สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2558 (เมษายน - มิถุนายน 2558)(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2015 17:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่า 2,594.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกกลุ่มอัญมณี ลดลงมากถึง ร้อยละ 13.22 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.82 เนื่องจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มอัญมณีบางรายการ เช่น พลอย กลุ่มเครื่องประดับแท้ และทองคำ สำหรับการส่งออกอัญมณีและครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,743.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 67.22 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม โดยมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำลดลง ร้อยละ 9.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.76

การผลิตและการจำหน่าย

การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ในไตรมาส 2 ปี 2558 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 1) ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 23.46 เนื่องจากมีช่วงวันหยุดยาว ในเดือนเมษายน ในส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 13.76 รวมถึงดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 3.26 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อลดลงและผู้ประกอบการเน้นการส่งออกสินค้าในสต๊อก เพื่อทดแทนการผลิตสินค้าใหม่ บางรายการ นอกจากนี้หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 25.41 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 5.96 ในส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลงเช่นกัน ร้อยละ 16.85

จำนวนโรงงานที่เปิดและปิดกิจการ

ไตรมาส 2 ปี 2558 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการใหม่ จำนวน 3 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 58 ล้านบาท เป็นโรงงานตัดเจียระไนอัญมณี 1 ราย และโรงงานผลิตเครื่องประดับ 2 ราย โดยมีโรงงานที่เลิกประกอบกิจการในช่วงไตรมาสนี้ จำนวน 1 ราย เป็นผู้ผลิตเครื่องใช้จากเงิน ทอง หรือทองเหลือง ซึ่งนำเศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2558 (ตารางที่ 2) การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,743.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 9.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกกลุ่มอัญมณี และเครื่องประดับแท้ลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.76 เนื่องจากมีการส่งออกพลอยและเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.98 และ 1.18 ตามลำดับ ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่า การส่งออกในภาพรวมลดลง ร้อยละ 5.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.82 จากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น กล่าวโดยสรุปครึ่งแรกของ ปี 2558 การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ขยายตัว ร้อยละ 3.35 โดยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

1. อัญมณี ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 692.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 13.22 และ 2.32 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญมี ดังนี้

1.1 เพชร ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 439.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.65 และ 10.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อของตลาดหลักลดลง อาทิ อินเดีย อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา

1.2 พลอย ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 249.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 23.36 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นตลาดหลัก ลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.98 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาพลอยสีที่ปรับตัวสูงขึ้น

2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 892.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.95 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.60 จากการส่งออกเครื่องประดับแท้ ทำด้วยเงินและทำด้วยทองเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลักปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมี ดังนี้

2.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 398.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.20 และ 10.18 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา กลับฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น

2.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 440.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 13.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.87

3. เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 95.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 8.99 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.05 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกในตลาดส่งออกสำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์

4. อัญมณีสังเคราะห์ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 28.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 8.60 เนื่องจากคำสั่งซื้อลดลงในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย และออสเตรีย

5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 850.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.90 และ 5.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากการเพิ่มการถือครองทองคำในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน การนำเข้า

1. เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2558 (ตารางที่ 3) มีมูลค่าการนำเข้า 508.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 11.07 และ 8.55 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำเข้าพลอย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบลดลงตามดัชนีการผลิตที่ลดลง สำหรับการนำเข้าในภาพรวมมีมูลค่า 1,409.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 32.93 และ 49.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลงถึง ร้อยละ 59.48 และ 41.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ จากการคาดการณ์ว่าราคาทองคำในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงอีก โดยการนำเข้าประกอบด้วยวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่

1.1 เพชร ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 215.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาเพชรที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 15.10 เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตลดลง

1.2 พลอย ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 76.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 43.98 และ 15.82 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน

1.3 ทองคำ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 901.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 59.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง ร้อยละ 41.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปีก่อน

1.4 เงิน ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 144.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.65 และ 17.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตรองรับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ จีน และอินโดนีเซีย

1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 26.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 17.97 และ 28.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ตามดัชนีการผลิตที่ลดลง

2. เครื่องประดับอัญมณี ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 151.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 14.28 และ 1.24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 138.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 13.91 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.11 เนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิตาลี และฝรั่งเศส

2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 12.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 18.09 และ 13.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ประกอบกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินกลยุทธ์เร่งด่วนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรองรับฐานผู้บริโภคประมาณ 600 ล้านคนทั่วอาเซียน โดยจะดำเนินงาน 3 โครงการหลัก ได้แก่ (1) โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมรองรับ AEC การพัฒนาบุคลากร การปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงรุกสู่ตลาด AEC รวมทั้งนำผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจ และทดลองตลาดในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และอาเซียน+3 (2) โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โดยมุ่งผลักดัน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านกิจกรรมสำคัญ อาทิ การพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคและการจัดการ การพัฒนานักออกแบบ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่น การสร้างกลุ่มเครือข่ายย่านธุรกิจแฟชั่น และการเพิ่มประสิทธิภาพตลอดสายกระบวนการผลิต และ (3) โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 1,890 ราย/ปี

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2558 ภาคการผลิตและการจำหน่ายปรับตัวลดลง ร้อยละ 23.46 และ 13.76 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีช่วงวันหยุดยาวในเดือนเมษายน และผู้ประกอบการเน้นการระบายสต๊อกแทนการผลิตสินค้าใหม่บางรายการ

ด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 9.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกกลุ่มอัญมณี และเครื่องประดับแท้ลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.76 เนื่องจากมีการส่งออกพลอยและเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลง ร้อยละ 5.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.82 จากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.90

ด้านการนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 11.07 และ 8.55 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากการนำเข้าพลอย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบลดลงตามดัชนีการผลิตที่ลดลง สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมมีทิศทางลดลงเช่นกัน ร้อยละ 49.58 และ 32.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลงถึง ร้อยละ 59.48 จากการคาดการณ์ว่าราคาทองคำในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงอีก

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2558 คาดว่า จะขยายตัวได้ เพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลวันแม่ และผลิตทดแทนสต๊อกสินค้าเดิมที่นำออกจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา

แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2558 (ไม่รวมทองคำ ยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ราคาทองคำที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าไทยที่อาจทำให้การขยายตัวไม่เป็นไปตามที่ต้องการ สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม คาดว่า จะชะลอตัวตามทิศทางการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่มีแนวโน้มลดลง จากราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2558 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น พลอย ไข่มุก โลหะมีค่า และโลหะอื่น รวมถึงเครื่องประดับอัญมณี เพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงปลายปี สำหรับทองคำยังไม่ขึ้นรูป คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการนำเข้าทองคำเพื่อเก็งกำไรเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ