1. นโยบายการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs ต้องปรับตัวทั้งกลยุทธ์ด้านการผลิตและการตลาด เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง โดยกลยุทธ์หนึ่งในการปรับตัว คือ การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ทำการเผยแพร่ผลศึกษาแนวทางการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง และอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นคู่มือและแนวทางประกอบการตัดสินใจในการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศดังกล่าว รวมถึงได้ส่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศให้ BOI เรียบร้อยแล้ว
2.นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ตั้งเป้าหมาย เพิ่มสัดส่วน GDP ของ SMEs ที่ปัจจุบันมีจำนวน 2.724 ล้านราย จากร้อยละ 37 เป็น ร้อยละ 40 ใน 10 ปีข้างหน้า และเตรียมความพร้อมให้ SMEs พร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ผ่านแผนงานสำคัญ ได้แก่ ส่งเสริม SMEs ไทยให้ก้าวสู่การเป็น Supply Chain ของอาเซียน โดย ตั้งเป้าหมายพัฒนาธุรกิจรวม600 กิจการ ผู้ประกอบการ 12,000 คน และพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยงบประมาณ 157 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะได้รับการส่งเสริม
ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน การฟอกและตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้า อีกทั้งสินค้าปลายน้ำ เช่น เบาะรถยนต์ ชะลอตัวตามการบริโภครถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ที่เกิดจากปัญหาโครงการรถยนต์คันแรก และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง สำหรับการผลิตรองเท้ามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นการผลิตรองเท้าเพื่อสต๊อกสินค้าไว้รองรับช่วงเปิดเทอม และรองรับการผลิตเพื่อส่งออก ไปญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
การส่งออก ไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง รองเท้าและชิ้นส่วน ซึ่งเป็นผลจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหภาพยุโรป ยังคงชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง สำหรับการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการส่งออกไปประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น อาเซียน ฮ่องกง และจีน มีการขยายตัวค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากปัจจุบันจีนมีความพยายามย้ายโรงงานที่สร้างมลพิษมาก ๆ ออกไป ส่งผลให้โรงงานฟอกหนังปิดตัวลง ทำให้จีนสั่งซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์หนังฟอกของไทยมากขึ้น
การนำเข้า ไตรมาส 1 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้น ใน กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ หนังดิบและหนังฟอก และรองเท้า เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณดีขึ้นจากการกระตุ้นการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ และแรงสนับสนุนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น
แนวโน้มปี 2558 คาดว่า การผลิตและการส่งออกรองเท้า จะเพิ่มขึ้นกว่าปี 2557 เนื่องจากการฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา สำหรับการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด คาดว่า จะสามารถขยายตัวได้จากความต้องการใช้สินค้าต่อเนื่อง เช่น เบาะรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้ง คาดการณ์ว่า หากจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2558 เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้เครื่องหนังจำพวกกระเป๋าและรองเท้ามียอดขายเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น จากการเมืองมีเสถียรภาพ ความเชื่อมั่นนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใน ส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นเกิดความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภคมากยิ่งขึ้น สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากวิกฤตหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรปและการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อาจทำให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มรองเท้าและเครื่องหนังไปตลาดหลักขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลต่อภาคการผลิตในภาพรวม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs ที่ต้องปรับตัวทั้งกลยุทธ์ด้านการผลิตและการตลาดอาจส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังลดลง และความผันผวนของค่าเงินบาทอาจส่งผลต่อการตัดสินใจรับคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ รวมทั้งการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ เพื่อการผลิตสินค้าปลายน้ำที่ได้คุณภาพและมีต้นทุนการผลิตที่ถูกลงโดยเปรียบเทียบ
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--