สศอ.ชี้ทิศทางอุตสาหกรรมไทยปี 2558 โต 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 14, 2015 09:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ. ชี้ทิศทางอุตสาหกรรมไทย ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภาคอุตสาหกรรมปีนี้ ยังคงอัตราการเติบโตในเกณฑ์ 2 ถึง 3% เป็นผลจากปัจจัยบวกยังมีแรงหนุนดี แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศอย่างใกล้ชิด

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากที่ในปี 2558 ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาในหลายๆ ด้านทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ เช่น ปัญหาการส่งออกที่หดตัว ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน และราคาน้ำมันที่ผันผวน เป็นต้น อย่างไรก็ตามคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภาคอุตสาหกรรมในปี 2558 ยังสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2 ถึง 3 โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การลงทุนที่ขยายตัวสูงขึ้นจากการเร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุน การเร่งการใช้จ่ายและดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ การเริ่มกลับมาขยายตัวของการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในตลาดต่างประเทศ และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ ลดแรงกดดันด้านราคาและเพิ่มอำนาจซื้อ

สศอ. ยังคงประมาณการการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมตามที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี ล่าสุดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของภาคอุตสาหกรรมไตรมาสแรกอยู่ที่อัตราร้อยละ 2.3 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังอยู่ในกรอบที่ประมาณการไว้ และคาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3 ถึง 4 โดยการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเกิดจากการขยายตัวในอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์เคมี ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์แก้ว ซีเมนต์ คอนกรีต กระเบื้อง และเซรามิค เหล็ก และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ มีดังนี้

  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 0.86 ถึง 1.61 ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว และสถานการณ์บ้านเมืองที่สงบ ทำให้มีการบริโภคและท่องเที่ยวมากขึ้น แต่มีปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ การผลิตกุ้ง ว่าจะสามารถฟื้นตัวจากโรคกุ้งตายด่วนได้หรือไม่ และการพิจารณาปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงจะส่งผลต่อการระงับ/ลดระดับการค้าของไทยจาก EU และสหรัฐฯ
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน คาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 1.48 ถึง 2.34 จากตลาดส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากการ Allocate การผลิตจากบริษัทแม่ แต่สำหรับตลาดภายในประเทศ อาจเติบโตจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 1.67 ถึง 3.52 จากแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ประมาณร้อยละ 3 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น อย่างไรก็ตามสำหรับตลาดในประเทศ ค่อนข้างทรงตัวตามกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เคมี คาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 1.39 ถึง 3.64 จากความชัดเจนของการลงทุนในภาครัฐ และผลการเร่งรัดอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ซึ่งคาดว่า จะเริ่มมีการดำเนินการโครงการในปี 2558
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมคาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 1.71 ถึง 3.18 จากต้นทุนทางด้านพลังงานที่ลดต่ำลงทำให้มีความต้องการใช้มากขึ้น รวมถึงการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนมีคาดว่าจะมีการขยายตัวมากขึ้น
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์แก้ว ซีเมนต์ คอนกรีต กระเบื้อง และเซรามิคคาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 3.06 ถึง 4.67 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่น รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมเซรามิค ซีเมนต์ คอนกรีต กระเบื้อง ขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมเหล็กคาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 4.37 ถึง 7.26 จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 1.12 ถึง 2.46 จากการขยายตัวของความต้องการสินค้าและวัตถุดิบของประเทศคู่ค้า สำหรับตลาดภายในประเทศขยายตัวตามชุดกีฬาที่ผลิตจากผ้าไนลอนเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่ต้องระวัง คือการที่จีนและไต้หวันเข้าไปลงทุนสิ่งทอต้นน้ำในเวียดนาม คาดว่าเมื่อมีการผลิตเต็มรูปแบบ ความต้องการเส้นด้าย และผ้าผืนจากไทยจะลดลง เนื่องจากคาดว่าราคาสินค้าจากเวียดนามจะถูกกว่าไทยจากต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า รวมทั้งยังได้สิทธิ GSP จาก EU
อย่างไรก็ตามยังมีด้านปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2558 ที่ต้องเฝ้าระมัดระวัง ได้แก่
  • ความไม่แน่นอนในการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2558 เนื่องจากแม้คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปจะเริ่มพื้นตัว แต่เศรษฐกิจของจีน และรัสเซีย ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว รวมทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำและเศรษฐกิจอาเซียนที่ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปี 2557
  • การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของไทยและประเทศคู่ค้าต่างๆ เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และจีนในปีช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจจากเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน ซึ่งการส่งออกของไทยจะดีขึ้นหรือไม่ขึ้นกับผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่างๆ ว่าเห็นผลมาน้อยแค่ไหน
  • อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯของไทยมีในปี 2558 มีทิศทางที่ผันผวน (แต่มีแนวโน้มอ่อนค่าในเดือนพฤษภาคม) แต่คงระดับอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่หลายๆ ประเทศในอาเซียน ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ค่าเงินมีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ไทยส่งออกสินค้าได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 อัตราแลกเปลี่ยนของไทยเริ่มอ่อนค่ามาอยู่ในระดับ 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในครึ่งปีหลังยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคม จะทำให้สถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยในปี 2558 ดีขึ้น
  • ทิศทางราคาน้ำมันที่เริ่มผันผวนในช่วงต้นปี 2558 หลังจากที่ปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2557 การเติบโตของหนี้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของครัวเรือน ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยและประเทศคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ มีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาเงินฝืด และการส่งออกที่หดตัว เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของ เศรษฐกิจไทย

4 มิถุนายน 2558

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ