สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2558 (เมษายน - มิถุนายน 2558)(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2015 16:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ เติบโตเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มความต้องการของตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่ยังมีกำลังซื้อสูง

การผลิต

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีปริมาณ 2.01 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 1) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.61 และ 11.05 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกเป็นสำคัญ ทั้งนี้ มีโรงงานที่ได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการ ไตรมาสนี้ จำนวน 54 ราย สะท้อนให้เห็นความต้องการของเครื่องเรือนทำด้วยไม้ยังคงมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน และตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโรงงานเพิ่มขึ้น แต่ก็มีโรงงานบางส่วนที่ปิดกิจการไป จำนวน 25 ราย

สำหรับการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีปริมาณ 3.95 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.95 ตามแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนที่เพิ่มขึ้นในบางตลาด เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และออสเตรเลีย

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีปริมาณ 0.92 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 2) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.16 และ 9.80 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีปริมาณ 1.87 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 10.10 ทั้งนี้ การจำหน่ายที่ลดลงนั้นเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและเลือกที่จะจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็นมากกว่า

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่ารวม 777.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ดังตารางที่ 3) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.13 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 6.32 สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีมูลค่ารวม 1,546.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.81 อย่างไรก็ตาม ยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นในตลาดใหม่แถบเอเชีย เช่น จีน สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ อิหร่าน และซาอุดิอาระเบีย

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 27 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องเรือนไม้

การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่ารวม 208.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.79 และ 17.05 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีมูลค่ารวม 422.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 14.67

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วย เครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และอินเดีย การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 6 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากในกลุ่มนี้ ได้แก่ เครื่องใช้ทำด้วยไม้ และรูปแกะสลักไม้

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่ารวม 45.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.79 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 12.92 สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีมูลค่ารวม 88.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 14.75

3) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วย ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัดไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิหร่าน และซาอุดิอาระเบีย การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน ประมาณร้อยละ 67 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไม้แปรรูป และไฟเบอร์บอร์ด

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่ารวม 524.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.47 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.55 สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีมูลค่ารวม 1,035.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.65

การนำเข้า

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ ได้แก่ ไม้แปรรูป ไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ ไม้อัดและ ไม้วีเนียร์ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม ไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเวียดนาม คองโก สหรัฐอเมริกา และเมียนมาร์

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่ารวม 140.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.11 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.93 สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีมูลค่ารวม 270.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 13.78 ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าไม้ซุงที่มีมูลค่าลดลงอย่างมากจากปีที่ผ่านมา

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2558 เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับตลาดส่งออกในขณะที่การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2558 ลดลงจากภาวะการชะลอตัวของ เศรษฐกิจในประเทศ ประกอบกับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2558 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในตลาดสหรัฐอเมริกา และตลาดใหม่แถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2558 เพิ่มขึ้นตามการผลิตเครื่องเรือนในประเทศ

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2558 มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากปัญหาค่าครองชีพและหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2558 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และความต้องการของตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2558 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบไม้เพื่อใช้ในการผลิตเครื่องเรือนเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ