รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 13, 2015 16:11 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2558 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาร้อยละ 9.4 แต่ลดลงร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลง อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ รถยนต์ โทรทัศน์ เบียร์และเครื่องประดับ อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ผลิตเพื่อตอบสนองในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.43 อาทิ การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม

อุตสาหกรรม Hard disk drive ภาวะการผลิตลดลงร้อยละ 19.95 เนื่องจากความต้องการ Hard disk drive ในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากความถดถอยของความต้องการคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ในขณะที่เทคโนโลยี Solid State Drives (SSD) กำลังเป็นที่นิยมใช้ในอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักเบา และต้องการความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลสูง โดยความต้องการ SSD สำหรับคอมพิวเตอร์มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมรถยนต์ ภาวะการผลิตลดลงร้อยละ 8.2 เป็นผลจากสินค้ารถกระบะ 1 ตัน เป็นหลักซึ่งมีการเปลี่ยนรุ่นรถกระบะของรถยี่ห้อหนึ่ง รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว จากปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง รวมถึงการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้การซื้อรถยนต์ยังไม่ฟื้นตัว

อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.12 เนื่องจากปีก่อนโรงกลั่นบางโรงหยุดซ่อมบำรุงประจำปี ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนค่อนข้างมาก

การเปิดปิดโรงงาน เดือนพฤษภาคม 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 373 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2558 ร้อยละ 6.9 แต่ยอดเงินลงทุนรวมและจำนวนการจ้างงานลดลงร้อยละ 72.14 และ 38.85 ตามลำดับ โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล มีจำนวน 1 โรง จำนวนเงินทุน 5,800 ล้านบาท และจำนวนคนงาน 390 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2557 ร้อยละ 17.67 สำหรับโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมีจำนวน 126 ราย มากกว่าเดือนเมษายน 2558 ร้อยละ 43.18 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าร้อยละ 41.6

การขอรับการส่งเสริมการลงทุน เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2558 มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ทั้งสิ้น 306 โครงการ เงินลงทุน 48,250 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 35.03 และ 83.8 ตามลำดับ โดยประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุด คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนคิดเป็นร้อยละ 67.5

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนพฤษภาคม 2558 การนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม และเครื่องมือกล มีมูลค่า 1,016.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 15.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องมือกลที่ยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 44.0 รวมทั้งการนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 5.6

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 5,976.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯหดตัวร้อยละ 10.6 จากการนำเข้าอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ผ้าผืน ด้ายและเส้นใย ที่ลดลง

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนพฤษภาคม 2558 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 10,610.8 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 จากเดือนเมษายน 2558 (9,427.7 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันของปี 2557 (10,372.9 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) หากแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า ทุกกิจการ (ขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่) มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production lndex : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ติดลบหรือหดตัวร้อยละ 7.6 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้การผลิตลดลง คือ Hard Disk Drive รถยนต์ โทรทัศน์ เบียร์ และเครื่องประดับ เป็นต้น

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้หดตัวร้อยละ 2.8

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันหดตัวร้อยละ 2.6

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนพฤษภาคม 2558 ยังไม่มีการเผยแพร่ แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนเมษายน 2558 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 4.1 และ 5.8 ตามลำดับ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2558

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 373 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 349 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 6.9 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 19,011 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเมษายน 2558 ซึ่งมีการลงทุน 68,239 ล้านบาท ร้อยละ 72.14 มีการจ้างงานจำนวน 7,829 คน ลดลงจากเดือนเมษายน 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 12,803 คน ร้อยละ 38.85

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 317 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 17.67 มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,004 คน ร้อยละ 11.78 แต่มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีการลงทุน 19,534 ล้านบาท ร้อยละ 2.68

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2558 คือ-อุตสาหกรรมขุดตักดินลูกรัง สำหรับใช้ในการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ ทั้งสองอุตสาหกรรมจำนวน 29 โรงงานเท่ากัน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนจากไม้ จำนวน 27 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2558 คือ-อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จำนวนเงินทุน 5,800.00 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวนเงินทุน 1,890.43 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2558 คืออุตสาหกรรมผลิตขวดพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติก จำนวนคนงาน 800 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวนคนงาน 465 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2558 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 126 ราย มากกว่าเดือนเมษายน 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 88 ราย คิดเป็นร้อยละ 43.18 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 2,007 ล้านบาท มากกว่าเดือนเมษายน 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 761 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 3,109 คน มากกว่าเดือนเมษายน 2558 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 2,399 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 89 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 41.6 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,272 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2557 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,092 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2558 คืออุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 21 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนจากไม้ จำนวน 9 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2558 คือ อุตสาหกรรม ทำภาชนะบรรจุ เครื่องมือเครื่องใช้จากไม้ เงินทุน 594.41 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำพลาสติกเป็นเม็ด แท่ง ท่อ หลอด แผ่น ชิ้น ผง หรือรูปทรงต่าง ๆ เงินทุน 300.44 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวนคนงาน 551 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์จากสิ่งทอเป็นเครื่องใช้ในบ้าน จำนวนคนงาน 281 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)ในเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.ทั้งสิ้น 306 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 471 โครงการ ร้อยละ 35.03 มีเงินลงทุน 48,250 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 297,920 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83.80

การกระจายหุ้นของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมในเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2558

          การร่วมทุน                     จำนวน     มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)

(โครงการ)

          1.โครงการคนไทย 100%           148           33,590
          2.โครงการต่างชาติ 100%          106            7,130
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ     52            7,530
  • ประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุดในเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2558 คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 32,570 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 4,060 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง การส่งออกปรับชะลอตัวลงจากปีก่อน จากภาวะเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้าชะลอตัว ส่วนการจำหน่ายในประเทศปรับชะลอตัวจากกำลังซื้อและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ลดลง

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อน แต่หากรวมน้ำตาล การผลิตลดลงร้อยละ 0.3 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่ปรับตัวลดลง เช่น สับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 25.6 เนื่องจากวัตถุดิบลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.9 เนื่องจากปริมาณน้ำมันในตลาดมีมาก ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับอาหารไก่ การผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 1.3

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนพฤษภาคม 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.8 จากความเขื่อมั่นในเศรษฐกิจที่ลดลง และจากกำลังซื้อที่ลดลงตามภาระหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายลดลง

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤษภาคม 2558 ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.6 โดยเป็นการลดลงของการส่งออกสินค้าไก่และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 22.8

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออก คาดว่า จะปรับชะลอตัวลงจากปีก่อน เนื่องจากการผลิตและส่งออกตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอตัวลงจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าเริ่มชะลอตัวอีก สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับชะลอตัวลงจากผู้บริโภคที่ยังขาดความเชื่อมั่นที่จะใช้จ่ายจากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจน

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

กลุ่มสิ่งทอมีการจำหน่ายชะลอตัวตามการผลิตในกลุ่มปลายน้ำโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เส้นใยฯ และผ้าผืน จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับเวียดนามลดการนำเข้าผ้าผืนจากไทย

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ส่วนใหญ่มีการผลิตลดลง ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน ผ้าขนหนูรวมถึงเครื่องนอน ผ้าลูกไม้และยางยืด ร้อยละ 3.9 4.8 1.2 1.0 และ 10.2 ตามลำดับจากคำสั่งซื้อของตลาดภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซียลดลง

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.4 ในขณะที่เสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.5 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้านักเรียน

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทอ มีการจำหน่ายลดลงในผลิตภัณฑ์ เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และยางยืด ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นทั้งเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอ โดยเฉพาะเสื้อผ้านักเรียน นักศึกษาสำหรับเปิดภาคการศึกษาใหม่

การส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มลดลงร้อยละ 11.1 แบ่งเป็นกลุ่ม สิ่งทอลดลงร้อยละ 12.4 ในผลิตภัณฑ์สำคัญ ได้แก่ ผ้าผืน ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์เคหะสิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์ ลดลง ร้อยละ 18.5 14.1 16.1 และ 4.0 ตามลำดับ และกลุ่มเครื่องนุ่งห่มลดลงร้อยละ 8.9 ในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรงฯ ถุงเท้าและถุงน่องลดลง ร้อยละ 7.9 20.8 และ 6.6 ตามลำดับโดยเฉพาะในตลาดคู่ค้าหลักได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ร้อยละ 8.2 7.8 7.6 และ 21.1 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

คาดว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมอาจปรับตัวลดลงตามฤดูกาลผลิต ในส่วนการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัว โดยเฉพาะเสื้อผ้านักเรียน/นักศึกษา และเสื้อผ้าแฟชั่น ที่มีราคาปานกลางถึงสูง ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค สำหรับการส่งออกคาดว่าจะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ และการถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

บริษัท Posco- Vietnam ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นเกาหลีใต้ที่ตั้งอยู่ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 1.2 ล้านตัน/ปี ได้ขายเหล็กแผ่นรีดเย็น จำนวน 15,000 ตันให้แก่ บริษัทไทยซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่าปริมาณจะไม่มาก แต่นับเป็นก้าวสำคัญที่บริษัทจากประเทศเกาหลีใต้สามารถเพิ่มพื้นที่ตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เพิ่มขึ้น และเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทเหล็กแผ่นรีดเย็นจาก Posco Vietnam ได้รับการรับรองคุณภาพจากบริษัทไทยซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ ว่าสามารถนำไปใช้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เตาแก๊สและไมโครเวฟ เนื่องจากเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นต้องมีความทนทานต่ออุณหภูมิสูง

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนพฤษภาคม 2558 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 130.04 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลง ร้อยละ 8.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุดังนี้

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 9.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 30.54 เนื่องจากอุตสาหกรรม ผลไม้กระป๋องมีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากภัยแล้งทำให้ไม่มีวัตถุดิบในการผลิต รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 9.98 และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 9.28 เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงทรงตัวอยู่ และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 9.0 ปริมาณการนำเข้าโดยรวม ลดลง ร้อยละ 8.0 (การนำเข้ามีปริมาณ 686,671 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการนำเข้าลดลงมาก คือ เหล็กแผ่นบาง alloy steel ลดลง ร้อยละ 38.1 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (HDG) ลดลง ร้อยละ 21.8 สำหรับการส่งออก ลดลง ร้อยละ 21.9 (การส่งออก มีปริมาณ 29,003 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการส่งออก ลดลง มากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเบางรีดร้อน Stainless steel ลดลง ร้อยละ 99.4

ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวมีการผลิตลดลง ร้อยละ 7.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กลวด มีการผลิตลดลง ร้อยละ 25.46 และลวดเหล็ก ลดลง ร้อยละ 23.62 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 24.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 24.8 (ปริมาณการนำเข้า 242,921 ตัน) ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าลดลง มากที่สุด คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลดลง ร้อยละ 88.7 เหล็กเส้น alloy steel ลดลง ร้อยละ 26.9 สำหรับการส่งออก ลดลง ร้อยละ 19.1 (ปริมาณการส่งออก 104,968 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกลดลง มากที่สุด ได้แก่ เหล็กลวด stainless steel ลดลง ร้อยละ 100.00 รองลงมาคือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิด stainless steel ลดลง ร้อยละ 92.6

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนพฤษภาคม 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กมีการปรับตัวลดลงทุกชนิด เช่น เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 115.81 เป็น 71.62 ลดลง ร้อยละ 38.16 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 112.41 เป็น 72.82 ลดลง ร้อยละ 35.22 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 113.08 เป็น 83.17 ลดลง ร้อยละ 26.45 เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 116 เป็น 88.47 ลดลง ร้อยละ 23.73 และเหล็กเส้น ลดลงจาก 110.63 เป็น 84.68 ลดลง ร้อยละ 23.46 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจประกอบกับผู้ผลิตสินแร่เหล็กรายใหญ่ของโลกยังไม่ลดการผลิตในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กโลกยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกลดลงด้วย

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนมิถุนายน 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะลดลง ทั้งเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังทรงตัวอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ที่มีสถานการณ์การผลิตที่ทรงตัว

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2558 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งเป็นการชะลอตัวของตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 135,045 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีการผลิต 148,011 คัน ร้อยละ 8.76 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์กระบะ 1 ตัน

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 56,942 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 69,681 คัน ร้อยละ 18.28 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV ทั้งนี้การลดลงเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำเนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าส่วนหนึ่งมีรายได้ลดลงอีกทั้งหนี้ในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 88,937 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีการส่งออก 94,788 คัน ร้อยละ 6.17 แบ่งเป็นการส่งออกรถยนต์นั่งร้อยละ 42 และรถกระบะ 1 ตันและ PPV ร้อยละ 58 โดยการส่งออกรถกระบะ 1 ตัน และ PPV ชะลอตัว เนื่องมาจากผู้ประกอบการบางรายอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนรุ่นของรถยนต์ โดยเป็นการลดลงในประเทศแถบตะวันออกกลาง แอฟริกาอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และยุโรป อย่างไรก็ดีการส่งออกรถยนต์นั่งมีการขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย และโอเชียเนีย

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2558 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2557 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45 และส่งออกร้อยละ 55

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม2558 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557โดยเป็นการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศ

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 150,041 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีการผลิต160,898 คัน ร้อยละ 6.75 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 144,941 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 155,813 คัน ร้อยละ 6.98 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)

จำนวน 34,231คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีการส่งออก 21,998 คัน ร้อยละ 55.61 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2558 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2557 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 83 และส่งออกร้อยละ 17

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากอินโดนีเซียสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเมียนมาร์และกัมพูชายังคงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของไทยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาพรวมของการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศยังทรงตัว เนื่องจากภาคก่อสร้างในประเทศยังไม่ขยายตัวมากนัก"

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนพฤษภาคม2558เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ลดลงร้อยละ 7.12 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.88

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตลดลง แต่ปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่จะทำให้อุตสาหกรรมขยายตัวได้ เนื่องจากปูนซีเมนต์เป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก และการจำหน่ายในประเทศจะได้ส่วนต่างของผลกำไรที่ดีกว่าการส่งออก

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนพฤษภาคม2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.67

เมื่อพิจารณาในภาพรวมการส่งออกขยายตัวได้ดี โดยจะเห็นได้จากกราฟว่า ยอดการส่งออกในเดือนนี้เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตลดลงและมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศอยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ก็ตาม โดยประเทศคู่ค้าที่นำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยมากที่สุดในเดือนนี้ยังคงเป็นเมียนมาร์และกัมพูชา แต่ประเทศผู้นำเข้าที่ทำให้ไทยสร้างสถิติการส่งออกในครั้งนี้ คือ อินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าการนำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยเป็นจำนวนกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปกติที่เคยนำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยในแต่ละปี เฉลี่ยเพียงไม่เกิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม นโยบายเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาลที่จะชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จะทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นได้ต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจะยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ส่งผลให้แม้ว่าบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยจะลดปริมาณการผลิตลง ก็ยังสามารถขยายการส่งออกได้ โดยเฉพาะในขณะนี้ อินโดนีเซียกำลังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศสูงมาก จนปริมาณที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอ ต้องหันมานำเข้าจากไทยมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ไทยสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ได้ในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกปูนซีเมนต์ที่สำคัญสุดของไทยยังคงเป็นเมียนมาร์ โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของการส่งออกปูนซีเมนต์ทั้งหมดของไทย

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤษภาคม 2558 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 15.07 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 15.71 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงทั้งในประเทศและตลาดส่งออกหลัก และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 14.92 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ที่ปรับตัวลดลงง

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน พ.ค. 2558

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/             (มูลค่า          %YoY
          อิเล็กทรอนิกส์           ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
          อุปกรณ์ประกอบของ          1,513.69       -2.71

เครื่องคอมพิวเตอร์

          แผงวงจรไฟฟ้า               574.44       -8.76
          เครื่องปรับอากาศ             366.13       -7.99
          กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้อง        145.76       -0.75

ถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล

          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า          4,509.06       -4.92

และอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤษภาคม 2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 247.84 ลดลงร้อยละ 15.07 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 128.50 ลดลงร้อยละ 15.71 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 0.74 8.09 12.67 26.37 และ 85.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย รวมถึงได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว (ยุโรป และญี่ปุ่น) สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.97เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 315.53 ลดลงร้อยละ 14.92 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 19.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง สำหรับ Other lC เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุปกรณ์สื่อสาร/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทาให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤษภาคม 2558 มีมูลค่า 4,509.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.92 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,906.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะจีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 18.12 13.68 8.46 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นอาเซียน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.86 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 366.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.99 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นลดลงถึงร้อยละ 65.24 22.95 และ 8.88 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่การส่งออกไปอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.60 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล มีมูลค่า 145.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.75 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปจีน อาเซียนและสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 28.31 9.14 และ 3.65 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,602.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.36 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปอาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 12.10 6.96 และ 3.73 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,513.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.71 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน และอาเซียน ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.16 5.10 4.62 และ 3.84 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 574.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไป อาเซียน และสหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 13.56 และ 8.91 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.20 9.29 และ 0.61 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมิถุนายน 2558 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 4.24 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 4.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดในประเทศ และการส่งออกไปสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 3.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ลดลงตามความต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีการปรับตัวลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ