สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2558 (เมษายน - มิถุนายน 2558)(เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2015 14:25 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจไทย

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 0.4 โดยปัจจัยที่ทำให้ขยายตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 คือ การเพิ่มขึ้นของภาคนอกเกษตร โดยสาขาการก่อสร้างขยายตัวสูง สาขาอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น และภาคบริการขยายตัวดี ขณะที่ภาคเกษตรหดตัวตามปริมาณผลผลิตพืชผลสำคัญที่ลดลง

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 2.7 การที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2557 เนื่องจากการขยายตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการผลิตเพื่อการส่งออก

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 จากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.9

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 พบว่าบางตัวยังมีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2557 เช่นดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ Hard Disk Drive โทรทัศน์สี ยานยนต์ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ โทรทัศน์สี ยานยนต์ Hard Disk Drive เป็นต้น ส่วนมูลค่าการส่งออกในภาพรวมหดตัวร้อยละ 6.41 (ม.ค.-มิ.ย.58) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 และการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2557

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production lndex : MPl) (ตารางที่ 1)ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 153.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (171.9) ร้อยละ 10.9 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (165.7) ร้อยละ 7.6

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่ยานยนต์ Hard Disk Drive น้ำตาล เบียร์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ Hard Disk Drive โทรทัศน์สี ยานยนต์ เครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 3.7 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ Hard Disk Drive โทรทัศน์สี ยานยนต์ เครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 163.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (183.3) ร้อยละ 11.0 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (179.8) ร้อยละ 9.3

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่ยานยนต์ Hard Disk Drive โทรทัศน์สี เบียร์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ โทรทัศน์สี เส้นใยสิ่งทอ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 4.6 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลง ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ โทรทัศน์สี อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods lnventory lndex) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 184.7 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (186.5) ร้อยละ 0.9 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (199.0) ร้อยละ 7.2

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่ยานยนต์ เบียร์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องปรับอากาศ โทรทัสน์สี เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง Hard Disk Drive เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ โทรทัศน์สี เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 9.4 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ยานยนต์ Hard Disk Drive เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เบียร์ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 55.5 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 62.1) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (ร้อยละ 59.5)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์สี น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยาง Hard Disk Drive เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ โทรทัศน์สี ยานยนต์ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ โทรทัศน์สี ยานยนต์ Hard Disk Drive เส้นใยสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเฉลี่ยรวมมีค่า 75.5 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (79.1) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (71.2) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ทั้ง 3 ดัชนีดังกล่าวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากการส่งออกที่ยังหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ ปัญหาภัยแล้ง และราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนีพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีค่า 64.9 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (68.4) และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเนื่องจากยังคงมีปัจจัยหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคกังวล

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีค่า 70.3 ลดลงจากไตรมาสผ่านมา (73.1) และยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวการณ์จ้างงานโดยรวมยังไม่ดีมากนักซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ

ดัชนีความเชื่อมั่นในผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีค่า 91.4 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (95.7) และยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แม้ว่าผู้บริโภคจะกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตแต่ระดับความเชื่อมั่นยังคงสูงกว่าความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและ

โอกาสหางานทา

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีค่าเท่ากับ 48.2 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (50.3) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (47.0) โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ดัชนีโดยรวมยังมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจแย่ลง ผู้ประกอบการมองว่าภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตมีแนวโน้มยังไม่ดีสำหรับดัชนีที่ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด และการผลิตของบริษัท

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ดัชนีโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การลงทุนของบริษัท การจ้างงานของบริษัท และการผลิตของบริษัท

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 85.2 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (89.2) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (85.8) การที่ค่าดัชนียังอยู่ระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นว่าภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีหรือมีสภาพแย่ลง นอกจากนี้ เดือนมิถุนายน 2558 ดัชนีปรับตัวลดลง เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน อยู่ที่ระดับ 84.0 จากระดับ 85.4 ในเดือนพฤษภาคม 2558 และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 โดยค่าดัชนีที่ปรับลดลงเป็นผลมาจากการลดลงของดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2558 ลดลงคือ จากความกังวลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภคปัญหาภัยแล้งที่รุกรามในหลายพื้นที่ กระทบต่อรายได้ของเกษตรกรที่เป็นกำลังซื้อสำคัญของภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยทำให้ผู้ประกอบการต่างระมัดระวังในการประกอบการและการขยายการลงทุนอย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเห็นว่าการค้าชายแดนยังขยายตัวได้ดีและมีส่วนช่วยพยุงภาคการส่งออกไทยขณะเดียวกันในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2558 หากภาครัฐสามารถเร่งรัดการใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณก็จะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ขอให้ภาครัฐเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐให้เป็นไปตามแผนการใช้งบประมาณเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพิ่มการใช้จ่ายแลพบริโภคภายในประเทศด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ หามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกรพทบจากปัญหาภัยแล้ง และช่วยเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs โดยสนับสนุนให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic lndex : LEl) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าปรากฏว่าดัชนีชี้นาเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ระดับ 151.0 หดตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 151.5 ตามการลดลงของเงินทุนจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ การส่งออก ณ ราคาคงที่ ปี 2543 และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

สำหรับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีค่าเฉลี่ย 151.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 151.3

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยปรากฏว่าในเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ระดับ 125.20 หดตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 125.4 ตามการหดตัวของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

สำหรับดัชนีพ้องเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีค่าเฉลี่ย 125.1 หดตัวร้อยละ 1.2 จากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 126.6

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 5) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีค่า 112.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส ที่ผ่านมา (110.0) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (112.9) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนโดยรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่า ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีค่า 118.58 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (119.39) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (117.90)

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาส ที่ 2 ของปี 2558 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2557

การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557

ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2558 มีจำนวน 85,872.30 ล้านบาท (ข้อมูลล่าสุดถึงเดือนพฤษภาคม 2558)

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ตามการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ พบว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 106.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (106.2) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของ ปี 2557 (107.7) การที่ราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มตามราคาแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ปลาและสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์น้ำตาล รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอาหารสดและพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีค่าเท่ากับ 103.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (102.7) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (108.6) โดยราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและผลผลิตเกษตรกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ส่วนราคาในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2557

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สองของปี 2558 (ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2558) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.707 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 38.232 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.77 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.321 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.83)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่สองของปี 2558 มีจำนวน 6.502 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 17.01 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มการหดตัวที่ลดลงและเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการค้ายังคงลดลงเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางประกอบกับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเกษตรและเชื้อเพลิง ส่งผลให้ทั้งการส่งออกและการนำเข้ามีมูลค่าลดลง สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 2 นี้ยังคงเกินดุลการค้าเป็นมูลค่า 2,043.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวลงเนื่องจากทั้งการส่งออกและการนำเข้าที่มีมูลค่าลดลง โดยการส่งออกใน ไตรมาสที่ 2 นี้มีมูลค่าลดลงร้อยละ 5.00 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสำหรับการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 9.68 ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2546 โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าทั้งสิ้น 104,937.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 53,490.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 51,447.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 นั้นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 0.24 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.94 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 2 นี้ ยังคงอยู่ในสภาวะเกินดุลการค้าโดยมีมูลค่า 2,043.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายน โดยการส่งออกของเดือนเมษายนมีมูลค่า 16,900.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 1.70 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนต่อมาในเดือนพฤษภาคมการส่งออกมีมูลค่า 18,428.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.01 และการส่งออกในเดือนมิถุนายน ลดลงร้อยละ 7.87 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกัน

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ประกอบด้วยสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 41,671.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็น ร้อยละ 77.90) ซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุด รองลงมาคือสินค้าเกษตรกรรม 5,130.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ9.59) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 4,183.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.82) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 2,505.7ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.68)

เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่าการส่งออกในหมวดสินค้าสำคัญทุกหมวดมีมูลค่าลดลงโดยสินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าลดลงเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 0.31 สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.36 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 6.87 และสินค้าแร่ และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 19.14 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับลดลง

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 10 รายการหลักได้แก่ สินค้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออก 7,908.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 18.98 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม)ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 7,091.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 17.02) เครื่องใช้ไฟฟ้า 5,733.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 13.76) อัญมณีและเครื่องประดับ 2,594.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.23) เม็ดพลาสติก 2,106.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.06) ผลิตภัณฑ์ยาง 1,872.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.49) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง 1,864.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.47)เคมีภัณฑ์ 1,749.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.20) สิ่งทอ 1,733.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.16) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก 1,230.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.95) โดยมูลค่าการส่งออกทั้ง 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 33,884.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 81.31 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด

ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักในไตรมาสที่ 2ของปี 2558 ซึ่งได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นมีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็น ร้อยละ 68.57 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลง ยกเว้นการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังคงมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.65 และ 1.22 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 5.89 การส่งออกไปยังญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 3.82 และการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.92

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 เป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 19,247.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 37.41) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน โดยมีมูลค่า 14,764.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 28.70) สินค้าเชื้อเพลิง 8,999.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 17.49) สินค้าอุปโภคบริโภค 5,571.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.83) สินค้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง 2,773.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.39) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ 91.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.18) ตามลำดับ

โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าในหมวดสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.75และการนำเข้าสินค้าในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.69 สำหรับการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงยังคงมีมูลค่าลดลงร้อยละ 29.63 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.96 การนำเข้าสินค้ายานพาหนะ และอุปกรณ์ และสินค้าทุนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 0.87 และ 0.85 ตามลำดับ

แหล่งนำเข้า

ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 51.09 เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ 2 นี้มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.37 สำหรับการนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 15.65 การนำเข้าจากสหภาพยุโรปมีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.47 และการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศในอาเซียนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.32

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคมมีมูลค่ารวม96,283.5 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนเมษายนมีมูลค่า 52,205.2 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 44,078.3 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 8,913.8 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 13,047.0 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 21,960.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.17เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 20,302.4 ล้านบาท

ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 การลงทุนในกิจกรรมทางการเงิน และประกันภัยเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 37,390.9 ล้านบาท รองลงมาคือกิจกรรมการผลิต หรือสาขาอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 21,960.8 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วงมากที่สุดซึ่งมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 9,726.7 ล้านบาท รองลงมาคือการผลิตเครื่องจักร และเครื่องมือซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่นมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 3,877.8 ล้านบาท การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ามีมูลค่าลงทุนสุทธิ 1,705.7 ล้านบาท การผลิตกระดาษมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 831.1 ล้านบาท และการผลิตเครื่องดื่มเป็นมูลค่าสุทธิ 644.6 ล้านบาท

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2558 คือประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีเงินลงทุนสุทธิ 31,997.2 ล้านบาท รองลงมาคือประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสหราชอาณาจักรโดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 18,817.4 ล้านบาท และ 8,844.9 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 461 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 298 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 195,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 150,750 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 147 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 63,860 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 95 โครงการ เป็นเงินลงทุน 68,140ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 219 โครงการ เป็นเงินลงทุน 63,140 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดกิจการบริการ และสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 79,720 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 40,930 ล้านบาท และหมวดเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษมีเงินลงทุน 27,960 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือประเทศเยอรมันโดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 11 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 62,615 ล้านบาท รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่นได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 59 โครงการ มีเงินลงทุน 29,349 ล้านบาท ประเทศอินโดนีเซียมีจำนวน 4 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 17,034 ล้านบาท และประเทศมาเลเซียมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 4 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 9,632 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ