รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 15, 2015 14:15 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2558 ลดลงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงอาทิ HDD โทรทัศน์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากติดลบติดต่อกัน 3 เดือน

อุตสาหกรรมรถยนต์ ในเดือนกรกฎาคม 2558 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออก

อุตสาหกรรม HDD และ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงเนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง

การเปิดปิดโรงงาน เดือนกรกฎาคม 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 410 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 ร้อยละ 23.5 และมียอดเงินลงทุนรวมและจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.7 และ 30.5 ตามลำดับ โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีจำนวน 15 โรง จำนวนเงินทุน 8,556 ล้านบาท และจำนวนคนงาน 269 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2557 ร้อยละ 8.28 สำหรับโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมีจำนวน 228 ราย น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2558 ร้อยละ 9.52 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าร้อยละ 101.77

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย ในเดือนกรกฎาคม 2558 การนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม และเครื่องมือกล มีมูลค่า 1,052.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องมือกลที่ยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 29.8 ขณะที่การนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 13.8

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 6,400.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.2 จากการนำเข้าอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รวมถึงผ้าผืน ด้ายและเส้นใย ที่ลดลง

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเดือนกรกฎาคม 2558 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 10,309.5 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดลงเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายน 2558 ร้อยละ 0.02 (10,311.3 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2557 (10,057.3 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) หากแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า กิจการขนาดเล็กมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ส่วนกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาและช่วงเดียวกันของปี 2557

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ติดลบหรือหดตัวร้อยละ 5.3 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้การผลิตลดลง เช่น Hard Disk Drive เครื่องรับโทรทัศน์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการผลิตรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากติดลบต่อเนื่องนานสามเดือน

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้หดตัวร้อยละ 3.5

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันหดตัวร้อยละ 3.1

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนกรกฎาคม 2558 ยังไม่มีการเผยแพร่ แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมิถุนายน 2558 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 4.9 และ 5.8 ตามลำดับ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2558

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 410 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 332 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 23.5 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 36,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมีการลงทุน 24,425 ล้านบาท ร้อยละ 47.73 และมีการจ้างงานจำนวน 10,539 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,078 คน ร้อยละ 30.47

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการน้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 447 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 8.28 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งมีการลงทุน 44,244 ล้านบาท ร้อยละ 18.45 และมีการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 10,791 คน ร้อยละ 2.36

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมขุดตักดินลูกรัง สำหรับใช้ในการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ ทั้งสองอุตสาหกรรม จำนวน 30 โรงงานเท่ากัน รองลงมา อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 28 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวนเงินทุน 8,556.75 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตน้ำตาลทรายดิบหรือน้ำตาลทรายขาว จำนวนเงินทุน 5,520 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2558 คือ อุตสาหกรรม ตัด พับ ม้วนโลหะ จำนวนคนงาน 1,087 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรม ผลิตและประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า กล้องบันทึกภาพและเสียง จำนวนคนงาน 1,050 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 228 ราย น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 252 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.52 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 3,805 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 5,659 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 6,615 คน น้อยกว่าเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 8,120 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 113 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 101.77 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,279 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2557 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 5,738 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2558 คือ อุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 32 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์โลหะด้วยวิธีปั๊มหรือกระแทก จำนวน 12 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2558 คือ อุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ เคาะพ่นสีรถยนต์ เงินทุน 1,317.80 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องประดับจากพลาสติก เงินทุน 685.23 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวนคนงาน 983 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องประดับจากพลาสติก จำนวนคนงาน 664 คน
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลงจากภัยแล้ง การส่งออกปรับตัวลดลงจากปีก่อน จากการยกเลิกสิทธิ์ GSP ของสหภาพยุโรป และคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้าลดลงจากเศรษฐกิจที่ยังซบเซา ส่วนการจำหน่ายในประเทศปรับตัวลดลงจากกำลังซื้อและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกรกฎาคม 2558 ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีก่อนร้อยละ 1.7 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่ปรับตัวลดลง เช่น แป้งมันสำปะหลัง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 18.5 และ 4.4 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตลดลง

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.6 เนื่องจากผลผลิตปาล์มลดลงจากผลกระทบภัยแล้ง ประกอบกับปริมาณน้ำมันปาล์มในตลาดมีมาก ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง การผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 4.6

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนกรกฎาคม 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาล) ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6 จากความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกรกฎาคม 2558 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.0 โดยเป็นการลดลงของการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าวโพดหวานกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง จากยอดคำสั่งซื้อลดลง

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออก คาดว่า จะปรับชะลอตัวลงจากปีก่อน เนื่องจากการผลิตและส่งออกตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอตัวลงจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าที่ไม่ฟื้นตัว สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะชะลอตัวลงจากผู้บริโภคที่ขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายจากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

กลุ่มสิ่งทอ มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าชุดกีฬาและเสื้อผ้าสำเร็จรูปแฟชั่น

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน และ ยางยืด ลดลง ร้อยละ 6.1 7.6 2.4 และ 9.1 ตามลำดับ เนื่องจากการชะลอคำสั่งซื้อจากตลาดอาเซียน ประกอบกับการปิดกิจการของโรงงานทอผ้าในประเทศ ส่งผลให้มีการนำเข้าผ้าผืนจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอลดลง ร้อยละ 4.9 และ 3.2 เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และ สหภาพยุโรป ลดลงประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เพื่อใช้สิทธิ์ GSP และฐานค่าจ้างแรงงาน ที่ถูกกว่า

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทอ มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ เส้นใยสิ่งทอ ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าชุดกีฬาและเสื้อผ้าสำเร็จรูปแฟชั่นต่าง ๆ

การส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ลดลงร้อยละ 5.2 ในกลุ่มสิ่งทอ ร้อยละ 1.0 และกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ 11.2 ในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 13.1 เครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบลดลง ร้อยละ 9.7 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และ สหภาพยุโรป มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 35.5 2.1 11.5 และ 22.3 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

คาดว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมจะชะลอตัวในสัดส่วนที่ลดลงทั้งกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มตามฤดูกาลผลิต ในส่วนการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัว โดยเฉพาะเสื้อผ้ากีฬา และเสื้อผ้าสำเร็จรูปแนวแฟชั่นที่มีราคาระดับปานกลาง อีกทั้งมีการจัดโปรโมชั่นสินค้ากลางปี เพื่อกระตุ้นยอดขายของแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ ในห้างสรรพสินค้า

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

รัฐบาลฟิลิปปินส์ ประกาศขยายระยะเวลาการใช้มาตรการการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) สินค้าเหล็ก Angle bars (HS 7216.21.00 และ 7216.50.00 ) ที่มีความหนาเท่ากับหรือมากกว่า 80 มม. ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 4 ปี เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตเหล็กในประเทศ

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกรกฎาคม 2558 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 125.16 ลดลงร้อยละ 7.70 โดยมีสาเหตุดังนี้

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 6.14 โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 22.55 เนื่องจากอุตสาหกรรมผักผลไม้กระป๋องมีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากภัยแล้งทำให้ไม่มีวัตถุดิบในการผลิต รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 14.88 เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ลดลง และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การนำเข้าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.1 (การนำเข้ามีปริมาณ 784,889 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก คือ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน alloy steel เพิ่มขึ้น ถึง ร้อยละ 689.1 (ปริมาณการนำเข้า 24,716 ตัน) และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 123.8 (ปริมาณการนำเข้า 4,950 ตัน) สำหรับการส่งออก ลดลง ร้อยละ 13.0 (การส่งออก มีปริมาณ 27,933 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการส่งออก ลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน alloy steel ลดลง ร้อยละ 87.5

ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวมีการผลิตลดลง ร้อยละ 5.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลวดเหล็กแรงดึงสูง มีการผลิตลดลง ร้อยละ 7.39 เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 7.17 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การนำเข้า ลดลง ร้อยละ 0.9 (ปริมาณการนำเข้า 278,251 ตัน) ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าลดลง มากที่สุด คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลดลง ร้อยละ 78.8 (ปริมาณการนำเข้า 4,091 ตัน) ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ลดลง ร้อยละ 53.9 (ปริมาณการนำเข้า 18,411 ตัน) สำหรับการส่งออก ลดลง ร้อยละ 10.2 (ปริมาณการส่งออก 68,086 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกลดลง มากที่สุด ได้แก่ เหล็กลวด stainless steel ลดลง ร้อยละ 100.0 (ไม่มีการส่งออก) รองลงมาคือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ stainless steel ลดลง ร้อยละ 90.2 (ปริมาณการส่งออก 9 ตัน)

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนกรกฎาคม 2558เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กมีการปรับตัวลดลงทุกชนิด เช่น เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 113.48 เป็น 65.58 ลดลง ร้อยละ 42.21 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 113.84 เป็น 69.74 ลดลง ร้อยละ 38.74 เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 116.94 เป็น 76.94 ลดลง ร้อยละ 34.21 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 116.44 เป็น 78.5 ลดลง ร้อยละ 32.58 และเหล็กเส้น ลดลงจาก 110.63 เป็น 79.78 ลดลง ร้อยละ 27.89 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกประกอบกับผู้ผลิตสินแร่เหล็กรายใหญ่ของโลกยังไม่ลดการผลิตในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กโลกยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกลดลงด้วย

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนสิงหาคม 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะลดลง ทั้งเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังทรงตัวอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ที่มีสถานการณ์การผลิตที่ทรงตัว

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2558 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออก

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 165,863 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งมีการผลิต 151,339 คัน ร้อยละ 9.60 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 60,863 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2557ซึ่งมีการจำหน่าย 69,267 คัน ร้อยละ 12.13 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUVทั้งนี้การลดลงเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำเนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าส่วนหนึ่งมีรายได้ลดลงอีกทั้งหนี้ในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 102,359 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งมีการส่งออก 91,785 คัน ร้อยละ 11.52 แบ่งเป็นการส่งออกรถยนต์นั่งร้อยละ 44 และรถกระบะ 1 ตันและ PPV ร้อยละ 56 โดยการส่งออกรถยนต์นั่งขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนียและอเมริกาเหนือแต่สำหรับการส่งออกรถกระบะ 1 ตัน และ PPV มีการชะลอตัวในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2558 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2557 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 46 และส่งออกร้อยละ 54

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2558 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557โดยเป็นการลดลงทั้งปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศ และในตลาดส่งออก

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 125,941 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งมีการผลิต 141,309 คัน ร้อยละ 10.88 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 113,477 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 160,805 คัน ร้อยละ 29.43 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์และแบบสปอร์ต

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU)

จำนวน 23,705 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม2557 ซึ่งมีการส่งออก 24,058 คัน ร้อยละ1.47 โดยเป็นการปรับลดลงจากการส่งออกในประเทศออสเตรเลียญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม2558 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2557 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 79 และส่งออกร้อยละ 21

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์หดตัวลงเล็กน้อย โดยปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศที่ลดลงแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวของตลาดปูนซีเมนต์และภาคก่อสร้างของไทยซึ่งขณะนี้ภาครัฐเองได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากขึ้น สำหรับมูลค่าการส่งออกขยายตัวจากเดือนก่อนไม่มากนัก เนื่องจากเมียนมาร์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยยังคงปรับลดการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน"
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

เดือนกรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 2.48 และร้อยละ 2.42 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์หดตัวลงเล็กน้อย โดยมีปริมาณการผลิตทั้งปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ชนิดอื่นลดลงแสดงให้เห็นถึงภาวะการชะลอตัวของตลาดปูนซีเมนต์และภาคก่อสร้างในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในเบื้องต้น ภาครัฐมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเร่งเบิกจ่ายงบดำเนินโครงการต่างๆ รวมทั้งเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศหลายโครงการ ทั้งระบบรางและระบบการจัดการน้ำ เพื่อให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนทำธุรกิจมากขึ้น

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนกรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.41

เมื่อพิจารณาในภาพรวมการส่งออกปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าหลักในอาเซียนรวมถึงอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ในขณะที่เมียนมาร์ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยยังคงปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงค่อนข้างมากต่อเนื่องจากเดือนก่อนซึ่งมีมูลค่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงอีก 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนนี้ เหลือเพียง 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกปูนซีเมนต์ของไทยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนขยายตัวได้ไม่มากนัก

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามฤดูกาล โดยช่วงไตรมาสที่ 3 ของทุกปีเป็นช่วงปิดปีงบประมาณของภาครัฐ ทำให้มีการเร่งก่อสร้างในโครงการต่างๆ หลายโครงการ ประกอบกับหลายบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็มีแผนเริ่มก่อสร้างโรงงานในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้นได้ต่อไป

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกรกฎาคม 2558 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 21.79 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 16.38 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงทั้งในประเทศและตลาดส่งออกหลัก และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 22.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ที่ปรับตัวลดลง

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/           มูลค่า          %YoY

อิเล็กทรอนิกส์ (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

          อุปกรณ์ประกอบของ      1,371.73       -11.62

เครื่องคอมพิวเตอร์

          แผงวงจรไฟฟ้า           621.72        +3.36
          เครื่องปรับอากาศ         314.12        11.42
          กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้อง    159.26        -3.51

ถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล

รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า 4,433.02 -4.82

และอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกรกฎาคม 2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 222.33 ลดลงร้อยละ 21.79 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 116.02 ลดลงร้อยละ 16.38 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 3.25 2.22 9.21 0.73 และ 81.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย รวมถึงได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 282.63 ลดลงร้อยละ 22.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น HDD Monolithic IC และ Other IC ปรับตัวลดลงร้อยละ 27.70 18.60 และ 4.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกรกฎาคม 2558 มีมูลค่า 4,433.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.82 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,886.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดจีน และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 17.04 และ 10.16 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นอาเซียน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.03 5.23 และ 0.49 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 314.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.42 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปยุโรป และตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.98 และ 80.28 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสหภาพยุโรปประสบกับคลื่นความร้อน (Heat wave) และตะวันออกกลางกำลังจะมีการปรับเพิ่มค่าประสิทธิภาพพลังงาน (EER) ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นเพื่อเก็บเป็นสต๊อค สินค้า แต่การส่งออกไปอาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 9.30 27.62 37.78 และ 19.31 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล มีมูลค่า 159.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.51 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปอาเซียน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 21.19 6.40 และ 34.58 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีมูลค่า 106.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสหรัฐอเมริกาและจีนขยายตัวมากถึงร้อยละ 26.88 และ 16.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,546.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.18 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักลดลงทุกตลาด คือ อาเซียน ยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 14.89 7.79 4.66 1.39 และ 8.28 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,371.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.62 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวลดลงทุกตลาด ได้แก่ อาเซียน ยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.93 12 33.91 0.68 และ 20.81เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 621.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปจีน และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 117.38 และ 55.07 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนสิงหาคม 2558 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 14.72 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 11.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดในประเทศ และการส่งออกไปสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 16.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ลดลงตามความต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีการปรับตัวลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ