นายอุดม วงศ์วิวัฒนไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมยาในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากความต้องการใช้ยาชื่อสามัญ ทำให้ประเทศต่างๆ สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกเป็นมูลค่ามหาศาล ประเทศไทยเองก็มีศักยภาพสูงในการผลิตยาชื่อสามัญ และยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก แต่เนื่องจากมีข้อตกลงทางการค้าที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการส่งออกมากขึ้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องติดตาม มาตรการต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค เพื่อมุ่งพัฒนาการค้าอุตสาหกรรมยาในตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยเพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับองค์ความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายตลาดส่งออกได้กว้างขึ้น ทั้งอาเซียนและตลาดโลก
จากการศึกษามาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศจีน อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ พบว่ามาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาส่วนใหญ่เป็นมาตรการด้านกฎระเบียบ มาตรฐาน ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาของประเทศต่างๆ โดยประเทศจีน มีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทางการค้าที่สำคัญคือกระบวนการขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยต้องขึ้นทะเบียนกับ China Food and Drug Administration (CFDA) แยกย่อยตามมณฑล มีเพียงการขึ้นทะเบียนที่กรุงปักกิ่งเท่านั้นที่จะสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาได้ทั่วประเทศได้ และต้องแปลเอกสารทุกอย่างเป็นภาษาจีนทั้งหมด ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนใช้ระยะเวลานานเกินกว่า 3 ปี มีค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนไม่สูงมากนัก แต่จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายให้กับตัวแทนทางกฎหมายที่มีสัญชาติจีนที่จะยื่นขอขึ้นทะเบียนตำรับยา ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือความคุ้มค่าในการลงทุนจากโอกาสในการแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศ การนำผลิตภัณฑ์ยาเข้าในบัญชีรายการยาของโรงพยาบาล ศักยภาพของโรงงานผลิตยาที่จะสามารถผลิตในปริมาณมากเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของประชากรในจังหวัดที่ประมูลได้ ตลอดจนสายสัมพันธ์การรู้จักคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ในการติดต่องานกับหน่วยราชการก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักถึง ดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริมตลาดยาสมุนไพรโดยเจาะตลาดมณฑลทางตอนใต้ของจีนที่มีสภาวะใกล้เคียงกับประเทศไทย ด้วยการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ สรรพคุณสมุนไพรไทยที่มีความหลากหลายให้เป็นที่รู้จัก และต้องจัดให้มีการขึ้นทะเบียนการปลูกพืชสมุนไพร เพื่อให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ตามมาตรฐาน Chinese GMP ได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะสำเร็จได้ต้องอาศัยการสร้างความร่วมมือทางการแพทย์กับจีนเป็นสำคัญ
สำหรับประเทศอินโดนีเซีย มีกฎหมายเป็นอุปสรรคที่สำคัญเพราะกำหนดไว้ว่ายาที่จะนำเข้าได้จะต้องเป็นยาที่มีลักษณะ คือ 1) เป็นยาใหม่ที่ไม่มีจำหน่าย 2) เป็นยาที่มีอยู่แล้วแต่ไม่มีโรงงานยาในประเทศผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ และ 3) เป็นยาตามโครงการสาธารณสุขแห่งชาติ เช่น วัคซีน หรือยาฆ่าเชื้อ ซึ่งมีความต้องการใช้จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขว่าจะต้องกระทำโดยโรงงานผู้ผลิตยาในประเทศและผู้นำเข้าต้องทำข้อตกลงว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้สามารถผลิตยาได้ด้วยตนเองภายในระยะเวลา 5 ปี จากมาตรการดังกล่าว จึงเห็นควรหาแนวทางเจรจากับประเทศอินโดนีเซียเพื่อผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดเพื่อมิให้เสียเปรียบและควรกำหนดแนวทางการคุ้มครองนักลงทุนไทยในต่างประเทศด้วย
ในส่วนของประเทศเมียนมาร์ เป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีปัญหาอุปสรรคในการลงทุนแต่ควรผลักดันในเรื่องความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่บุคลากรของสำนักงานอาหารและยาเพื่อช่วยลดเวลาในการตรวจรับรอง/ขึ้นทะเบียนตำรับยา
นายอุดม วงศ์วิวัฒนไชย ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยต่อไปอีกว่า นอกจากข้อเสนอแนะในการส่งเสริมตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ยาในประเทศต่างๆ ข้างต้นแล้ว ยังควรมีการผลักดันการดำเนินการด้านอื่นที่ต้องกระทำควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การยกระดับองค์ความรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาด้วยการให้ความรู้ โดยผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการขึ้นทะเบียนตำรับยาของประเทศไทย และมาตรฐาน ASEAN Common Technical Dossier (ACTD) เพื่อให้สามารถส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ นอกจากนี้ สศอ. ได้จัดทำเว็บไซต์ผ่านทางหน้าหลักของเว็บไซต์ สศอ. ที่ www.oie.go.th ภายใต้แบนเนอร์ “ฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนยาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านกฎระเบียบและอุปสรรคทางการค้าสำหรับผลิตภัณฑ์ยา
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--