อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภาพรวมหดตัวลงเนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงไตรมาสนี้และสภาพเศรษฐกิจในประเทศยังทรงตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีส่งผลให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจึงลดลงตามในส่วนของการส่งออกปูนซีเมนต์ในภาพรวมปรับตัวลดลงเนื่องจากตลาดหลักในภูมิภาคอาเซียนหลายแห่งปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงอย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4โดยเฉพาะในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าไตรมาสที่ 3และจะสามารถช่วยให้มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นได้ในขณะที่ตลาดในประเทศน่าจะยังหดตัวต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี
การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.42 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.82 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 1.41 และ 0.47 ตามลำดับ สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณลดลงร้อยละ 5.57 และ3.63 ตามลำดับ ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์หดตัวลงจากภาวะการชะลอตัวของตลาดในประเทศประกอบกับภาคก่อสร้างของไทยยังไม่ขยายตัวทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องจากช่วงต้นปี
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 8.76 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.10 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 8.66 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 4.88 และ 4.26ตามลำดับ ถึงแม้ว่าโดยปกติช่วงไตรมาสที่ 3 ของทุกปีจะเป็นช่วงที่ตลาดปูนซีเมนต์ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวก็ตามแสดงให้เห็นว่าภาคก่อสร้างในประเทศยังไม่ฟื้นตัวจากสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีจากเดิมที่เคยคาดการณ์กันไว้ว่าปี2558 นี้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะขยายตัวได้อย่างน้อยร้อยละ 3 กลายเป็นนอกจากจะไม่ขยายตัวแล้วในภาพรวมทั้งปียังอาจปรับตัวลดลงอีกด้วย
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีปริมาณการส่งออกรวม 2.69 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 143.71ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ดจำนวน 0.76 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 29.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลงร้อยละ 22.44 และ 24.81 ตามลำดับ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.57 และ 3.14 ตามลำดับ ในส่วนของการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณ 1.93 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 113.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 16.45และ 18.14ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 4.92และ 6.57ตามลำดับ การส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในภาพรวมหดตัวลงเนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งเมียนมาร์ กัมพูชา บังคลาเทศ และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยลดลงโดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยในไตรมาสนี้ คือ เมียนมาร์ ตามด้วยกัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ
การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีปริมาณรวม 4,200.81 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 14.45 และ 22.91 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 15.77และ 29.85ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 42.61 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 4,158.20 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์ขาวชนิดพิเศษและอะลูมินัสซีเมนต์ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศมาเพื่อใช้งานและส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์เพื่อทดสอบคุณสมบัติเปรียบเทียบกับปูนซีเมนต์ที่ผลิตได้ในประเทศโดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยในไตรมาสนี้คือ เนเธอร์แลนด์ตามด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน อียิปต์ และโครเอเชียตามลำดับ
ราคาปูนซีเมนต์ในปี 2558 มีแนวโน้มทรงตัวเนื่องจากปูนซีเมนต์ถูกกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเมื่อปี 2552 หากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายต้องการจะปรับขึ้นราคาจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน ประกอบกับการมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์สูงกว่าความต้องการใช้ในประเทศอย่างต่อเนื่องน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ซ้ำยังต้องมีการวางแผนการส่งออกที่ดีเพื่อไม่ให้มีปริมาณปูนซีเมนต์คงค้างในสต็อกมากจนเกินไปอีกด้วย
รัฐบาลไม่มีมาตรการ/นโยบายเพื่อรองรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยตรงแต่มีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวได้
สรุปและแนวโน้ม
ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ปรับตัวลดลงทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถึงแม้ว่าไตรมาสที่ 3 ของทุกปีจะเป็นช่วงเร่งก่อสร้างหลังจากที่มีวันหยุดยาวซึ่งส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซา ทำให้ภาคเอกชนขาดความมั่นใจในการลงทุนส่งผลให้ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงและมีปริมาณการผลิตลดลงตาม
สำหรับปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3ของปี 2558 ปรับตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยทั้งเมียนมาร์กัมพูชา บังคลาเทศ และมาเลเซีย มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยลดลง
แนวโน้มการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 คาดว่าจะมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้นเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของทุกปี เป็นช่วงเร่งก่อสร้างก่อนที่จะเข้าสู่ปลายปีซึ่งเป็นช่วงที่แรงงานต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเกี่ยวข้าว ประกอบกับในช่วงไตรมาสที่ 3 มีฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ทำให้การก่อสร้างส่วนหนึ่งชะลอตัวลง จึงน่าจะมีการเร่งก่อสร้างเพื่อชดเชยส่วนของช่วงไตรมาสก่อนให้แล้วเสร็จด้วย
สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักของไทยโดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชาจะมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในประเทศรองรับการเปิด AEC เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในภูมิภาค
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--