หากเปรียบเทียบภาพรวมปริมาณการผลิตกับช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 51.94 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าสู่ช่วงปลายฤดูกาลหีบอ้อย เพื่อผลิตน้ำตาล และผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อการผลิตแป้งมันสำปะหลังที่มีวัตถุดิบลดลง หากพิจารณาการผลิตที่ไม่รวมน้ำตาลลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยร้อยละ 2.10 เนื่องจากได้รับผลดีจากการผลิตไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูปปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัวและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคยังไม่ดีนัก ยังคงต้องเฝ้าระวังปัจจัยลบจากการที่สหภาพยุโรปออกประกาศเตือนและอยู่ระหว่างพิจารณาการลดระดับการค้าหรือระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากไทย เนื่องจากการทำประมงที่ผิดกฎระเบียบและการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งประเทศไทยต้องมีมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับการยกเลิกการให้สิทธิ์ GSP ที่ทำให้ระดับราคาสินค้าของไทยเพิ่มขึ้น ส่วนสหรัฐอเมริกา ต้องติดตามผลจากการคงระดับการค้ามนุษย์ในประเทศไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำสุด และการดำเนินการแก้ไขปัญหาของไทยที่จะเป็นตัวแปรในการพิจารณาการลดระดับทางการค้า ที่จะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบได้
ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.65 แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 51.94 เนื่องจากการผลิตน้ำตาลอยู่ปลายช่วงฤดูกาลหีบอ้อย แป้งมันสำปะหลังและผักผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่หากไม่รวมการผลิตน้ำตาลทราย การผลิตภาพรวมจะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.94 แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.10 (ตารางที่ 1) สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
กลุ่มแปรรูปประมง ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.09 เป็นผลจากโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งเริ่มแก้ไขและควบคุมได้ ทำให้ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตปลาทูน่ากระป๋องปรับลดลงจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้มีการนำเข้าปลาทูน่ามาสต็อกและผลิตลดลง ส่งผลต่อเนื่องไปยังการผลิตภาพรวมครึ่งแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.42
กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 15.72 และ 10.25 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการผลิต ประกอบกับการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยจากปัญหาไข้หวัดนกในหลายประเทศ และจากการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น และไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ทำให้ภาพรวมการผลิตครึ่งแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.49
กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัว ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 2.35 และ 40.56 ตามลำดับได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังเข้าสู่โรงงานแปรรูปลดลง การผลิตแป้งมันสำปะหลังลดลงไปกว่าครึ่ง แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาพรวมครึ่งแรกของปี 2558 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 2.03
กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 19.14 เป็นผลจากกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้และสับปะรดกระป๋อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสับปะรดที่เป็นช่วงฤดูกาลของวัตถุดิบออกสู่ตลาด แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 5.74 เป็นผลจากภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตลดลงและการลดพื้นที่ปลูกสับปะรด เพื่อนำพื้นที่ไปทำกิจกรรมอื่น ทำให้ภาพรวมการผลิตครึ่งแรกของปี 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.40
กลุ่มน้ำตาลทราย ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.19 แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 77.48 เนื่องจากการเข้าสู่ช่วงปลายฤดูกาลหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล แต่ในภาพรวมการผลิตครึ่งแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.76 เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อย ทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น
กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 0.3 และ 43.10 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้น จากราคาถั่วเหลืองตลาดโลกลดลง และผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองสามารถขายกากถั่วเหลืองไปยังอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้ แต่ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2558 การผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.67 ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลง สำหรับผลิตภัณฑ์นม การผลิตในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 7.77 และ 20.81 แต่ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2558 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.65 นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 การผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.11 เป็นผลจากการขยายตัวของการเลี้ยงไก่ ตามความต้องการบริโภคไก่ที่เพิ่มขึ้น แต่ปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.03 สำหรับภาพรวมการผลิตอาหารสัตว์ครึ่งแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.65
หากพิจารณาข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร การประกอบกิจการในช่วง ไตรมาส 2 ปี 2558 พบว่ามีโรงงานปิดกิจการเพิ่มเป็นจำนวน 19 โรง แบ่งเป็น โรงสีข้าว กิจการทำลูกชิ้นจากเนื้อสัตว์ และกิจการทำมันเส้น เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีการประกอบกิจการใหม่ จำนวน 83 โรง แบ่งเป็น ประเภทกิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง มันเส้น ผลิตอาหารสัตว์ และสกัดน้ำมันปาล์ม เป็นต้น โดยปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจำนวนทั้งสิ้น 8,477 โรง
การตลาดและการจำหน่าย
ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.51 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดมหกรรมช่วยผู้บริโภคในหลายหน่วยงานที่ลดราคาสินค้าอาหาร ทำให้ผู้บริโภคเพิ่มการจับจ่ายมากกว่าปีก่อน แต่เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 3.17 (ตารางที่ 2) เป็นผลจากการจำหน่ายลดลงจากสินค้ากลุ่มธัญพืชและแป้ง น้ำตาล สำหรับจำหน่ายครึ่งแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.14 จากการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นในประเทศของกลุ่มสินค้าประมง น้ำตาล อาหารสัตว์และปศุสัตว์ เนื่องจากปัญหาโรคระบาดในกุ้งคลี่คลายลง ประกอบกับความต้องการเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการเพาะเลี้ยงกลุ่มประมงและปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องความต้องการอาหารสัตว์เพิ่มตามมาด้วย
การค้าระหว่างประเทศ
ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 6,877.01 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.04 ผลมาจากการส่งออกในผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ และประมง หากเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.48 (ตารางที่ 3) เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลทราย และผักผลไม้ เพิ่มขึ้น โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้
กลุ่มประมง ช่วงไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,308.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 12.01 และ 1.37 ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงของปริมาณในเกือบทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลกระป๋อง แปรรูปและแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากการตัดสิทธิ์ GSP ทำให้ราคาสูงขึ้น และคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าลดลง และเป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาแม้จะเริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา แต่ยังคงประสบปัญหากำลังซื้อที่ยังเติบโตได้ไม่มากนัก ขณะที่ทูน่ากระป๋องมีความต้องการชะลอตัว จึงส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวมครึ่งแรกของปี 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.38
กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ ช่วงไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,062.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 1.81 และ 31.11 ตามลำดับ จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทั้งกลุ่ม โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.27 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องสู่ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.96
กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 759.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.14 และ 2.82 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ตามลำดับ เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปและไก่แช่เย็นแช่แข็งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากตลาดอาเซียน และญี่ปุ่น ส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวมครึ่งแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.80
กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช ช่วงไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออก รวม 2,558.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.63 และ 2.87 จากช่วงเดียวกันของ ปีก่อนและไตรมาสก่อน ตามลำดับ โดยเป็นการส่งออกมันสำปะหลังอัดเม็ดและมันเส้น และแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวมครึ่งแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.71
กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย ช่วงไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 737.61 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.76 จากไตรมาสก่อน แม้ว่าประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดีย และบราซิล กลับมาส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ราคาในตลาดโลกชะลอตัวลงจากปีก่อน แต่จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดจีน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 8.93 ซึ่งมูลค่าการส่งออกภาพรวมครึ่งแรกของปี 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.36
กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ช่วงไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 451.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.96 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 5.93 เป็นผลจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทนมและผลิตภัณฑ์นม ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ รวมถึงหมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสมด้วย แต่มูลค่าการส่งออกภาพรวมครึ่งแรกของปี 2558 ยังปรับตัวลดลงร้อยละ 17.23
ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้ารวม 3,015.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.98 แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.41 (ตารางที่ 4) โดยเป็นการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น คือ กากพืชน้ำมัน เนื่องจากความต้องการสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 9.93 เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน ขณะที่การนำเข้าอุตสาหกรรมอาหารครึ่งแรกของปี 2558 การนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 6.52 โดยเป็นการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมันและกากพืชน้ำมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่สินค้าอื่นที่เป็นวัตุดิบมีการนำเข้าลดลง เช่น ปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อบริโภค เช่น นมและผลิตภัณฑ์ มีการนำเข้าลดลงเล็กน้อย เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น
สรุปและแนวโน้ม
ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.65 จากการผลิตอุตสาหกรรมอาหารที่สำคัญ เช่น ปศุสัตว์ ประมง อาหารสัตว์ และน้ำตาล ส่วนมูลค่าการส่งออกปรับชะลอลงจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 1.04 โดยเฉพาะสินค้าประมง จากผลกระทบทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่ยังคงซบเซา และการตัดสิทธิ์ GSP ของสหภาพยุโรปทำให้ราคาสูงขึ้น นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ ปริมาณความต้องการสินค้าไก่แปรรูปจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากกรณีไข้หวัดนกของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ส่งผลต่อการส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งของไทยเพิ่มขึ้น สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้ามันสำปะหลังได้เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าจากจีนเป็นหลัก
แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2558 คาดว่า ในภาพรวม การผลิตจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0-5 จากปี 2557 จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น และการส่งออกจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ -2.5-2.5 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีการฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากความรุนแรงในยูเครนที่ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งของสหภาพยุโรปและรัสเซีย และการพิจารณาเพิ่มความเข้มงวดและปรับระดับการค้าของไทยจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการ
แก้ไขอย่างจริงจังเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีข่าวดีอยู่บ้างในการได้รับคืนสิทธิ์ GSP จากสหรัฐอเมริกา ที่จะทำให้มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐปรับตัวดีขึ้น สำหรับในประเทศ เศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางดีขึ้นจากการที่รัฐได้ประกาศมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ส่งผลต่อผู้บริโภคในประเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการบริโภคมากขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--