สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2558 (เมษายน - มิถุนายน 2558)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2015 16:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2558 การผลิต และการส่งออก ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า เพิ่มขึ้น จากความต้องการในประเทศ และการส่งออกไปยังประเทศในอาเซียน สำหรับการนำเข้า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเยื่อใยยาวจำพวกไม้สน

การผลิต

ไตรมาส 2 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 13.27 5.11 0.77 และ 4.16 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เนื่องจากมีการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนราคาถูกจากต่างประเทศ เข้ามาใช้ทดแทน ส่งผลให้การผลิตเยื่อกระดาษสำหรับผลิตกระดาษประเภทดังกล่างลดลง ในส่วนกระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก มีการผลิตลดลง เนื่องจากความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อการส่งออกลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สำหรับกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.23 จากความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศขยายตัว เช่น เครื่องสำอาง อาหาร เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ และ กระดาษพิมพ์เขียน มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 3.85 และ 5.61 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนจากการใช้กระดาษไปเป็นรูปแบบดิจิตอล สำหรับกระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.72 3.14 และ 1.17 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในประเทศ ประกอบกับผลิตเป็นสินค้าคงคลังเพื่อรองรับความต้องการในช่วงต่อไป

ไตรมาส 2 ปี 2558 มีการขออนุญาตประกอบกิจการ ประเภทโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษขนาดเล็ก จำนวน 4 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ขยายตัวขึ้น และประเภทโรงพิมพ์ จำนวน 9 แห่ง โดยโรงพิมพ์ยังคงเป็นธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก เนื่องจากผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ปรับตัวสู่การรับจ้างผลิตแบบ Small lot เพื่อสนองตอบความต้องการของกลุ่ม SMEs ที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม โรงงานผลิตกระดาษและกระดาษแข็งขนาดใหญ่ แจ้งยกเลิกประกอบกิจการ 1 แห่ง และโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ 1 แห่ง

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 41.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ลดลง ร้อยละ 9.30 (ตารางที่ 2) เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญในเอเชียและยุโรป เช่น จีน อินโดนีเซีย และฝรั่งเศส ยังคงชะลอตัว ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าประเภทวัตถุดิบลดลง โดยเยื่อกระดาษที่ส่งออกลดลง คือ เยื่อกระดาษ รีไซเคิล และเศษกระดาษ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.54 อยู่ในภาวะทรงตัว

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 418.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลง เล็กน้อย ร้อยละ 0.79 ซึ่งอยู่ในภาวะทรงตัว แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า การส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.76 จากการส่งออกกระดาษสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ เช่น กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ไปยังตลาดสำคัญในอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดเวียดนามที่เศรษฐกิจขยายตัวจากการเข้าไปลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

3.หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 15.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 15.97 และ 10.84 ตามลำดับ ซึ่งตลาดสำคัญที่มีการส่งออกลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยหนังสือและสิ่งพิมพ์ประเภทแผนภาพ แผนภูมิ มีการส่งออกลดลงมากที่สุดทั้งปริมาณและมูลค่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของสิ่งพิมพ์ประเภทดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิตอล

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 169.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.70 (ตารางที่ 3) โดยเป็นการนำเข้าเยื่อใยยาวจำพวกไม้สนจากยุโรปเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาเยื่อกระดาษลดลง จึงจูงใจให้ผู้ประกอบการนำเข้ามาสต๊อกไว้สำหรับผลิตกระดาษต่อไป แต่ หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 1.23 จากการนำเข้าเศษกระดาษที่ลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีปริมาณสินค้าคงคลังเพียงพอต่อความต้องการ

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 377.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.56 จากการนำเข้ากระดาษแข็ง และกระดาษเซลลูโลสแวดดิ้ง โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน และสิงคโปร์ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 1.64 เนื่องจากการผลิตกระดาษในประเทศ เช่น กระดาษคราฟท์ กระดาษลูกฟูก เพียงพอต่อความต้องการ ประกอบกับการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนจากจีนลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจภายในที่ชะลอตัว และเป็นช่วงปิดภาคเรียนของนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จึงทำให้ความต้องการกระดาษพิมพ์เขียนลดลง

3.สิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 53.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 1.98 และ 0.32 ตามลำดับ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งพิมพ์ประเภทวารสาร นิตยสาร แผนที่ และไปรษณียบัตร มีการนำเข้าลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของสิ่งพิมพ์ประเภทดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิตอล ประกอบกับการลดค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยของภาคครัวเรือนจากภาวะเศรษฐกิจภายในชะลอตัว

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ซึ่งจะส่งผลให้รูปแบบการติดต่อสื่อสาร การผลิต การดำเนินธุรกิจ การอุปโภคบริโภค ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมไปสู่การทำกิจกรรมผ่านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร โดยรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลอย่างครบวงจร และปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในด้านต่าง ๆ จากการแข่งขันเชิงราคา ไปสู่การแข่งขันเชิงการสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ (Service Innovation) ที่ผู้บริโภคพอใจสูงสุด ดังนั้น ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์สร้างสรรค์ที่ผสมผสานสิ่งพิมพ์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าด้วยกัน

กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อร้องเรียนของสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย ที่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีขาออกไม้ยูคาลิปตัสจาก ร้อยละ 0 เป็นเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบ ภายหลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไม้ยูคาลิปตัส ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ เนื่องจากมีกลุ่มเอกชนทำการ รับซื้อไม้ยูคาลิปตัสจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าจำหน่ายให้โรงงานผลิตเยื่อกระดาษในประเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน จากความต้องการกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียน ประกอบกับมีการนำเข้ากระดาษราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาใช้ทดแทน ส่งผลให้การผลิตเยื่อกระดาษสำหรับผลิตกระดาษประเภทดังกล่างลดลงด้วย สำหรับกระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตลดลงจากความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อการส่งออกลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศขยายตัว เช่นเดียวกับกระดาษคราฟท์มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน

การส่งออกเยื่อกระดาษ และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มีมูลค่าการส่งออกลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการส่งออกกระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ไปยังตลาดสำคัญในอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจชัดเจน ในส่วนหนังสือและสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน โดยหนังสือ และสิ่งพิมพ์ประเภทแผนภาพ แผนภูมิ มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุด

การนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเยื่อใยยาวจากยุโรป ประกอบกับมีการนำเข้ากระดาษแข็ง และกระดาษเซลลูโลสแวดดิ้ง ราคาถูกจากจีนเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าลดลง เนื่องจากการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนจากจีนลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจภายในที่ชะลอตัว ประกอบกับเป็นช่วงปิดภาคเรียนส่งผลให้ความต้องการลดลง ในส่วนของสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าการนำเข้าลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของสิ่งพิมพ์ถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิตอล ประกอบกับการลดค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยของ ภาคครัวเรือนลง

แนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2558

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2558 คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อาจเพิ่มขึ้นได้ตามความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อใช้ภายในและเพื่อการส่งออก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอาจส่งผลให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงคาดการณ์ว่าการส่งออกเยื่อกระดาษ และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ จะขยายตัวได้ในภูมิภาคเอเชีย สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ คาดว่า จะขยายตัวตามการนำเข้าเยื่อใยยาวที่ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ส่วนการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อาจจะทรงตัวเนื่องจากการผลิตภายในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ ในส่วนสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะทรงตัวเช่นเดียวกัน และผู้ประกอบการอาจต้องปรับตัวไปสู่สื่อสิ่งพิมพ์สร้างสรรค์เพื่อรับมือกับการเข้ามาแทนที่ของสื่อดิจิตอลโดยเฉพาะในธุรกิจพิมพ์เขียน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ