สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2558 (เมษายน - มิถุนายน 2558)(อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ )

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2015 15:17 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 9.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัญหาการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและมาตรการกีดกันทางการค้า ส่วนไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 คาดว่าอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะมีแนวโน้มชะลอตัวเล็กน้อย เนื่องจากการชะลอตัวของการค้าในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าเคมีภัณฑ์ที่สำคัญของประเทศไทย

การตลาด

การส่งออก

การส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีมูลค่ารวม 1,743.365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 16.19 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2557 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.17

1. เคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าส่งออก 920.973 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 23.06 ผลิตภัณฑ์สำคัญที่ส่งผลให้การส่งออกลดลงในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ได้แก่ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด

1.1 เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ มีมูลค่าการส่งออก 132.900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.03 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 21.63 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสิงคโปร์ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 23.21 10.38 9.36 และ 9.36 ตามลำดับ

1.2 เคมีภัณฑ์อินทรีย์ มีมูลค่าส่งออก 591.055 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.67 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 24.96 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและสหพันธรัฐมาเลเซีย คิดเป็นร้อยละ 42.74 10.28 7.73 และ 7.73 ตามลำดับ

1.3 เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด มีมูลค่าส่งออก 197.018 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 17.82 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสิงคโปร์ และประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 24.80 17.52 17.52 และ 16.96 ตามลำดับ

2. เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่าส่งออก 822.391 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 6.89 ผลิตภัณฑ์สำคัญที่ส่งผลให้การส่งออกลดลงในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ได้แก่ เครื่องสำอาง สารลดแรงตึงผิว และสี

2.1 เครื่องสำอาง มีมูลค่าส่งออก 430.034 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.70 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 9.91 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 16.65 14.65 และ 14.21 ตามลำดับ

2.2 สารลดแรงตึงผิว มีมูลค่าส่งออก 185.092 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.20 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 6.78 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประเทศญี่ปุ่น และสหพันธรัฐมาเลเซีย คิดเป็นร้อยละ 11.27 8.31 และ 8.31 ตามลำดับ

2.3 สี มีมูลค่าส่งออก 163.238 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.57 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 2.41 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 20.91 และ 19.93 ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีมูลค่ารวม 3,675.822 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.34 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2557 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.38

1. เคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าการนำเข้า 2,204.681 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.32 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 1.53 ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด

1.1 เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ มีมูลค่านำเข้า 452.125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.77 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.31 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 23.21 และ 10.38 ตามลำดับ

1.2 เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด มีมูลค่านำเข้า 822.372 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.51 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 24.80 17.52 และ 17.52 ตามลำดับ

2. เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่านำเข้า 1,471.141 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 3.53 โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ได้แก่ ปุ๋ยเคมี เครื่องสำอาง สี และสารลดแรงตึงผิว

2.1 ปุ๋ยเคมี มีมูลค่านำเข้า 536.043 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 13.78 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน คิดเป็นร้อยละ 19.33 และ 15.97 ตามลำดับ

2.2 เครื่องสำอาง มีมูลค่านำเข้า 380.599 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.15 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 16.65 14.65 และ 14.21 ตามลำดับ

2.3 สี มีมูลค่านำเข้า 371.596 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.99 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 3.50 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 20.91 และ 19.93 ตามลำดับ

2.4 สารลดแรงตึงผิว มีมูลค่านำเข้า 182.903 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 2.57 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 18.21 และ 15.24 ตามลำดับ

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และแนวโน้ม

การส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีมูลค่ารวม 1,743.365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเครื่องสำอาง คิดเป็นประมาณร้อยละ 33.90 และ 24.67 ตามลำดับ

การนำเข้าเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีมูลค่ารวม 3,675.822 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด ปุ๋ยเคมี และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ คิดเป็นประมาณร้อยละ 25.31 22.37 14.58 และ 12.30 ตามลำดับ

แนวโน้มไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีแนวโน้มชะลอตัวเล็กน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวของภาวะการค้าในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะส่งผลให้การส่งออกเคมีภัณฑ์พื้นฐานของไทยชะลอตัวลง ส่วนการนำเข้าเป็นผลมาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ