สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2558 (กรกฎาคม - กันยายน 2558)(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2015 14:15 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปริมาณการ ผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.92 หากไม่รวมการผลิตน้ำตาลเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.52 สำหรับภาพรวมการผลิตของ 9 เดือนแรกของปี 2558 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.04 หากไม่รวมการผลิตน้ำตาล ภาพรวมการผลิตของ 9 เดือนแรกปี 2558 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.25 เนื่องจากกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มปศุสัตว์และอาหารสัตว์

หากเปรียบเทียบภาพรวมปริมาณการผลิตกับช่วงไตรมาสก่อน พบว่า ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 19.13 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอยู่นอกฤดูกาลหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อการผลิตสับปะรดกระป๋องและน้ำผลไม้กระป๋องเนื่องจากวัตถุดิบลดลง หากพิจารณาการผลิตที่ไม่รวมน้ำตาลลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.02 เนื่องจากได้รับผลดีจากการผลิตอาหารสัตว์ปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัวและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคยังไม่ดีนัก ยังคงต้องเฝ้าระวังปัจจัยลบ จากการยกเลิกการให้สิทธิ์ GSP ที่ทำให้ระดับราคาสินค้าของไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่ สหภาพยุโรปออกประกาศเตือนและอยู่ระหว่างพิจารณาการลดระดับการค้าหรือระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากไทยเนื่องจากการทำประมงที่ผิดกฎระเบียบและการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงซึ่งประเทศไทยต้องมีมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจนมากขึ้นจึงต้องติดตามผลจากการคงระดับการค้ามนุษย์ในประเทศไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำสุดและการดำเนินการแก้ไขปัญหาของไทยที่จะเป็นตัวแปรในการพิจารณาการลดระดับทางการค้าที่จะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบได้

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.92 เนื่องจากการผลิตสินค้าน้ำตาล ปศุสัตว์ นม และอาหารสัตว์ แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน 19.13 ตามลำดับ เนื่องจากการผลิตสินค้าน้ำตาลอยู่นอกฤดูกาลหีบอ้อย กลุ่มปศุสัตว์ และกลุ่มผักผลไม้ผักผลไม้ ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภัยแล้ง นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดน้อยที่สุด ผู้ผลิตสับปะรดจึงปิดซ่อมบำรุงโรงงาน ทำให้ ผลผลิตลดลง กลุ่มน้ำมันพืชเป็นผลจากสต็อกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น และกลุ่มประมง เช่น ทูน่ากระป๋อง เป็นผลจากการขาดแคลนวัตถุดิบ สำหรับการผลิตช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ปรับตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.04 สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.32 เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการผลิตประกอบกับการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นของประเทศญี่ปุ่นแต่เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 18.32 สำหรับภาพรวมการผลิต 9 เดือนแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.77

กลุ่มแปรรูปประมงช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 9.93 และ 4.74 ตามลำดับ เป็นผลจากการขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับการผลิตทูน่ากระป๋อง เนื่องการยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย การปรับขึ้นภาษีหลังจากถูกตัด GSP และผลจากการประกาศแจ้งเตือนการทำประมงของไทยเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป และคำสั่งซื้อจากประเทศนำเข้าลดลง สำหรับการผลิตภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.86

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 15.52 และ 32.41 ตามลำดับเป็นผลจากกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลง และสับปะรดกระป๋อง อยู่ในช่วงที่ผู้ผลิตปิดปรับปรุงโรงงาน เนื่องจากผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดน้อยที่สุด รวมถึง การลดพื้นที่ปลูกสับปะรด เพื่อนำพื้นที่ไปทำกิจกรรมอื่น ทำให้ผลผลิตลดลง ส่งผลต่อภาพรวม การผลิต 9 เดือนแรกของปี 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.71

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้งช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.58 เป็นผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ปริมาณมันสำปะหลังเข้าสู่โรงงานแปรรูปลดลง การผลิตแป้งมันสำปะหลังและการผลิตมันเส้นลดลง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.90 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวของมันสำปะหลัง สำหรับภาพรวมการผลิต 9 เดือนแรกของปี 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.52

กลุ่มน้ำตาลทราย ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43.26 เนื่องจากการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อยแทนการปลูกข้าว ทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 61.69 เนื่องจากการอยู่นอกฤดูกาลหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล สำหรับภาพรวมการผลิต 9 เดือนแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.19

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศได้แก่น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.27 ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้น จากราคาถั่วเหลืองตลาดโลกลดลง และผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองสามารถขายกากถั่วเหลืองไปยังอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้ แต่ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2558 การผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.12 จากปริมาณน้ำมันปาล์มในตลาดมีมาก ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลง สำหรับผลิตภัณฑ์นม การผลิตในช่วงไตรมาสที่ 3ปี 2558 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 11.99 และ 3.45 เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นแต่ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2558 การผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.46 นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 การผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 7.04 และ 12.46 ตามลำดับ เป็นผลจากการขยายตัวของการเลี้ยงไก่ ตามความต้องการบริโภคไก่ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2558 การผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.34

หากพิจารณาข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร การประกอบกิจการในช่วง ไตรมาส 3 ปี 2558 พบว่ามีโรงงานปิดกิจการเพิ่มเป็นจำนวน 66 โรง แบ่งเป็น โรงสีข้าวกิจการทำมันเส้น กิจการอบเมล็ดพืช กิจการทำน้ำปลา เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีการประกอบกิจการใหม่ จำนวน 190 โรง แบ่งเป็น ประเภท โรงสีข้าว กิจการอบผลิตผลทางการเกษตร กิจการทำมันเส้น ผลิตอาหารสัตว์ กิจการทำน้ำแข็ง กิจการเครื่องดื่ม และกิจการอาหารเสริมสุขภาพ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจำนวนทั้งสิ้น 8,601 โรง

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.44 แต่เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 4.46 (ตารางที่ 2) เป็นผลจากการจำหน่ายลดลงจากสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ น้ำตาล น้ำมันพืช และธัญพืชและแป้ง สำหรับการจำหน่าย 9 เดือนแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.08 จากการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นในประเทศของกลุ่มสินค้าประมง น้ำตาล ประกอบกับความต้องการเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการเลี้ยงปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการอาหารสัตว์เพิ่มตามมาด้วย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2558 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารมีมูลค่ารวม 6,487.93 ล้านเหรียญสหรัฐโดยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 10.86 และ 5.66 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกลดลงในกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืช ประมง และผักผลไม้ สำหรับภาพรวมมูลค่าการส่งออก 9 เดือนแรกของปี 2558 มีมูลค่ารวม 19,704.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.91 จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ประมงอาหารอื่นๆ และผลิตภัณฑ์กลุ่มข้าวและธัญพืช โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญสรุปได้ ดังนี้

กลุ่มประมง ช่วงไตรมาสที่ 3 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,391.62 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.90 โดยเป็นการลดลงของปริมาณในเกือบทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแปรรูป เนื่องจากทูน่ากระป๋องมีความต้องการชะลอตัว ผนวกกับขาดแคลนวัตถุดิบ ผลจากการยกเลิกสัมปทานประมงของประเทศอินโดนีเซีย ระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP และการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป แต่หากเทียบมูลค่า การส่งออกกับไตรมาสที่ 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.39 เนื่องจากกุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปได้รับคืนสิทธิ์ GSP ในกลุ่มอาหารแปรรูป จากสหรัฐอเมริกา สำหรับการส่งออกภาพรวมใน 9 เดือนแรกของปี 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.27

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 3 มีมูลค่าการส่งออกรวม 754.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.55 จากการคำสั่งซื้อไก่แปรรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นของประเทศญี่ปุ่นที่เติบโตเพียงตลาดเดียว เป็นผลจากประเทศญี่ปุ่นชะลอการนำเข้าจากประเทศจีน เนื่องด้วยปัญหาเรื่อง Food Safety และนำเข้าไก่เนื้อของไทยเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 0.63 เนื่องจากราคาส่งออกปรับชะลอตัวลง สำหรับภาพรวมการส่งออกภาพรวมใน 9 เดือนแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.38

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ช่วงไตรมาสที่ 3 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,000.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 1.71และ 5.85 ตามลำดับ จากการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เช่น ลำใยสดและแห้ง มังคุดสด กลุ่มผักกระป๋องและแปรรูป เช่น ข้าวโพดหวานกระป๋องและแปรรูป รวมถึงสับปะรดกระป๋อง ซึ่งล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและราคาสินค้าชะลอตัว สำหรับการส่งออกภาพรวมใน 9 เดือนแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.65 เนื่องจากการส่งออกน้ำผลไม้ และผลไม้แปรรูป

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช ช่วงไตรมาสที่ 3 มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,086.17 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 22.60 และ 18.45 ตามลำดับ เป็นผลจาก มันเส้น สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง เด๊กตรินและโมดิไฟด์สตาร์ชอื่นๆ แป้งข้าวเหนียว และขนมปังกรอบ ส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวมใน 9 เดือนแรกของปี 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.67 เนื่องจากของประเทศผู้นำเข้า ปรับชะลอตัวลง และระดับราคาสินค้าปรับชะลอตัวตามราคาน้ำมัน

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย ช่วงไตรมาสที่ 3 มีมูลค่าการส่งออกรวม 788.89 ล้านเหรียญสหรัฐปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 13.00 และ 6.95 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อของกลุ่มประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นหลัก และราคาขายล่วงหน้าตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่งผลต่อภาพรวมการส่งออกภาพรวมใน 9 เดือนแรกของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.56

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ช่วงไตรมาสที่ 3 มีมูลค่าการส่งออกรวม 466.09 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.07 เป็นผลจากซอสพริก น้ำมันปาล์ม แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.34 เป็นผลจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้า ซุปและอาหารปรุงแต่ง และโกโก้และของปรุงแต่ง สำหรับภาพรวมการส่งออกภาพรวมใน 9 เดือนแรกของปี 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.81 จากกลุ่มสินค้าน้ำมันปาล์ม ราคาปรับชะลอตัวลง เนื่องจากสต็อกน้ำมันปาล์มดิบโลกเพิ่มขึ้น

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้ารวม 3,308.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 12.05 และ 9.7 ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น คือ เมล็ดพืชน้ำมัน เนื่องจากความต้องการสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 6.72 เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน ขณะที่การนำเข้าอุตสาหกรรมอาหารใน 9 เดือนแรกของปี 2558 การนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.41 โดยเป็นการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมัน ในขณะที่สินค้าอื่นที่เป็นวัตุดิบมีการนำเข้าลดลง เช่น ปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนการนำเข้าสินค้า

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ