สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส3ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเส้นใยสิ่งทอฯปรับตัวลดลงจากความต้องใช้ในประเทศเนื่องจากผู้ผลิตมีสต๊อกค่อนข้างมากในขณะที่การทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) ลดลง ทั้งในส่วนการผลิตและการจำหน่าย ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกหลักลดลง โดยเฉพาะจากเวียดนาม และจีน ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลัก สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่มการผลิตลดลงทั้งในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักและผ้าทอ อย่างไรก็ตามการจำหน่ายในประเทศยังขยายตัวได้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการส่งเสริมกลยุทธ์ทางการตลาดของภาคเอกชน
กลุ่มสิ่งทอ ไตรมาส 3ปี 2558เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯและการทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีการผลิตลดลงร้อยละ 6.50 และ 8.54ตามลำดับตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และการทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.08และ 2.62 ตามลำดับ ในส่วนการจำหน่ายเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการจำหน่ายลดลงร้อยละ2.23 และ 12.99 ตามลำดับซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากตลาดนำเข้าหลักเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืนจากไทยได้แก่ เวียดนามและ จีน ลดลงอย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาการจำหน่ายในประเทศยังขยายตัวได้ร้อยละ4.77 และ 0.40 ตามลำดับ
กลุ่มเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 3ปี 2558เมื่อพิจารณาจากการผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าถัก) ลดลงร้อยละ 3.59 และ 0.54เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับในส่วนการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.71 เป็นผลจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่นกิจกรรม Bike for Mom และการส่งเสริมยอดขายที่มีการกระตุ้นตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 6.26เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดคู่ค้าหลักลดลง ได้แก่สหภาพยุโรป และอาเซียน สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ยังขยายตัวได้
ในส่วนการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าทอ) ดัชนีผลผลิตและการจำหน่ายปรับตัวลดลง ร้อยละ 8.43 และ 3.35 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่หากเปรียบเทียบไตรมาสที่ผ่านมาดัชนีผลผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.81 และ 7.78 ตามลำดับส่วนใหญ่เป็นผลจากการกระตุ้นตลาดโดยการลดราคาตามห้างสรรพสินค้าและย่านการค้าต่าง ๆ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็น Sport hub เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางด้านกีฬาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในช่วงภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกที่ชะลอตัวในขณะนี้
หากพิจารณาข้อมูลโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การประกอบกิจการไตรมาส 3ปี 2558พบว่า มีโรงงานประกอบกิจการใหม่ จำนวน 21 โรงงาน กว่าร้อยละ 62เป็นโรงงานประกอบกิจการสิ่งทอ มีเงินลงทุนรวม 510.79 ล้านบาท และจ้างแรงงานรวม จำนวน 1,362คน นอกจากนี้มีโรงงานขอขยายกิจการ จำนวน 9 โรงงาน เป็นโรงงานประกอบกิจการย้อมสีเส้นใย ทอผ้า ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูปและผ้าใบ ประเภทละ 1 โรงงาน และโรงงานถักผ้า 4โรงงาน มีเงินทุนรวม 587.35 ล้านบาท สำหรับโรงงานที่ขอยกเลิกกิจการ จำนวน 45โรงงาน เป็นโรงงานประกอบกิจการเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวน 21 โรงงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 46.67ของโรงงานที่ขอยกเลิกกิจการ
การตลาด
การค้าระหว่างประเทศ
ไตรมาส 3ปี 2558อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าการส่งออก 1,733.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 8.81 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน(ตารางที่ 5) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดหลักได้แก่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียน และสหภาพยุโรป แต่หากเปรียบ เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การส่งออกทรงตัวสำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่
1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 1,072.08ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.32 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.64ในผลิตภัณฑ์ด้ายและเส้นใย เส้นใยประดิษฐ์ ตาข่ายจับปลา ผ้าคลุมไหล่ ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อ และสิ่งทออื่น ๆ โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.49 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้
1) ผ้าผืนและด้ายไตรมาส 3ปี 2558มีมูลค่าการส่งออก556.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 9.26เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนส่วนหนึ่งเป็นผลจากเวียดนามลดการนำเข้าเนื่องจากเวียดนามมีการพัฒนาการผลิตในส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำ เช่น ปั่นด้าย เพิ่มขึ้น จากการเข้าไปลงทุนของจีน และไต้หวัน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.64 โดยในส่วนของผ้าผืนมีมูลค่าการส่งออก 338.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯด้ายและเส้นใยมีมูลค่าการส่งออก 217.55ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าการส่งออกผ้าผืนและด้ายคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.86ของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสิ่งทอโดยมีประเทศบังคลาเทศ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่นและเมียนมาร์ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ
2) เคหะสิ่งทอ ไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 67.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 15.69 และ 3.55 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับเนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาอินเดีย ลดการนำเข้าจากไทยร้อยละ 45.79 และ 19.80 ตามลำดับ ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกเคหะสิ่งทอปรับลดลง โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาออสเตรเลียและอินเดีย
3) เส้นใยประดิษฐ์ไตรมาส 3ปี 2558มีมูลค่าการส่งออก 182.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 6.18เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ในไตรมาสนี้ผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลักทำให้สัดส่วนการส่งออกลดลง ประกอบกับตลาดหลัก เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และอินเดีย มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 26.12 8.92 14.98 และ 30.18 ตามลำดับ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.42 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย จีนเวียดนาม และปากีสถาน
4) สิ่งทออื่นๆไตรมาส 3ปี 2558มีมูลค่าการส่งออก 171.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 2.93 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.70โดยตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น จีนอินโดนีเซียและอินเดีย
2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 3 ปี 2558มีมูลค่าการส่งออก 661.49ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 9.60 และ 2.55เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.51ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ
1) เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 573.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.86 และ 3.07เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดคู่ค้าสำคัญได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย ใยประดิษฐ์ ไหม ขนสัตว์ และเสื้อผ้าเด็กอ่อน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในตลาดญี่ปุ่นอาเซียนสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 20.63 7.59 3.01และ 21.11 ตามลำดับตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
2) เครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบ มีมูลค่าการส่งออก 53.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 14.12 และ 5.09 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดคู่ค้าสำคัญได้แก่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ผรั่งเศส และออสเตรีย
ไตรมาส 3 ปี 2558มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่า 1,118.31ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.29และ 0.34เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 83.00 จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 926.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 9.03 และ 3.67เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับเนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลงทั้งด้ายเส้นใยและผ้าผืน ประกอบกับมีสินค้าคงคลังในสต๊อกจำนวนมากโดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 82.88 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้
1) เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่าการนำเข้า 192.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 18.53 และ 6.83 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่สหรัฐอเมริกาออสเตรเลียมาลีและ จีน
2) ด้ายทอผ้าและเส้นด้ายมีมูลค่าการนำเข้า 177.16ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 10.36และ0.24เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากราคาที่นำเข้าถูกกว่าที่ผลิตได้ในประเทศโดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม และอินโดนีเซีย
3) ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่าการนำเข้า 102.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ2.17และ 0.32 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับโดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีนญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกา เวียดนาม และเยอรมนี
4) ผ้าผืน มีมูลค่าการนำเข้า 410.12ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.04และ 3.63 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับส่วนหนึ่งมาจากการผลิตภายในลดลงมากและมีโรงงานทอผ้าปิดกิจการในไตรมาสนี้จำนวน 9โรงงานในขณะเดียวกันมีโรงงานขอขยายกิจการจำนวน 1 โรงงานซึ่งอาจต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีนไต้หวัน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
2. กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 191.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.72และ 19.67 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับซึ่งเป็นการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน อิตาลี เวียดนาม และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 17.12 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการศึกษาการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยกับระบบการผลิตการตลาดและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมแฟชั่นซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือมีข้อมูลเชิงลึก มีรูปแบบการพัฒนาระบบ แผนที่เครือข่าย (Cluster Mapping) เพื่อเชื่อมโยงคลัสเตอร์แฟชั่น (Fashion Cluster) กับระบบการผลิตการตลาด และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกและส่งเสริมการขยายตัวของภาคธุรกิจแฟชั่นไทยไปยังภูมิภาคได้อย่างมั่นคง
สรุปและแนวโน้ม
กลุ่มสิ่งทอการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอและการทอสิ่งทอ (ผ้าผืน)ไตรมาส 3ปี 2558เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 6.50และ8.54ตามลำดับ การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 2.23และ 12.99แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.08 และ 2.62ตามลำดับ การจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.77 และ 0.40 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในขยายตัว
กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถัก ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาส่วนการจำหน่ายเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่นกิจกรรม Bike for Mom และการส่งเสริมยอดขายที่มีการกระตุ้นตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาการผลิตและการจำหน่ายปรับตัวลดลงจากการส่งออกที่ปรับลดลงในประเทศคู่ค้าสำคัญได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน ในส่วนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอการผลิตและการจำหน่ายลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น จากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นตามมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ และการส่งเสริมยอดขายที่มีการกระตุ้นตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆสำหรับการส่งออกลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในตลาดคู่ค้าหลักและจากการถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ไตรมาส 4ปี 2558อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่า ทั้งภาคการผลิตและการจำหน่ายจะปรับตัวตามทิศทางตลาดในประเทศที่ดีขึ้นตามฤดูกาลประกอบกับผู้ประกอบการในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้มีการปรับตัวเพื่อยกระดับสู่ขั้นตอนการผลิตที่เพิ่มมูลค่าสูงขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าการส่งออก คาดว่า จะมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าอย่างไรก็ตามผู้ประกอบการบางส่วนมีการปรับตัวและพัฒนามูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อจูงใจลูกค้าต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตชุดกีฬาที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ดูดซับเหงื่อ Anti-bacteria เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สินค้าของไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดต่างประเทศส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คาดว่า จะมีแนวโน้มชะลอตัวตามความต้องการผลิตและการบริโภคที่ชะลอตัว ทั้งนี้ ในส่วนเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปแฟชั่น คาดว่า อาจขยายตัวตามความต้องการสินค้าแฟชั่นและความนิยมสินค้าหรูแบรด์ดังจากการนำเข้า
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--