สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2558 (เมษายน - มิถุนายน 2558)(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2015 16:44 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมการผลิตยาของไทยชะลอตัวลงจากการผลิตยาผงที่ลดลงค่อนข้างมากในขณะที่ปริมาณการผลิตยาชนิดอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก การส่งออกจึงยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดเมียนมาร์และเวียดนาม รวมถึงตลาดในประเทศคู่ค้าที่สำคัญอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย

การผลิต

ไตรมาสที่ 2ของปี 2558 มีปริมาณการผลิตยาในประเทศรวมทั้งสิ้น6,238.48ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 8.28และร้อยละ 8.43ตามลำดับ โดยมีผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในช่วงไตรมาสที่ 2จำนวน 3 ราย

ในภาพรวมอุตสาหกรรมยาชะลอตัวลง เนื่องจากมีปริมาณการผลิตยาผงลดลงค่อนข้างมาก โดยลดลงถึงประมาณร้อยละ 60ของปริมาณที่ผลิตได้ตามปกติซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่บริษัทผู้ผลิตยาผงรายใหญ่ของไทยบางรายหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อซ่อมบำรุงในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 2ของปี 2558 มีปริมาณ 6,221.46 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 5.19และ 3.84ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขยายตัวจากการจำหน่ายยาที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก

ปัจจุบันไทยนำเข้ายาต้นแบบจากต่างประเทศเพื่อมาจำหน่ายมากขึ้น เนื่องจากมีกำไรมากกว่า และในส่วนของยาชื่อสามัญเองก็นำเข้าจากอินเดียและจีนมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งยานำเข้ามีราคาถูกกว่ายาที่ผลิตในประเทศ ประกอบกับโรงพยาบาลของรัฐซึ่งเป็นผู้ซื้อยารายใหญ่จะซื้อยาส่วนมากจากองค์การเภสัชกรรมเนื่องจากมีราคาถูกกว่ายาที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทยรายอื่น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศลดลงเรื่อยๆซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลให้มีอัตราการเลิกประกอบกิจการเพิ่มสูงขึ้นได้

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 2ของปี 2558มีมูลค่า72.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 9.59และร้อยละ 0.45ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้นจากการที่ตลาดส่งออกของไทยขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ5 ลำดับแรก ในไตรมาสนี้ยังคงเป็นเมียนมาร์ เวียดนามกัมพูชา สิงคโปร์และมาเลเซีย ตามลำดับ เช่นเดียวกับไตรมาสก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม46.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ64.71ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด และหากพิจารณามูลค่าการส่งออกยารักษาและป้องกันโรคของไทยไปยังตลาดอาเซียนทั้ง 8 ประเทศ (ยกเว้นบรูไน เนื่องจากบรูไนนิยมบริโภคยาต้นแบบที่นำเข้าจากยุโรป อเมริกา ฯลฯ มากกว่า) จะเห็นว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 77.33ของมูลค่าการส่งออกยารักษาและป้องกันโรคทั้งหมด ซึ่งถึงแม้อินโดนีเซียจะยังนำเข้ายาจากไทยไม่มากนักและไม่ติด 10 อันดับแรกของตลาดคู่ค้าสำคัญของไทย แต่หลังจากที่ไทยประกาศใช้มาตรฐาน PIC/S แล้วในช่วงที่ผ่านมา ก็คาดว่าจะมีผลให้สามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดอินโดนีเซียได้มากขึ้นต่อไป สำหรับตลาดส่งออกนอกอาเซียนที่สำคัญของไทยในไตรมาสนี้ คือ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และจีน ตามลำดับ โดยไทยส่งออกยาชื่อสามัญไปญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 5 ของมูลค่าการส่งออกยาทั้งหมดของไทยในเกือบทุกเดือน เนื่องจากช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ญี่ปุ่นหันมาพึ่งพิงการบริโภคยาชื่อสามัญมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลง เนื่องจากโครงสร้างประชากรญี่ปุ่นส่วนมากเป็นผู้สูงอายุซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูง หากรัฐไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านนี้ลงได้ ก็จะต้องหาแหล่งรายได้อื่นเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพียงอย่างเดียว

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 2ของปี 2558 มีมูลค่า 385.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.67ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหดตัวลงร้อยละ 12.36โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ5 ลำดับแรก ในไตรมาสนี้ ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐอเมริกาสวิตเซอร์แลนด์อินเดีย และฝรั่งเศส ตามลำดับ มีมูลค่าการนำเข้ารวม 169.14ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 43.90ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมดสำหรับการนำเข้ายา

ชื่อสามัญในไตรมาสนี้เป็นการนำเข้าจากอินเดียร้อยละ 7.58 และนำเข้าจากจีนอีกร้อยละ 4.59

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558ปริมาณการผลิตลดลงทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ในขณะที่มีปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศเพิ่มขึ้น ในภาพรวมอุตสาหกรรมยาหดตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากมีปริมาณการผลิตยาโดยเฉพาะในส่วนของยาผงลดลงค่อนข้างมาก จากการหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อซ่อมบำรุงของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่บางราย อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนแสดงให้เห็นว่าไทยยังสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดในต่างประเทศได้ ทำให้ถึงแม้ในอนาคตตลาดในประเทศจะหดตัวลงจากปัจจัยแวดล้อมใดๆ ก็ตามอุตสาหกรรมการผลิตยาก็จะยังขยายตัวได้ต่อไป

สำหรับมูลค่าการส่งออกขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศโดยเฉพาะเมียนมาร์และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทยเพิ่มขึ้น ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น โดยร้อยละ 12.18ของมูลค่าการนำเข้ายาทั้งหมดในไตรมาสนี้เป็นการนำเข้าจากจีนและอินเดีย จะเห็นได้ว่าไทยนำเข้ายาชื่อสามัญจากจีนและอินเดียเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของภาครัฐ ประกอบกับแพทย์ผู้สั่งใช้ยาเองก็เคยชินและเชื่อถือในยาชื่อสามัญที่นำเข้าจากอินเดียมากกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ เนื่องจากอินเดียเป็นฐานการผลิตยาที่สำคัญของทั้งยุโรปและอเมริกา มีเทคโนโลยีการผลิตที่ดีและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งถึงแม้ยาที่ผลิตในไทยจะได้รับมาตรฐานเดียวกัน แต่ก็ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า

แนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 3ปี 2558 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมยายังมีแนวโน้มขยายตัวได้โดยคาดว่าผู้ประกอบการที่ปรับลดการผลิตยาผงลงในช่วงไตรมาสที่ 2 เพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักร จะสามารถกลับมาผลิตยาผงได้ในปริมาณตามปกติ ประกอบกับช่วงไตรมาสที่ 3 ของทุกปีเป็นช่วงที่โรงพยาบาลของรัฐซึ่งเป็นผู้บริโภคยารายใหญ่ที่สุดในประเทศ เร่งสั่งซื้อยาเพื่อให้ทันสิ้นปีงบประมาณ สำหรับการส่งออกในภาพรวมคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียน ในส่วนของการนำเข้า คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ