นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2558 ว่า หดตัวร้อยละ 7.6 อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงอาทิ ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ (HDD) รถยนต์ โทรทัศน์ เบียร์และเครื่องประดับ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่ง หดตัวร้อยละ 5.0 ตามการลดลงของการส่งออกสินค้าสำคัญ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงมูลค่าส่งออกสินค้าที่มีราคาเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบ อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ที่ยังปรับตัวลดลง ขณะที่การส่งออกรถยนต์ ที่เคยขยายตัวดีกลับมาติดลบในเดือนนี้ การนำเข้าสินค้าทุนหดตัวร้อยละ 8.0 ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 10.6 ตามทิศทาการผลิตเพื่อการส่งออกที่ลดลง
ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์มีจำนวน 135,045 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.76 การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมีจำนวน 56,942 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.28 ทั้งนี้ การลดลงเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ หนี้ในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และสำหรับการส่งออกมีจำนวน 88,937 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.17
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับเดือนพฤษภาคม 2558ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.92 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 19.95 เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง สำหรับ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.01 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุปกรณ์สื่อสาร/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 0.74 8.09 12.67 26.37 และ 85.64 ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย รวมถึงได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว (ยุโรป และญี่ปุ่น) สำหรับเครื่องรับ
โทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน (คอนเดนซิ่งยูนิต) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีปริมาณ 1.27 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 23.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.62 ล้านตันลดลงร้อยละ 10.29 การส่งออกมีมูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 31.03 สำหรับการนำเข้า 565 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 20.42 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่
ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลงทุกตัว เช่น (1) เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศจากอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงทรงตัวอยู่ นอกจากนี้เป็นผลมาจากการนำเข้าเหล็กจากประเทศอิหร่าน, บราซิลและตุรกีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่ไทยไม่ได้ใช้มาตรการ AD (2) เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมผลไม้กระป๋องมีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากภัยแล้งทำให้ไม่มีวัตถุดิบในการผลิต (3) เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋อง เช่น ทูน่ากระป๋อง มีการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก (4) เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีลดลง เนื่องจากมีผู้ผลิตเหล็กรายหนึ่งได้หยุดการผลิตเพื่อปรับสายการผลิตใหม่ และ (5) เหล็กแผ่นรีดเย็นลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ลดการผลิตลง
สำหรับเหล็กทรงยาวมีการผลิตที่ลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ชะลอตัว โดยจากข้อมูลเครื่องชี้ภาวะอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น จำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อปล่อยใหม่จากธนาคารพาณิชย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมียอดการได้รับอนุมัติสินเชื่อที่ลดลง
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตในกลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืนลดลงร้อยละ 3.92 และ 4.75 ตามลำดับ สอดคล้องกับการจำหน่ายที่ลดลงทั้งการจำหน่ายในประเทศและส่งออก เนื่องจากความต้องการบริโภคเส้นใยสังเคราะห์ของตลาดลดลง ในส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืนผู้ผลิตมีสต็อกค่อนข้างมาก ประกอบกับผู้ใช้ในประเทศบางรายนำเข้าผ้าจากต่างประเทศ เนื่องจากผ้าที่มีอยู่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ แต่สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.61 ตามความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.67 โดยเฉพาะเสื้อผ้านักเรียนที่จะเริ่มภาคการศึกษาใหม่และเสื้อผ้ากีฬาต่าง ๆ
การส่งออกเดือนพฤษภาคม ปี 2558 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 3.96 ในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอตามการลดลงของตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนามและอินเดีย ส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืนมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 18.50 ในตลาดอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม บังคลาเทศ จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 7.87 จากคำสั่งซื้อในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปลดลง เนื่องจากถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.6 เนื่องจากการผลิตน้ำตาล และกลุ่มผักผลไม้ที่ปรับตัวลดลง สำหรับการส่งออกในภาพรวมลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.8 จากผลกระทบจากความไม่แน่นอนของผลสรุปการแก้ไขวิกฤติการณ์ยูเครน-รัสเซีย-สหภาพยุโรป และวิกฤติการเงินของกรีซ ทำให้การส่งออกขยายตัวได้น้อย ส่วนการใช้จ่ายในประเทศยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง
30 มิถุนายน 2558
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--