การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนังไตรมาส 3 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมามีทิศทางที่ดีขึ้นในกลุ่มสินค้าสำเร็จรูปได้แก่ กระเป๋า และ รองเท้า เพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตเพื่อรองรับการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศในช่วงปลายปี
การผลิต
1. การฟอกและการตกแต่งหนังฟอกดัชนีผลผลิตไตรมาส 3 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 3.29 และ 1.49 ตามลำดับ เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงสอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 0.47 และ 0.24 ตามลำดับ จากกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในที่ชะลอตัวประกอบกับการส่งออกในตลาดหลักยังขยายตัวไม่มากนักจึงลดการผลิตลงทำให้ระดับสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงร้อยละ 3.36 และ 2.56 ตามลำดับซึ่งเป็นผลจากการจำหน่ายสินค้าในสต๊อกทดแทน
2. การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลากดัชนีผลผลิตไตรมาส 3 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 9.22 เป็นผลให้ดัชนีการส่งสินค้า และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ลดลง ร้อยละ 10.86 และ 2.25 ตามลำดับ จากกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในที่ชะลอตัวประกอบกับการส่งออกในตลาดหลักยังขยายตัวไม่มากนักจึงลดการผลิตลง แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.29 สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้า และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.30 และ 18.56 ตามลำดับ เนื่องจากบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากรายได้ และความเชื่อมั่นการบริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
3. การผลิตรองเท้าดัชนีผลผลิตไตรมาส 3 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 14.73 ส่วนหนึ่งมาจากฐานการผลิตที่สูงเมื่อปีก่อนเพราะเร่งการผลิตและส่งออกสินค้าที่ให้ทันก่อนการตัดสิทธิ์ GSP ในปี 2558 อีกทั้งการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงสอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าและดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ลดลง ร้อยละ 5.02 และ 5.13 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.10 สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.52 เนื่องจากเป็นฤดูกาลของการผลิตเพื่อรองรับการจำหน่ายสินค้าทั้งภายในและต่างประเทศที่จะมีมากขึ้นในช่วงปลายปีและต้นปีหน้า ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 4.52 ไตรมาส 3 ปี 2558 มีโรงงานตั้ง/ประกอบกิจการฟอกหนังและหนังแต่งสำเร็จ จำนวน 6 แห่ง โรงงานผลิตรองเท้าและชิ้นส่วน จำนวน 2 แห่ง โรงงานผลิตกระเป๋า จำนวน 1 แห่ง และมีการขอขยายกิจการโรงงานผลิตหนังสัตว์และหนังเทียม จำนวน 6 แห่ง แสดงให้เห็นถึงความต้องการวัตถุดิบสำหรับผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีแนวโน้มขยายตัวโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรองเท้าและชิ้นส่วนอย่างไรก็ตาม มีโรงงานขอยกเลิกกิจการ แบ่งเป็น โรงงานผลิตรองเท้า จำนวน 2 แห่ง และโรงงานฟอกหนังและตกแต่ง จำนวน 3 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจภายในที่ยังคงชะลอตัว ส่งผลต่อภาคการผลิตและความต้องการบริโภคสินค้าที่ลดลง
การตลาดและการจำหน่าย
การค้าระหว่างประเทศ
ไตรมาส 3 ปี 2558 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 432.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 7.61 และ 8.11 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกหนังโคกระบือฟอก เครื่องใช้สำหรับเดินทางและรองเท้าและชิ้นส่วน ไปประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลดลง ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้
1. หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 181.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 4.41 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก ถุงมือหนัง และเครื่องแต่งกายและเข็มขัด ปรับตัวลดลง ร้อยละ 25.40 2.39 และ 39.08 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ต้องการสินค้าจากไทยเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำไปยังตลาดอื่นชะลอตัวลงต่อเนื่องสำหรับผลิตภัณฑ์ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง และหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.10 และ 1.30 ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ปรับตัวลดลง ร้อยละ 11.57 ตามความต้องการของจีน และกลุ่มประเทศอาเซียนที่ลดลง โดยเฉพาะการส่งออกหนังโคกระบือฟอก ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ถุงมือหนัง หนังและผลิตภัณฑ์หนัง อื่น ๆ มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 22.53 7.14 16.89 และ 8.14 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเข็มขัด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 40.99 โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ได้แก่ เวียดนาม ฮ่องกง และจีน มีสัดส่วน ร้อยละ 21.19 15.37 และ 14.35 ตามลำดับ
สหรัฐฯ2. เครื่องใช้สำหรับเดินทางไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 80.56 ล้านเหรียญ ลดลง ร้อยละ 7.29 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกทุกผลิตภัณฑ์มีมูลค่าลดลง ได้แก่ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่นๆ ร้อยละ 1.65 14.95 7.17 และ 5.54 ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทางปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.32 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.26 และ 2.35 ตามลำดับ สำหรับกระเป๋าเดินทาง และ กระเป๋าถือ ลดลง ร้อยละ 4.90 และ 2.20 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วน ร้อยละ 31.03 11.11 และ 8.02 ตามลำดับ
3. รองเท้าและชิ้นส่วนไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 170.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 10.93 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกในกลุ่มรองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง และ ส่วนประกอบรองเท้า ลดลง ร้อยละ 6.51 25.78 14.60 และ 4.79 ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย สำหรับผลิตภัณฑ์รองเท้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.58
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 9.44 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง และ รองเท้าอื่น ๆ ลดลง ร้อยละ 26.05 2.62 และ 17.05 ตามลำดับ สำหรับรองเท้ากีฬา และส่วนประกอบของรองเท้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.24 และ 26.75 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเดนมาร์ก มีสัดส่วน ร้อยละ 15.12 8.81 และ 8.60 ตามลำดับ
ไตรมาส 3 ปี 2558 อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้ามีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 367.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 5.26 แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.10 ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้
1. หนังดิบและหนังฟอกไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 177.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 13.46 ตามภาวะการผลิตที่ลดลงจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลง แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.92 เพื่อเตรียมผลิตสินค้าสำเร็จรูปรองรับการจำหน่ายในช่วงปลายปีและปีใหม่ โดยแหล่งนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และบราซิล มีสัดส่วน ร้อยละ 13.58 12.73 และ 11.59 ตามลำดับ
2. กระเป๋าไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 98.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.62 และ 14.72 ตามลำดับส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทแข็งค่า จูงใจให้มีการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปราคาถูกจากจีนและแบนด์เนมเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน อิตาลี และฝรั่งเศส มีสัดส่วน ร้อยละ 47.81 13.75 และ 13.64 ตามลำดับ
3. รองเท้าไตรมาส 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 91.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.43 และ 9.87 ตามลำดับ โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอิตาลี มีสัดส่วน ร้อยละ 47.13 17.25 และ 9.65 ตามลำดับ
1. นโยบายการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวทั้งกลยุทธ์ด้านการผลิตและการตลาดเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่องการขยายหรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง และอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่ออาศัยฐานแรงงานที่มีต้นทุนถูกกว่า
2. นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน GDP ของ SMEs ที่ปัจจุบันมีจำนวน 2.724 ล้านราย จากร้อยละ 37 เป็น ร้อยละ 40 ใน 10 ปีข้างหน้า และเตรียมความพร้อมให้ SMEs พร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ผ่านแผนงานสำคัญ ได้แก่ ส่งเสริม SMEs ไทยให้ก้าวสู่การเป็น Supply Chain ของอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาธุรกิจรวม 600 กิจการ ผู้ประกอบการ 12,000 คน และพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยงบประมาณ 157 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะได้รับการส่งเสริม
สรุปและแนวโน้ม
การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 3 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และการผลิตรองเท้า ปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศลดลงตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประกอบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการผลิตสินค้าปลายน้ำเช่น เบาะรถยนต์ ชะลอตัวตามยอดจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโครงการรถยนต์คันแรก และหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงอีกทั้งฐานการผลิตที่สูงเมื่อปีก่อนเพราะเร่งการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทรองเท้าและกระเป๋าให้ทันก่อนการถูกตัดสิทธิ์ GSP ในปี 2558 และการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การผลิตสินค้าในกลุ่มสินค้าสำเร็จรูปได้แก่ กระเป๋า และรองเท้า เพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตเพื่อรองรับการจำหน่ายในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี
การส่งออก ไตรมาส 3 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงทุกผลิตภัณฑ์ ได้แก่ หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้าและชิ้นส่วน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
การนำเข้า ไตรมาส 3 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หนังดิบและหนังฟอก มีมูลค่าการนำเข้าลดลงตามความต้องการผลิตที่ปรับตัวลดลง ขณะที่กลุ่มสินค้าสำเร็จรูป ได้แก่ กระเป๋า และรองเท้า มีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคสินค้าหรูที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบเพื่อเตรียมผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปรองรับการจำหน่ายในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี
แนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2558 คาดว่า การผลิตและการส่งออกรองเท้า จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากช่วงปลายปีตามปกติจะมีปริมาณการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก อีกทั้งสินค้าผลิตภัณฑ์หนังของไทย ยังเป็นที่ต้องการของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และจีน โดยคาดว่า หากจำนวนนักท่องเที่ยวในปลายปีเพิ่มสูงขึ้นประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการวางกลยุทธ์ทางการตลาดของแบรนด์สินค้าแฟชั่นต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย อาจทำให้เครื่องหนังจำพวกกระเป๋าและรองเท้ามียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นสำหรับการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด คาดว่า จะสามารถขยายตัวได้จากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้แก่ ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ และหากภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจะส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นเกิดความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภคมากยิ่งขึ้น สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกและการอ่อนตัวของค่าเงินบาท อาจทำให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มรองเท้าและเครื่องหนังไปตลาดหลักได้แก่สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ขยายตัวได้
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--